svasdssvasds

ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล เต้นกินรำกินอาชีพที่สังคมไทยไม่ให้คุณค่า?

ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล เต้นกินรำกินอาชีพที่สังคมไทยไม่ให้คุณค่า?

ตีแผ่เส้นทางนักแสดงนาฏศิลป์ "ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล" เต้นกินรำกินอาชีพที่สังคมไทยไม่เห็นคุณค่า และไม่เป็นที่ปรารถนาของคนรุ่นใหม่

"นาฏศิลป์ไทย" คือจิตวิญญาณ

จากจุดเริ่มต้น "ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล" เป็นคนไม่ได้มีพื้นฐานด้านนาฏศิลป์แต่ว่าใช้วิธีครูพักลักจำ และเริ่มศึกษาอย่างจริงจังจนเป็นนักแสดงตอนอายุ 18 ปี เพื่อเดินตามความฝันดีและทำในสิ่งที่ชอบคือวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะศิลปะการแสดงพวกนาฏศิลป์ ระบำ รำ ฟ้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้เห็นนาฏศิลป์ตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นภาพจำที่ทำให้รู้สึกว่าถูกปลูกฝังและก็รู้สึกรัก แต่ครอบครัวไม่ได้สนับสนุนให้มาเต้นกินรำกิน เพราะในมุมมองของผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้น้อยเลี้ยงตัวเองได้ยาก

"ในตอนนั้นผมก็เลยเลือกที่จะไปเรียนอย่างอื่นก่อนเพื่อตามใจครอบครัว ผมก็ไปเรียนในศาสตร์ของภาษาจีนแล้วรู้สึกว่าในระหว่างที่เราเรียน ไม่ใช่เราไม่ชอบภาษานะครับก็ชอบภาษาแต่ในใจเราก็ยังรักในศิลปะวัฒนธรรมมากกว่าผมก็เริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 18 ปี

จนมันรู้สึกว่าถึงจุดนึงมันรู้ว่าไม่แล้ว เราควรจะทำในสิ่งที่เราชอบที่เรารักผมถึงเลือกที่จะเปลี่ยนสายไปทางด้านศิลปะการแสดง  กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ผมต้องค่อยๆ แบบรียนรู้อะไรหลายอย่างไปฝึกไปดูคนอื่นไปศึกษาด้วยตัวเอง พัฒนาตัวเอง เอาตัวเองไปอยู่ในจุดต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะการแสดงอย่างเช่น โรงเรียนของ ครูเล็ก ภัทรวดี หรือว่าแม้กระทั่ง โขน ธรรมศาสตร์ เพื่อให้ตัวเองได้ซึมซับและก็เรียนรู้ให้ได้มากที่สุดครับ"

"เต้นกินรำกิน" อาชีพที่คนไม่ให้ค่า

สำหรับสายอาชีพนาฏศิลป์ไทยคำว่าเต้นกินรำกิน "ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล" มองว่าเป็นคำที่ไม่มีใครอยากได้ยินคำนี้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะบังคับคนอื่นได้ สิ่งที่ทำได้มากสุด คือยอมรับในตัวเราเอง แต่อาชีพทางด้านนาฏศิลป์ไทยเป็นอาชีพที่มีเกียรติเราทำด้วยความรัก คำว่าเต้นกินรำกินเรามักได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เราถูกตีกรอบคำว่าเต้นกินรำกินตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนอาจจะยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับมาก ถามว่าสมัยนี้อาชีพของนาฏศิลป์ไทยเป็นที่ยอมรับแล้วหรือยังมันก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์มากนักเพราะว่าในอาชีพวงการนาฏศิลป์ไทยการได้รับการยอมรับในเรื่องของอัตราค่าจ้างก็ยังน้อยความรักในอาชีพไม่ได้ทำให้เราอยู่รอด

"ทุกวันนี้ในสายอาชีพคนที่เรียนด้านนี้เองก็ยังได้รับการสนับสนุนที่น้อยผมเลยจะต้องผันตัวมาทำเป็นครู ถ้าเราจะเต้นกินรำกินทั้งชีวิตไม่รอด ในมุมมองผมว่าเราอย่าโทษกันเลยดีกว่าหน่วยงานนี้ไม่ช่วย อันโน่นไม่ช่วย สิ่งสำคัญตอนนี้ขึ้นอยู่กับตัวเราเองหมายถึงคนไทยเองนี่แหละครับให้คุณค่ากับมันแล้วหรือยัง เห็นคุณค่าของมันแล้วหรือยัง เมื่อไหร่ที่เราให้ค่าสิ่งๆ นึงสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่มีค่าขึ้นมาทันที"

ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล เต้นกินรำกินอาชีพที่สังคมไทยไม่ให้คุณค่า?

"ศิลปะวัฒนธรรมไทย" กำลังถูกกลืนหาย

"ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล" เผยมุมมองที่ศิลปะวัฒนธรรมไทยกำลังถูกกลืนหาย เพราะในมุมมองของบางคนอาจจะรู้สึกว่าเชยล้าสมัยไม่มีคุณค่า และถูกตีกรอบด้วยคำว่าเต้นกินรำกินก็ไม่มีใครที่อยากจะเป็นคนเต้นกินรำกิน เป็นอาชีพที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ไม่สามารถเชิดชูวงตระกูลหรือว่าทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าขึ้นมาได้ จึงทำให้คนอาจจะอยากไปเรียน หมอ เรียนตำรวจ เรียนอะไรเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีฐานะที่ดีอันนี้ก็เป็นสิ่งที่คนไทยมองเป็นค่านิยม วัฒนธรรมเรามันกำลังสูญหายทีละน้อย มันไม่ผิดที่เขาจะร้องเต้นเกาหลีอะไรใดๆ 

"แต่ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจะใจหาย ต่างชาติยังชอบในศิลปะวัฒธรรมของเราแล้วทำไมเราเองถึงหลงลืมมันมันเป็นคำถามว่าตอนนี้เราทำอะไรกันอยู่ทำไมเราให้คุณค่ากับสิ่งอื่น ศิลปะวัฒธรรมไทยเป็นของใกล้ตัวเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวแต่เรามักถูกมองข้ามและถูกละเลย ดังนั้นผมคิดว่าคนไทยควรกลับมาให้ความสนใจ เพื่อให้วัฒนธรรมไทยเราคงอยู่ ผมคิดว่าการพัฒนาทางด้านนาฏศิลป์ไทยอาจจะไม่ต้องแบบเป็นนาฏศิลป์แบบโบราณแต่ตามยุคตามสมัยมันก็คงต้องมีการปรับเปลี่ยนและก็คงต้องช่วยกันดำรงรักษาต่อไป

สำหรับน้อง ๆ ผมอยากจะบอกว่าศิลปะวัฒนธรรมไทยมันอยู่กับเรามายาวนานเข้าใจ ยุคสมัยใหม่มันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยสนใจอย่างอื่นได้ครับแต่อยากให้มองถึงศิลปะถึงวัฒนธรรมไทยเราสักนิด เพราะว่าศิลปะวัฒนธรรมไทยของเราเนี่ยอยู่กับประเทศเรามานาน ถ้าวันนึงเราเป็นคนที่ไม่มีวัฒนธรรมเราจะเอาอะไรมาเป็นที่ภาคภูมิใจอยากให้น้อง ๆ รักแล้วก็ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีอย่างที่ผมภูมิใจครับ"

ครูบิ๊ก กวีวัธน์ เทวกุล เต้นกินรำกินอาชีพที่สังคมไทยไม่ให้คุณค่า?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related