svasdssvasds

สุขสันต์วันแมวโลก! รักแมว รักโลก ชวนเลี้ยงแมวระบบปิดกันเถอะ

สุขสันต์วันแมวโลก! รักแมว รักโลก ชวนเลี้ยงแมวระบบปิดกันเถอะ

แค่เลี้ยงแมวในบ้าน คุณก็เปลี่ยนโลกได้ เนื่องในวันแมวสากล 8 สิงหาคม เราจึงอยากชวนให้ทาสแมวทั้งหลายหันมารับเลี้ยงแมวจรและเลี้ยงแมวระบบปิด ช่วยแก้ปัญหาแมวจร ปกป้องระบบนิเวศจากการสูญพันธุ์

แม้ว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าแมวครองโลกแล้วหรือไม่ แต่แมวก็ได้ครองใจมนุษย์ไปแล้วอย่างแน่นอน ด้วยความน่ารัก ขี้อ้อน กอดอุ่น ทำให้หลายๆ คน ต้องตกหลุมรักหัวปักหัวปำ กลายเป็นทาสแมวไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตามคนเลี้ยงแมวหลายๆ คน อาจคุ้นชินกับการเลี้ยงแมวแบบปล่อย เพียงแค่ให้อาหารตามเวลา แล้วค่อยมาเล่นด้วยตอนแมวกลับมาบ้านแล้วเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ การเลี้ยงแมวแบบปล่อยเช่นนี้ เป็นตัวการสร้างปัญหามากมายทั้งต่อธรรมชาติ สังคม และต่อตัวแมวเอง

เนื่องด้วยสัญชาติญาณนักล่าตัวฉกาจ และความสามารถในการปรับตัวเป็นยอด แมวจึงเป็นหนึ่งในสัตว์นักล่าที่ประสบความสำเร็จที่สุดชนิดหนึ่งในโลกธรรมชาติ สามารถล่าสัตว์ได้อย่างเก่งกาจและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อแมวกลายเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจของมนุษย์ พวกมันจึงได้ติดตามผู้คนและขยายเผ่าพันธุ์ออกไปทั่วโลก จนในทุกวันนี้มีแมวอยู่มากกว่า 600 ล้านตัวกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ในจำนวนนี้มีแมวที่เป็นแมวจรที่ไม่มีเจ้าของอยู่ถึง 480 ล้านตัว จำนวนแมวจรจำนวนมากเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งต่อสวัสดิภาพของแมวเองและสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในนกหายากของสหรัฐ California Thrasher ที่ตกเป็นเหยื่อของแมวจร  ภาพโดย: Alice Cahill

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมิธโซเนียนได้ประมาณว่าแต่ละปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแมวจรและแมวเลี้ยงปล่อยฆ่านกราว 2-4 พันล้านตัว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอีกราว 7 พันล้าน ถึง 2 หมื่นล้านตัว ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งจากออสเตรเลียก็เผยตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยกว่ากัน โดยจากการประมาณการณ์พบว่า แมวจรในออสเตรเลียล่านกวันละกว่า 1 ล้านตัว เกือบทั้งหมดคือนกประจำถิ่นที่พบในธรรมชาติและเป็นชนิดนกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 70 ชนิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือแมวไม่ได้ล่าแค่กินเท่านั้น มันยังฆ่าเพื่อความสนุกด้วย หลายๆ งานวิจัยชี้ว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีสัญชาติญาณนักล่าสูงมาก จนแม้ว่าเจ้าของให้อาหารมันอิ่มแล้ว แต่แมวก็ยังออกล่าต่อแม้จะไม่กินเหยื่อ หลายๆ ครั้ง เรายังเห็นแมวเหล่านี้มีน้ำใจเอาซากสัตว์ที่ล่าได้มาฝากเจ้าของด้วย แมวจรและแมวเลี้ยงปล่อยจึงถือเป็นตัวการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอันดับหนึ่งของโลก เป็นรองเพียงมนุษย์เท่านั้น

นอกจากอันตรายที่แมวจรและแมวเลี้ยงปล่อยส่งผลกระทบต่อธรรมชาติแล้ว โลกภายนอกก็ไม่ได้ใจดีกับแมวเหมือนกัน เพราะเมื่อออกไปผจญโลกภายนอก แมวต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบตัว ทั้งภัยจากสัตว์นักล่า การถูกรถชน ถูกคนใจร้ายทำร้าย อีกทั้งยังเสี่ยงโรคภัยจากทั้งพยาธิ โรคพิษสุนัขบ้า ไข้หัดแมว และโรคติดต่ออื่นๆ ทำให้แมวจรและแมวเลี้ยงปล่อยมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 2 – 5 ปีเท่านั้น

แมวยังสามารถออกลูกออกหลานได้อย่างรวดเร็ว แมวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และสามารถขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเพียง 5 เดือน แมวยังสามารถตั้งท้องและคลอดลูกได้ถึง 2 – 3 ครั้งต่อปี โดยในหนึ่งครอกอาจมีลูกแมวได้ถึง 5 – 7 ตัว ด้วยเหตุนี้ประชากรแมวจรล้นเมือง สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้คน จึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่หลายเมืองทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพฯ ต้องประสบ การเลี้ยงแมวแบบปล่อยโดยไม่ทำหมัน จึงเท่ากับเป็นตัวการให้ปัญหาแมวจรหนักขึ้น สร้างภาระให้กับภาครัฐในการจัดการดูแล

อย่างไรก็ตาม ในฐานะมนุษย์ผู้รักแมว เราสามารถมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการรับเลี้ยงแมวจร และเลี้ยงแมวในระบบปิด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาแมวจรได้โดยตรง ยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ ช่วยป้องกันไม่ให้แมวออกไปล่าสัตว์เล็ก รบกวนระบบนิเวศ

เลี้ยงแมวระบบปิด สุขภาพและความเป็นอยู่แมวจะดีกว่า

นอกจากนี้ การเลี้ยงแมวระบบปิดยังช่วยลดความเสี่ยงจากภัยต่างๆ ต่อตัวแมว ทำให้เราสามารถดูแลการกินและการขับถ่ายของแมวอย่างมีสุขอนามัย ช่วยให้แมวของเรามีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว โดยหลายงานวิจัยชี้ตรงกันว่า แมวเลี้ยงในบ้านจะมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนานถึง 13 – 17 ปี และในบางกรณีแมวของเราอาจอายุยืนถึง 30 ปี

การเลี้ยงแมวในบ้านเพียงอย่างเดียวอาจดูเหมือนการจำกัดอิสรภาพของแมว แต่เมื่อเทียบแล้ว การเลี้ยงแมวระบบปิดมีข้อดีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เรายังสามารถพาแมวออกไปเที่ยวเล่นข้างนอกได้โดยใส่กระเป๋าแมว หรือใส่สายจูง เพียงเท่านี้แมวของเราก็สามารถสัมผัสโลกภายนอกได้โดยไม่เสี่ยงอันตรายจากโลกภายนอกนัก

สุดท้ายนี้ แม้ว่าการรับเลี้ยงแมวจร อาจไม่ได้ส่งผลให้ช่วยแก้ปัญหาโลกได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับแมวตัวน้อย การที่เรารับเขาไว้มาดูแลในบ้าน คือการเปลี่ยนโลกของเขาทั้งใบให้มีชีวิตที่ยืนยาวและสุขสบาย

 

ข้อมูลจาก:

related