ส่องอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยสาหัสขนาดไหน โดยเฉพาะหมวดของเด็กไทยกับระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป จนขาดอิสระภาพในการเติบโตอย่างที่ต้องการ
รายงานจากกรมสุขภาพจิต อัพเดตวันที่ 19 มกราคม 2565 เตือนให้เฝ้าระวังและจับตาดู 4 พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย หรือ โรคซึมเศร้า พร้อมชวนย้อนดูสถิติอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
หลายปีที่ผ่านมา หลังจากระบาดของโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของกรมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย โดยมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย ที่น้อยคนนักจะรู้ตัวว่าตนเองเป็นหรือไม่ หรือรู้ตัวก็แก้ไขได้ยาก ซึ่งการเกิดของโรคซึมเศร้ามาจากปัจจัยแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ได้กระตุ้นอารมณ์และจิตใจให้จมดิ่งลงไป จะเห็นได้จากข่าวทั้งในและต่างประเทศอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ดาราไอดอลชื่อดังฆ่าตัวตายจากภาวะซึมเศร้า หรืออัตราการฆ่าตัวตายในเด็กที่เครียดจากรูปแบบการเรียน สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย และกรณีล่าสุดที่นักศึกษาม.ดังแห่งหนึ่งกระโดดตึกฆ่าตัวตาย และนี่ไม่ใช่รายแรกๆของประเทศไทย
การฆ่าตัวตายหรือการตัดสินใจเพื่อจบชีวิตตัวเองนั้น คงไม่อาจเรียกได้ว่าการ ‘คิดสั้น’ เพราะว่ากว่าจะตัดสินใจได้แบบนั้นต้องอดทนและคิดทบทวนมานานมากพอ จึงตัดสินใจทำลงไปแบบนั้น ความกดดันที่บุคคลหนึ่งได้รับมันยากเกินกว่าจะรับไหวและอดทนต่อไปได้ จึงเป็นการเลือกเส้นทางที่ถือว่าคิดทบทวนมามากพอสมควรแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้
จิตบำบัดฉบับพกพาไว้ใช้เองที่บ้าน ประคองสุขภาพจิตให้รอดในปี 2022
สาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้า มีอยู่ 2 สาเหตุด้วยกัน คือ
1.ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของฮอร์โมน
2.ปัจจัยด้านจิตใจและสิ่งแวดล้อม นี่คือสาเหตุส่วนใหญ่ที่คนไทยพบเจอ ผลพวงของอารมณ์และการลดทอนคุณค่าในตัวเองมาจาก สถานการณ์ที่ตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าในเด็กมาจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง เด็กมักถูกบีบคั้นและกำหนดกรอบเส้นทางชีวิตตามความคาดหวังของพ่อแม่ จนเมื่อเติบโต ความอัดอั้นที่เก็บมานั้นเก็บไว้ไม่ไหวอีกต่อไป จนต้องปะทุออกมาในภายหลัง เช่นเดียวกับวัยชรา ที่มีภาวะซึมเศร้าจากความเดียวดายและความเครียดที่จะต้องดิ้นรนดำเนินชีวิตต่อด้วยตัวเอง ตามไม่ทันสังคม รู้สึกไร้ค่า และรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน
จากสถิติด้านอายุและวัยจากกรมสุขภาพจิต ได้สรุปรวมไว้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และกลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายมากที่สุกคือกลุ่มคนวัยทำงาน 30-39 ปี กลุ่มวัยที่ไล่ตามมาติดๆใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นคือจำนวนเด็กไทย ที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียดกับรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19ระบาด
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถิติคนไทยที่ฆ่าตัวตาย ตัวเลขย้อนหลังล่าสุด เมื่อปี 2563 เฉลี่ย 7 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย
พญ.อัมพร บอกว่า สถิติดังกล่าวเป็นสถิติย้อนหลังของปี 2563 ต่อมาที่ปี 2564 ได้มีการประมาณการสูงขึ้นใกล้ๆ กับ 8 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลความถี่ และวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็เลยเป็นเป้าหมายของประเทศไทยที่จะต้องป้องกันไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายเกินไปกว่า 8 ราย ต่อ 100,000 ราย
