svasdssvasds

Climate Talk: ผลโลกร้อน - เอลนีโญ ถึงเวลาข้าวยากหมากแพง

Climate Talk: ผลโลกร้อน - เอลนีโญ ถึงเวลาข้าวยากหมากแพง

ผลกระทบสภาวะโลกร้อน ผสมโรงเอลนีโญ กำลังทำให้ข้าวยากหมากแพง เรามาดูกัน ว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้โลกขาดอาหารและหิวโหยขึ้นเรื่อยๆ

สังเกตไหมว่าช่วงนี้ราคาอาหารแพงขึ้นเรื่อยๆ ข้าวแกงจานละ 50 บาท ที่สมัยก่อนถือว่าแพงหูฉี่ กลายเป็นราคาตลาดที่แทบจะเรียกได้ว่าราคานี้ถูกแล้วในกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงแต่อาหารที่ราคาแพงขึ้นเท่านั้น สินค้าอาหารบางอย่างก็หาได้ยากขึ้น หรือหาไม่ได้อีกแล้วก็มี

ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องสงครามในยูเครน ที่ทำให้ราคาแป้งสาลีพุ่งทะลุฟ้า ราคาค่าขนส่งที่แพงขึ้นทำให้อาหารนำเข้าราคาสูงตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารแพงเฉียดฟ้า นั่นก็คือสภาพฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ สภาวะโลกร้อนที่เร่งกำลังแรงขึ้น และความแห้งแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่กัดกินไปทั่วทุกเขตแดน

 

โลกร้อนกับอาหาร

เรามาทำความเข้าใจกันกับเรื่องผลกระทบสภาวะโลกร้อนกับการผลิตอาหารกันก่อนดีกว่า สภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารในสองแง่มุมใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นก็คือ

1. อากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพืช และการออกผลผลิต

2. ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากพายุ ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย

อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่แห้งขอดจากภัยแล้งในปี 2563

เราค่อยๆ มาทำความเข้าใจผลกระทบโลกร้อนต่อการผลิตอาหารในทีละประเด็นกันดีกว่า โดยเริ่มที่ประเด็นแรก อากาศร้อนกับผลผลิตการเกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยว่า ภูมิภาคเอเชียใต้ อันได้แก่ ประเทศอินเดียและปากีสถาน กำลังประสบปัญหาหนักจากพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างจังจากคลื่นความร้อนรุนแรง อุณหภูมิสูงถึงกว่า 50 องศาเซลเซียส ทำให้พืชผลเหี่ยวแห้งตายคาไร่นา นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า อากาศร้อนรุนแรงไม่แพงแต่กระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่มนุษย์ แต่ลามรวมไปถึงความมั่นคงทางอาหารด้วย

ผลพวงจากผลผลิตการเกษตรที่ลดลงจากสภาพอากาศร้อนจัด และภัยพิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากสภาพอากาศวิปริตอื่นๆ ยังมีผลสืบเนื่องมาถึงในปีนี้ เมื่ออินเดียประกาศงดส่งออกข้าว จนทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Verisk Maplecroft ยังเผยว่า ภายในปี 2588 กว่าสามในสี่ของพืชผลการเกษตรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัด จนพืชผลเสียหาย หรือได้ผลผลิตลดลง

ไม่เพียงแต่อากาศร้อนจัดจะทำลายผลผลิตให้เหี่ยวเฉาคานาแล้ว อากาศที่ร้อนขึ้นยังหมายถึงอาหารบางอย่างที่เราอาจไม่มีโอกาสได้กินอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่ค่อมแม่กลอง

ลิ้นจี่สายพันธุ์ค่อม ถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อประจำจังหวัดสมุทรสงคราม มีความโดดเด่นที่ลิ้นจี่จากที่ไหนๆ ก็หาที่เปรียบเหมือนไม่ เนื่องด้วยสถานที่เพาะปลูกในเขต อ.อัมพวา และ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ที่เป็นที่ราบดินตะกอนแม่น้ำสมบูรณ์และได้รับอิทธิพลความเค็มจากทะเลอย่างพอเหมาะพอดี จนทำให้ลิ้นจี่แม่กลองมีรสหวานอันเป็นเอกลักษณ์

ลิ้นจี่แม่กลอง ผลไม้ที่อนาคตอาจหากินไม่ได้อีกต่อไป  ที่มาภาพ: วิศรุต แสนคำ

อย่างไรก็ตาม ลิ้นจี่ค่อมแม่กลองจำเป็นจะต้องได้รับอากาศเย็นต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียสเป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน ในช่วงออกดอกในฤดูหนาว ซึ่งถ้าหากอากาศเย็นไม่พอ หรือว่าเย็นไม่ติดต่อกัน 15 วัน ลิ้นจี่ก็จะไม่ออกดอก

