svasdssvasds

"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ รัฐบาล "ประยุทธ์" จัดการโควิดผิดพลาด เสนอหาผู้รับผิดชอบ

"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ รัฐบาล "ประยุทธ์" จัดการโควิดผิดพลาด เสนอหาผู้รับผิดชอบ

"ทีดีอาร์ไอ" ประเมินผลงานรัฐบาล "ประยุทธ์" สอบตกคุมโควิด ทั้งประเมินผิด-ตัดสินใจพลาด บริหารความเสี่ยงล้มเหลว ทั้งมาตรการป้องกันการระบาดและวัคซีน ทำไทยเสียโอกาสฟื้นตัวจากวิกฤตแซงหน้าชาติอื่น เสนอตั้ง คกก.อิสระตรวจสอบหาตัวผู้รับผิดชอบ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอรายงานการประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ ครั้งที่ 2 โดยเน้นไปที่ผลงานการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"หมอบุญ" จ่อนำเข้าวัคซีน mRNA-โนวาแวกซ์ จากความร่วมมือขององค์กรรัฐ

ทำเนียบฯ ตำรวจติดโควิด-19เพิ่ม แม้รับวัคซีนครบ2เข็ม เสี่ยงอีก 50นาย

วุ่นแล้ว เจอคนติดเชื้อโควิดพันธุ์ผสมอัลฟา-เดลตา ในกทม.

รายงานของ ทีดีอาร์ไอ สรุปว่า แม้ไทยจะควบคุมการระบาดของโควิดได้ดีในระลอกแรก แต่การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ ทั้งๆ ที่มีเวลาและโอกาสที่ดีในการเตรียมตัวรับมือการระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิดมากกว่าหลายประเทศ

ตัวอย่างที่สะท้อนว่ารัฐบาลตัดสินใจผิดพลาด เช่น การตัดสินใจให้มีวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ปีนี้ โดยไม่มีมาตรการรองรับการแแพร่ระบาดที่ดีพอ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงต้นของการระบาดระลอกที่ 3 แล้ว ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างไปสู่จังหวัดต่างๆ 

ขณะที่การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤต ก็เป็นไปอย่างสับสน ประกาศมาตรการกลับไปกลับมา เช่น การประกาศมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯเมื่อกลางดึกของวันที่ 26 มิถุนายน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียวเพิ่งประกาศว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ 

สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเพิ่งตระหนักถึงความรุนแรงของการระบาดระลอกใหม่ที่จำนวนการติดเชื้อน่าจะเกินความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขของประเทศ ซ้ำยังไม่มีแผนการเยียวยาที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะการกักตัวแรงงานก่อสร้างไว้ในที่พัก หรือกรณีการประกาศให้ร้านอาหารแและสถานบริการต่างๆ ปิดกะทันหัน 

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน แม้การมีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศจะเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง แต่การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล สะท้อนถึงการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด โดยการพึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทในสัดส่วนที่สูงมาก และเลือก “วัคซีนซิโนแวค” เป็นวัคซีนเสริมโดยไม่หาทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้น ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงโดยไม่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ และการให้ข่าวเกี่ยวกับจำนวนการรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศของรัฐบาล น่าจะไม่ตรงกับเงื่อนไขสัญญา 

วัคซีนเสริมที่รัฐบาลเลือกใช้ คือ “ซิโนแวค” ก็เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลไม่สูงในการสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ จึงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันการติดเชื้อในวงกว้างให้แก่ประชาชนไทยได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีน พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเอกภาพ ซ้ำยังแย่งบทบาทกันในการกระจายวัคซีน ทำให้เกิดหลายช่องทางในการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ส่งผลให้ยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนบิดเบี้ยวไปหมด

บทสรุปของรายงาน ทีดีอาร์ไอ ก็คือ แม้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกก่อนหน้า แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง จนสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

กรณีผิดพลาดนี้สมควรต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระ คล้ายกับคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ หรือ ศปร. ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

อ่านรายงานฉบับเต็ม

related