svasdssvasds

7 ไอเดีย สร้างความสุขให้คนทำงาน ที่ทุกบริษัททำได้

7 ไอเดีย สร้างความสุขให้คนทำงาน ที่ทุกบริษัททำได้

ปัจจัยเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อความสุขพนักงานได้ ไม่จำเป็นต้องตกแต่งออฟฟิศหรูหราหรือให้หุ้นของบริษัทก็สามารถทำให้พนักงานหรือคนทำงาน มีความสุขเพิ่มขึ้นได้

SHORT CUT

  • ผู้บริหารและหัวหน้างานทุกคนรู้ดีพนักงานที่มีความสุขจะทำงานมีประสิทธิภาพ ความผิดพลาดลดลง และทุ่มเททำงานที่ตนเองรับผิดชอบได้ดี
  • แต่น้อยคนจะรู้ว่าปัจจัยเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อความสุขพนักงานได้
  • การสร้างความสุขแม้ว่าจะใช้เงินไม่มาก แต่กลับต้องอาศัยความใส่ใจ การจัดการและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบประสบการณ์การทำงาน

ปัจจัยเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อความสุขพนักงานได้ ไม่จำเป็นต้องตกแต่งออฟฟิศหรูหราหรือให้หุ้นของบริษัทก็สามารถทำให้พนักงานหรือคนทำงาน มีความสุขเพิ่มขึ้นได้

ผู้บริหารและหัวหน้างานทุกคนรู้ดีพนักงานที่มีความสุขจะทำงานมีประสิทธิภาพ ความผิดพลาดลดลง และทุ่มเททำงานที่ตนเองรับผิดชอบได้ดี แต่น้อยคนจะรู้ว่าปัจจัยเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อความสุขพนักงานได้ ไม่จำเป็นต้องตกแต่งออฟฟิศหรูหราหรือให้หุ้นของบริษัทก็สามารถทำให้พนักงานมีความสุขเพิ่มขึ้นได้

วิธีสร้างความสุขให้กับคนทำงาน

Ron Friedman นักจิตวิทยาสังคมที่ผันตัวมาเป็นนักพูดและนักเขียนให้กับ Harvard Business Review และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสำนักข่าวหลายแห่ง เช่น Bloomberg, The New York Times  เคยเขียนหนังสือชื่อ The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary Workplace บอกเล่าวิธีสร้างความสุขให้กับคนทำงานทั้งเรื่องการออกแบบสถานที่และ บรรยากาศการทำงาน การสร้างแรงจูงใจ รวมถึงวิธีการดึงดูดและรักษาพนักงานหัวกะทิไว้กับองค์กร บทความวันนี้ขอสรุปมาเฉพาะไอเดียที่ใช้เงินไม่มาก ไม่ต้องรอนโยบายบริษัท หัวหน้าทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง 

1. Surprise !!  

จะมีใครไม่ชอบเซอร์ไพรส์บ้าง? คิดว่าคงไม่มี ให้นึกถึงโมเมนต์ของการสร้างเซอร์ไพรซ์ให้คนรัก แน่นอนว่าเราต้องทำให้เขาหรือเธอประทับใจอย่างคาดไม่ถึง วิธีนี้ได้ผลมากๆ หลายปีก่อนผู้เขียนเคยได้รับขนมสโคนครีมสดผลไม้ซึ่งเป็นขนมโปรดที่ชอบมาก พร้อมโน๊ตขอบคุณจากเจ้านาย ตอนนั้นดีใจและประทับใจมากเพราะนึกไม่ถึงว่าเจ้านายผู้ชายจะใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ด้วยสไตล์ของเจ้านายผู้ชายทำให้ประหลาดใจมากว่ารู้ได้อย่างไรว่าเราชอบอะไรและไปหาซื้อมาจากที่ไหนทั้งๆ ที่ออฟฟิศอยู่แถบย่านชานเมืองการหาซื้อขนมประเภทนี้จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก

 

 

2. สร้างบรรยากาศที่สบายใจและประสบการณ์ทางบวก  

บรรยากาศนั้นกินความหมายครอบคลุมตั้งแต่แสง สี เสียงในที่ทำงาน ถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงบรรยากาศร้านนวดทั่วไปกับร้านนวดสปาตามโรงแรมจะเห็นถึงความแตกต่างกันมาก สปาในโรงแรมจะออกแบบบรรยากาศทุกอย่างมาเป็นอย่างดี แม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ก็มีกลิ่นที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายเพื่อช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจตอนมาใช้บริการ  นอกจากนี้บรรยากาศยังยังรวมถึงคำชม คำขอบคุณเล็กๆ น้อยๆ การให้เกียรติกับคนทำงาน ไม่ใช้คำพูดกดดัน ลดทอนคุณค่า หรือทำให้รู้สึกวิตกกังวล

