svasdssvasds

จีนพบไมโครฟอสซิลโบราณ อายุเก่าแก่กว่าไดโนเสาร์ ช่วยไขความลับกล้ามเนื้อ

จีนพบไมโครฟอสซิลโบราณ อายุเก่าแก่กว่าไดโนเสาร์ ช่วยไขความลับกล้ามเนื้อ

ทีมนักวิจัยนานาชาติค้นพบ 'ไมโครฟอสซิล' หายากของสัตว์จำพวกพยาธิตัวกลมที่มีกล้ามเนื้อ อายุกว่า 535 ล้านปี เก่าแก่กว่ายุคไดโนเสาร์ ในจีน เผยเป็นการค้นพบครั้งสำคัญช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของการเคลื่อนไหวโดยกล้ามเนื้อ

ใครจะไปคิดว่าสัตว์ตัวจิ๋วที่ไม่มีกระดูกแข็งอย่างพวก พยาธิตัวกลม พยาธิขนม้า และมัดดรากอน (mud dragons) หรือไฟลัมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลที่มีขนาดเล็ก จะสามารถแข็งตัวกลายเป็นฟอสซิลได้ แต่ทีมนักวิจัยนานาชาติที่ได้ไปขุดค้นฟอสซิลในทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี ทางตะวันตกของประเทศจีน กลับได้พบไมโครฟอสซิลชิ้นสำคัญ ที่อาจไขความลับวิวัฒนาการการเคลื่อนไหวโดยกล้ามเนื้อของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ที่เคลื่อนไหวบนโลกใบนี้

โดยทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย จางหัวเฉียว นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ได้ค้นพบไมโครฟอสซิลกล้ามเนื้อขนาดจิ๋ว จากยุคแคมเบรียน (Cambrian) ที่มีอายุย้อนไปราว 535 ล้านปี ตอนต้นในจีน ซึ่งเป็นไมโครฟอสซิลของสัตว์จำพวก ไซโคลนิวรัลเลียน (cycloneuralian) ซึ่งคงสภาพถูกห่อหุ้มด้วยกล้ามเนื้อ

จีนพบไมโครฟอสซิลโบราณ อายุเก่าแก่กว่าไดโนเสาร์ ช่วยไขความลับกล้ามเนื้อ

จางระบุว่า หนึ่งในสามตัวอย่างไมโครฟอสซิลที่มีขนาดจิ๋วในระดับมิลลิเมตรที่พบทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี อยู่ในสภาพดีกว่าตัวอย่างอื่นๆ โดยประกอบไปด้วยวงแหวนที่มีขนาดของแต่ละชั้นไล่เรียงใหญ่ขึ้น 5 วง ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงสร้างแบบรัศมีที่แผ่ออกจากศูนย์กลาง 19 ส่วน และโครงสร้างตามยาว 36 ส่วน

จางเสริมว่า วงแหวนดังกล่าวถูกบีบอัดในองศาที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าไซโคลนิวรัลเลียนมีความยืดหยุ่นตอนยังมีชีวิตอยู่ และใช้กล้ามเนื้อช่วยในการเคลื่อนไหวและการกิน

จางระบุว่า ฟอสซิลกล้ามเนื้อสัตว์ในช่วงยุคแรก เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจวิวัฒนาการการเคลื่อนไหว โดยเราสามารถเรียนรู้ว่าสัตว์ต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างไรในสมัยโบราณ และเรียนรู้วิธีที่พวกมันทยอยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบันผ่านฟอสซิลเหล่านี้

related