ซึ่งหมายความว่า สถิติการฆ่าตัวตายยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี ทุกสิ่งที่เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวนั้นสามารเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ความผูกพันของคนในครอบครัว ระบบการศึกษาที่กดดันให้เด็กไม่ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ข้อระเบียบที่เยอะจนเกินวัยและเกินไป สภาพการเงิน เศรษฐกิจ การเลิกจ้าง ว่างงาน หนี้สิน เก็บกดจากการใช้แรงงานมากเกินไป หน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ความคาดหวังจากคนรอบข้าง คำพูดใส่ร้าย ถากถาง หรือแม้กระทั่งการล้อเลียนรูปร่าง สรีระทางร่างกายและพฤติกรรมบางอย่างของบุคคลๆหนึ่ง ก็มีส่วนนำไปสู่โรคซึมเศร้า เป็นต้น
ในกรณีของเด็กไทยนั้นถือว่าสาหัสเลยทีเดียว โดยเฉพาะเด็กที่ย่างก้าวเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงการระบาดของโควิด-19และการเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบจึงไม่ได้เข้าสังคมอย่างที่ควรจะเป็น กิจกรรมต่างๆไม่ค่อยมี หรือแม้กระทั่งในเด็กเล็ก เด็กวัยเจริญเติบโตและการสร้างสรรค์จิตนาการเพื่อค้นหาความชอบ และความฝัน ซึ่งตอนนี้เป็นไปได้เพียงแค่นิทานบนหน้าจอหรือในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เด็กไม่ได้เจอเพื่อนใหม่ ไม่ได้เจอการเผชิญโลกกว้าง อีกทั้งข้อกำหนดต่างๆที่การศึกษาไม่เอื้อต่อช่วงวัย ยกตัวอย่าง กรณีห้ามเด็กวัยอนุบาลร้องไห้ ไม่เช่นนั้นจะถูกหักคะแนน ถือว่าเป็นอะไรที่น่าฉงนใจ ว่าเป็นการใช้อำนาจในฐานะครูกับนักเรียนนั้นมากเกินไปหรือไม่ เราจึงต้องมาดูกระบวนการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงการศึกษาว่าการรับเรื่องการร้องเรียนดังกล่าวจะแก้ไขอย่างไร และไม่ใช่แค่การแก้ไขในระยะสั้นเท่านั้น แต่ควรจะแก้ไขในระยะยาวเพื่อให้ระบบการศึกษามีความยั่งยืนและเหมาะสม
ส่วนวิธีสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเบื้องต้นนั้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้บุคคลที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้า เราสามารถช่วยป้องกันให้คนที่เรารักไม่เดินทางไปสู่ปลายทางที่ไม่สวยงามได้ ด้วยวิธีการดังนี้
1.พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด มักมีความคิดไปในทางลบ (Negative Thinking) ตลอดเวลา มักรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ในที่สุดก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
2.พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง
3.พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มักมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น
4.พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง
เพื่อส่งเสริมให้เข้ารับการศึกษาและทำความเข้าใจไปพร้อมกัน สามารถโทรไปขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323
และสิ่งที่อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจคือ โรคซึมเศร้านั้นไม่โรคที่ผิดแปลกอะไร เป็นเพียงแค่สารในสมอง ไม่ควรรังเกียจหรือเบื่อหน่ายกับบุคคลที่เป็นโรคนี้ เพียงเพราะพวกเขาไม่เหมือนเดิม คนเหล่านี้เจอเรื่องมามากมายและขีดจำกัดของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการเป็นผู้ฟังที่ดีและคอยอยู่เคียงข้าง หรือการระมัดระวังคำพูด หากไม่รู้ว่าคำไหนควรไม่ควรสามารถศึกษาต่อได้ที่ >>> ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้
ที่มาข้อมูล
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31464