3. ความสัมพันธ์และแบ่งปันเรื่องราว

คงไม่มีใครมีความสุขในที่ทำงานที่มีความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันระหว่างการทำงาน วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีคือการทำให้สถานที่ทำงานมีพื้นที่สำหรับให้พนักงานได้สร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เกี่ยวกับงาน เช่น ห้องชงกาแฟหรือมุมกาแฟ  ห้องนั่งเล่นที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ต้องใช้ร่วมกัน ออกแบบกิจกรรมให้พนักงานได้คุยกันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน เช่น การออกกำลังกาย ทีมกีฬา ชมรมดูซีรีย์ ติ่ง K Pop เป็นต้น เพื่อพนักงานที่รู้จักกันเป็นเพื่อนกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งในเรื่องงานมักจะไม่รุนแรงและสามารถประนีประนอมหาทางออกได้ไม่ยาก

4. ความถี่ดีกว่าปริมาณ  

Ron Friedman ระบุถึงรางวัลที่เป็นเงินโบนัสก้อนโตที่ให้ตอนปลายปีว่าสร้างความสุขน้อยกว่าการแบ่งเป็นไตรมาสเพื่อเพิ่มความถี่โดยจำนวนเงินลง และถ้าใช้ประกอบกับข้อที่ 2 เราสามารถแบ่งเงินโบนัสมาใช้สำหรับการจัดปาร์ตี้สังสรรค์ หรือไปทริปต่างจังหวัดร่วมกันในแต่ละไตรมาสก็เป็นการสร้างประสบการณ์ทางบวกและความสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานตามข้อ 3

 

5. สร้างความไม่แน่นอน ไม่คุ้นชิน 

ข้อนี้สอดคล้องกับการทดลองของนักจิตวิทยาพฤติกรรมชาวอเมริกันชื่อ สกินเนอร์ (B. F. Skinner) ผู้คิดค้นทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ที่เคยทำการทดลองการให้อาหารนกพิราบในกรงเมื่อนักพิราบจิกปุ่มที่ติดตั้งไว้ พบว่านกพิราบในกรงที่ได้รับอาหารบ้าง ไม่ได้รับอาหารบ้าง เมื่อจิกปุ่มที่ติดไว้มีพฤติกรรมการจิกปุ่มที่คงเส้นคงวามากกว่านกพิราบที่ได้รับอาหารในรูปแบบอื่นๆ คล้ายกับว่าเมื่อไม่รู้ว่าเมื่อไหร่อาหารตกลงมาจึงจิกปุ่มไปเรื่อยๆ Ron Friedman ยังหมายถึงเงื่อนไขหรือสภาพการทำงานบางอย่าง เช่น การตรวจร่างการประจำปี หรือรถรับส่งพนักงาน หากทำอย่างต่อเนื่องพนักงานจะรู้สึกคุ้นเคยและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่บริษัทต้องจัดให้แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะดีกว่าสถานที่ทำงานอื่นๆ 

6. ความภูมิใจและความรู้สึกขอบคุณ 

วัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำชมหรือคำขอบคุณเล็กๆ น้อยๆ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีใครไม่ชอบคำชมหรือคำขอบคุณ หากเราเริ่มต้นทำจนเป็นนิสัยนอกจากสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานแล้วยังช่วยฝึกนิสัยให้เราถ่อมตนในทางอ้อมผ่านการตระหนักรู้ว่างานที่เราทำสำเร็จนั้นล้วนมาจากทีมงาน เพื่อนร่วมงาน ที่ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยมีเราเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จ นอกจากนี้การให้แต่ละคนในทีมพูดถึงความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับงานและไม่เกี่ยวกับงานก่อนเริ่มประชุมก็เป็นเทคนิคที่ดีที่ช่วยสร้าง Self Esteem หรือการเห็นคุณค่าและการนับถือตนเองให้กับสมาชิกในทีมและส่งผลต่อบรรยากาศของทีมในภาพรวมอีกด้วย 

7. สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน

ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้อ 1 - ข้อ 6 จะไม่มีความหมายใดๆ ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีกลับยังไม่เพียงพอ เช่น ห้องน้ำที่ไม่สะอาด เครื่อง Printer ม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากที่บริษัทและหัวหน้างานต้องคอยสังเกตสิ่งแวดล้อมพื้นฐานของพนักงาน ว่าได้รับการเอาใจใส่เพียงพอแล้วหรือยัง ก่อนหันไปดูแลใส่ใจสร้างองค์ประกอบความสุขในที่ทำงานข้ออื่นๆ 

ให้เปรียบลูกน้องหรือทีมงานเป็น “ลูกค้า”

ทั้ง 7 ข้อที่สรุปมาแม้ว่าจะใช้เงินไม่มาก แต่กลับต้องอาศัยความใส่ใจ การจัดการและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบประสบการณ์การทำงานให้กับพนักงาน เทคนิคที่คิดว่าน่าจะช่วยเติมเต็ม 7 ไอเดียที่ว่ามาคือ ให้คิดว่าลูกน้องหรือทีมงานเป็น “ลูกค้า” ที่เราอยากสร้างความประทับใจ อยากทำให้พวกเขามีความสุข และอยากร่วมงานกับเรา วิธีคิดนี้จะทำให้คิดหาแนวทางปฎิบัติได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ขอให้ทุกคนมีความสุขหลังจากกลับจากวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์กันนะคะ 

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ 

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคลากรของ ALERT Learning and Consultant

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

related