svasdssvasds

ค้นพบ รอยตีนไดโนเสาร์กินพืชแห่งใหม่ในเพชรบูรณ์ อายุ 225 ล้านปี

ค้นพบ รอยตีนไดโนเสาร์กินพืชแห่งใหม่ในเพชรบูรณ์ อายุ 225 ล้านปี

กรมทรัพยากรธรณีค้นพบ รอยตีนไดโนเสาร์ในไทยแห่งใหม่ บริเวณน้ำตกตาดใหญ่ จ.เพชรบูรณ์ คาดเป็นไดโนเสาร์กินพืช พี่ใหญ่คอยาวซอโรพอด มีอายุกว่า 225 ล้านปี

ที่ไทยเองก็มีร่องรอยของสัตว์ใหญ่ยุคดึกดำบรรพ์เหมือนกัน! สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 กรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าตรวจสอบหลังมีการแจ้งพบร่องรอยคล้ายรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ในพื้นที่บ้านดงมะไฟ ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

บริเวณที่ตรวจสอบคือ ลานหินขนาดใหญ่ประมาณ 10 เมตร กว้าง 3 เมตร บริเวณกลางลำห้วยด้านล่างของน้ำตกตาดใหญ่ โดยพบร่องรอยแนวทางเดินประมาณ 2 แนวทางเดิน แสดงลักษณะการย่างก้าวของสัตว์อย่างชัดเจน ระยะช่วงก้าวมีความใกล้เคียงกันทุกช่วงก้าว และขนาดของรอยตีนมีความยาวเฉลี่ยใกล้เคียงกันทุกรอย

Cr. กรมทรัพยากรธรณี คาดว่ารอยบนพื้นหินเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงไทรแอสสิกตอนปลาย อายุคาร์เนียน-นอเรียน หรืออายุประมาณ 225 ล้านปี ซึ่งประมาณการณ์ได้ว่ารอบตีนได้ถูกประทับลงบนหินห้วยหินลาด กลุ่มหินโคราชในช่วงเวลานั้น

จากการสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านรอยตีนดึกดำบรรพ์ Dr. Jean Le Loeuff จาก Esperaza Dinosaur Museum ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และก็ได้รับการยืนยนัว่า นี่เป็นรอยตีนของสัตว์ดึกดำบรรพ์จริง และคาดว่าเจ้าของรอยเท้าคือไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (Sauropod) ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมลลักษณ์ วงษ์โก นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 กรมทรัพยากรธรณี  อธิบายว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลง ลานหินขนาดใหญ่จึงปรากฏให้เป็น และแหล่งชากตึกดำบรรพ์ดังกล่าวควรทำการศึกษาในรายละเอียดถึงชนิดของเจ้าของร่องรอ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายรอยตีนของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด (sauropod) หรือกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชคอยาว แต่จากอายุหินและหมวดหินดังกล่าว ยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์มาก่อน

ไดโนเสาร์คอยาว กินพืช ตัวใหญ่ อยู่ในกลุ่มซอโรพอด (sauropod) Cr. Júlia d’Oliveira.

“ หากเราทำการศึกษาและได้คำตอบที่แน่ชัดแล้ว จะถือเป็นข้อมูลการค้นพบที่สำคัญด้านบรรพชีวินวิทยาและวิวัฒนาการของสัตว์ดึกดำบรรพ์ของประเทศไทยและของโลก ซึ่งจะทำให้แหล่งดังกล่าวมีมูลค่าทางการศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาของจังหวัดเพชรบูรณ์ยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ในอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ได้มีแค่รอยตีนนี้เท้านั้นที่ถูกค้นพบเป็นรอยแรกของจังหวัด ก่อนหน้านี้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในรูปแบบของกระดูกไดโนเสาร์กลุ่มโปรซอโรพอด (Prosauropod) จำพวกคอยาว ขาหน้าสั้น และยังมีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ผารอยตีนอาร์โคซอร์ สัตว์เลี้อยคลานคล้ายจระเข้ขนาดใหญ่ที่เป็นบรรพบุรุษไดโนเสาร์ อายุเก่าแก่มากกว่า 200 ล้านปีอีกด้วย

การศึกษาร่องรอย ประเภทรอยชีวิน (Ichnos) หรือรอยตีนแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว รอยตีนเหล่านี้เราสามารถศึกษาพฤติกรรมส่วนตัวของมัน เช่น จังหวะก้าวเดิน ระยะห่างความเร็ว ลักษณะการเดินแบบลากหางหรือยกหาง

แถมยังสามารถศึกษาไปยังพฤติกรรมกลุ่มของสัตว์โบราณด้วยเช่น การอยู่อาสัย การหาอาหาร อยู่รวมฝูงหรือแยกเดี่ยว แม้กระทั่งสามารถบอกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแหล่งที่อยู่อาศัยในอดีตได้ด้วย

รอยตีนไดโนเสาร์ที่เพชรบูรณ์ล่าุสด Cr. กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มีความจำเป็นและสำคัญเพื่อให้เราสามารถเรียนรู้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อในอดีต ว่าพวกมันใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน และมีความเป็นไปได้หรือไม่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นจะเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งอาจรวมไปถึงภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตพวกมันทั้งหมดให้สูญพันธุ์ และก่อเกิดสัญญาณชีพรูปแบบใหม่เหใอนทุกวันนี้ก็เป็นไปได้

ที่มาข้อมูล

กรมทรัพยากรธรณี

related