svasdssvasds

สรุปสถานการณ์ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

สรุปสถานการณ์ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

ธนาคารโลกได้จัดทำรายงาน ‘State and Trend of Carbon Price 2023’ เพื่อใช้สำหรับการสรุปผลการดำเนินนโยบายกลไกราคาคาร์บอนทั่วโลก ในช่วงปี 2022 – 2023 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่สำคัญอย่างมาก ในการช่วยผลักดันสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Ecocomy)

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังครอบคลุมถึงนโยบายกลไกราคาคาร์บอนด้วยเช่น ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Scheme: ETS) ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และกลไกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit mechanism)

โดยเครื่องมือเหล่านี้ สามารถสร้างแรงจูงใจทางการเงินโดยตรง ซึ่งเชื่อมโยงกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายกลไกราคาคาร์บอนทางอ้อมเช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง และการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยมูลค่าของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นี่จึงทำให้กลไกราคาคาร์บอนแบบทางอ้อม ยังคงแพร่หลายและมีขนาดใหญ่กว่ากลไกราคาคาร์บอนแบบทางตรง

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลไกราคาคาร์บอนแบบทางตรงจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีมูลค่าน้อยกว่านโยบายทางอ้อมอยู่มาก

ในปี 2022 ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาษีคาร์บอน สามารถสร้างรายได้กว่า 95 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ปี 2023 พบว่า มีทั้งหมด 73 รัฐและประเทศทั่วโลก ที่ดำเนินการกลไกราคาคาร์บอนด้วยระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาษีคาร์บอน ซึ่งสามารถครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 23% หรือราว 11.66 กะกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2eq)

 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2023 อัตราการเติบโตของราคาระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเริ่มชะลอตัวลง หลังจากที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการเผชิญกับสถานการณ์ทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันอย่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา

แต่อย่างไรก็ตาม ราคาสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Allowance ก็ยังทรงตัวอยู่ได้แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาและความท้ามากมาย มีเพียงไม่เกิน 15% เท่านั้น ที่ราคาพุ่งสูงขึ้น

โดยเฉพาะระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU ETS) โดยระบบดังกล่าวของสหภาพยุโรปราคาพุ่งไปเกินกว่า 100 ยูโร เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023

ขณะเดียวกัน ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ 2 ประเทศในเอเชียกลับปรับตัวลดลงเช่น ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea ETS)

และระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China National ETS) ที่ราคาของ Allowance ปรับตัวลดลงกว่า 35% หรือต่ำกว่า 10 เหรียญสหรัฐต่อ tCO2eq

กราฟแสดงระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ

หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ตอบหาวิธีรับมือจากแรงกดดันจากวิกฤตพลังงานผ่านการปรับลดราคา หรือชะลอตัวการขึ้นราคาของราคาคาร์บอนออกไปก่อนเช่น เยอรมัน แอฟริกาใต้ สวีเดน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงดำเนินนโยบายต่อไปเพื่อต้องการบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศอย่างเคร่งคัด

ยกตัวอย่างเช่น ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ แคนนาดา ที่มีการปรับอัตราภาษีคาร์บอนขึ้น หรือนิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ที่ปรับลดการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free allowance)

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการในการซื้อระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐานของการดำเนินระบบ ETS รวมไปถึงการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับระบบการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ต้องศึกษาก่อนว่า มีกฎหมายอะไรบ้างที่ ETS บังคับใช้ และศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนนำไปกำหนดเป็นกรอบกฎหมายภายใต้ (ร่าง) พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ราคาคาร์บอน และกลไกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในเชิงภาคบังคับต่อไป

ที่มา: ICAP

        Worldbank

เนื้อหาที่น่าสนใจ

 

related