ในอดีต เกณฑ์อุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ถือเป็นเกณฑ์อากาศปกติที่ จ.สมุทรสงคราม จะได้รับในช่วงฤดูหนาวอยู่แล้ว ยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่สวนรกครึ้ม อากาศก็จะยิ่งเย็นกว่าในเมือง ดังนั้นลิ้นจี่แม่กลองจึงออกผลมาให้ได้ผู้คนได้ลิ้มลองรสในทุกๆ ปี

หากแต่ในปัจจุบัน ในยุคที่สภาพภูมิอากาศโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เกณฑ์ภูมิอากาศนี้กลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเกิดขึ้น เนื่องด้วยอากาศหน้าหนาวที่อุ่นขึ้นๆ ทุกปี ทำให้บางปีลิ้นจี่ไม่ออกดอก และไม่มีผลผลิตเลยทั้งปี โดยจากการสอบถามพูดคุยกับเจ้าของสวนลิ้นจี่พบว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2560 เป็นต้นมา มีเพียงปี 2561, 2564, และปีนี้ 2566 ที่ลิ้นจี่แม่กลองออกผลผลิต

จากแนวโน้มอุณหภูมิโลกและอุณหภูมิท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าสุดท้ายลิ้นจี่แม่กลองจะเหลือแต่เพียงชื่อ เมื่ออากาศร้อนจนเกินขีดจำกัดที่ลิ้นจี่จะออกผลได้

 

ภัยพิบัติทำโลกหิว

ไม่เพียงแต่อากาศที่ร้อนขึ้นจะทำให้ความมั่นคงทางอาหารของโลกลดลงแล้ว ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากสภาวะโลกร้อน ยังทำลายแหล่งอาหารของโลกเช่นกัน

ไม่ต้องไปมองที่ไหนไกล เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้พื้นที่เกษตรกว่า 11.2 ล้านไร่ใน 65 จังหวัดทั่วประเทศได้รับความเสียหายต้องจมอยู่ใต้น้ำท่วมสูงนานนับเดือน ทำลายบ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย 231,919 ไร่ และกระทบปศุสัตว์กว่า 13.41 ล้านตัว

น้ำท่วมทุ่งบางบาล จ.พิษณุโลก ทำให้พื้นที่นาข้าวจำนวนมากจมอยู่ใต้น้ำ

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา นายประยูร อินสกุล รักษาการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อุทกภัยจากสถานการณ์ฝนตกชุกสะสม และพายุดีเปรสชันโนรู นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรใน 56 จังหวัด เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ 531,703 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2.9 ล้านไร่ พืชไร่และพืชผัก 1.4 ล้านไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 40,604 ไร่

ไม่เพียงแต่น้ำท่วมจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อการเกษตร แต่ภัยแล้งก็ส่งผลกระทบหนักไม่แพ้กัน โดยภัยแล้งในปี 2562 – 2563 ซึ่งเป็นปีเอลนีโญรุนแรงเช่นเดียวกับปีนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำชลประทานและอากาศร้อนแล้งได้ทำลายพื้นที่เกษตรไปกว่า 1.27 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1.2 แสนราย พื้นที่เสียหายแบ่งเป็น ข้าว 1.11 ล้านไร่ พืชไร่ 1.59 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 778 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1.42 พันล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ด้วยสภาวะภูมิอากาศโลกที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้ง จะยิ่งเกิดบ่อยและเกิดรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตอาหารไม่เพียงแต่ในไทยแต่ทั่วทั้งโลก โดยรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่า ภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวนจะทำให้คนหลายล้านคนทั่วโลกประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหาร และจะยิ่งซ้ำเติมให้โลกยิ่งหิวโหยยิ่งขึ้น

นาข้าวถูกน้ำท่วม จนชาวนาต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนจะเสียหายหนัก

ด้วยเหตุนี้ การปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร และการผลิตอาหาร จึงสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการรักษาสายพันธุ์พืชผลท้องถิ่นที่สามารถต้านทานความแปรปรวนด้านภูมิอากาศได้มากกว่า เช่น การหันมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่สามารถยืดตัวตามระดับน้ำท่วมได้ เป็นต้น รวมไปถึงการปรับปรุงระบบชลประทานที่เน้นไปยังชลประทานขนาดเล็กในพื้นที่ไร่นา ซึ่งสามารถช่วยกักเก็บน้ำป้องกันน้ำท่วมในช่วงหน้าน้ำ และสำรองน้ำสำหรับเพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง

เช่นเดียวกับการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรให้สมบูรณ์ เพราะการมีระบบนิเวศที่แข็งแรงคอยคุ้มกัน จะช่วยลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนได้มาก นอกจากนี้บริการด้านนิเวศ (ecological service) จะยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี

เนื่องจากผลกระทบโลกร้อนเกี่ยวเนื่องถึงปากท้องคนนับล้านในอนาคต การเตรียมตัวรับมือภัยโลกร้อนในภาคเกษตรจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรหันมาใส่ใจ เพราะสุดท้ายเราทุกคนต้องการอาหารในการดำรงชีวิตในทุกๆ วัน

related