svasdssvasds

ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้

ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง โดยคนใกล้ชิดต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก และยิ่งต้องระวังคำพูดที่จะพูดกับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้นประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด จึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องรู้

หลายคนอาจเคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า มาจากสื่อต่างๆ ไม่มากก็น้อย ซึ่งความเจ็บป่วยจากการเป็นโรคซึมเศร้า มักส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก นึกคิด รวมไปถึงยังสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งในบางครั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาจมีอาการต่างๆ เช่น รู้สึกสิ้นหวัง, ว่างเปล่า, ความฝันที่ไม่เป็นจริง และมักมีคำพูดมากมายที่บั่นทอนกำลังใจอยู่เสมอ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

และยังมีอีกหลายคนมีความเข้าใจผิดว่า โรคซึมเศร้าสามารถหายได้เอง แต่แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้ต้องอาศัยการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันบุคคลใกล้ชิดผู้ป่วยกลุ่มนี้ ก็ต้องมีความเข้าใจความรู้สึก นึกคิด ของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีเพื่อจะได้ดูแล และปฏิบัติตัวและไม่สร้างความรู้สึกหดหู่ให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะคำพูด เพราะบางครั้งคำพูดเพียงคำประโยคเดียวก็สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดฆ่าตัวตายได้ในทันที

ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้ประโยคที่ควรพูด และไม่ควรพูดกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวอาจเป็นผลดีกว่า เพราะในบางครั้งคำพูดต่างๆนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยตีความประโยคให้กำลังใจต่างออกไป จนทำให้เกิดปัญหาในที่สุด

ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้

 

คำที่ไม่ควรพูด

  • หัดมองโลกในแง่ดีบ้าง

เพราะโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิต ที่เกิดจากสารเคมีในสมอง รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้การรักษาหรือให้กำลังใจผู้ป่วยต้องมากกว่าเพียงแค่การมองโลกในแง่ดี

  • ฉันรู้แล้วอะไรจะทำให้เธอสบายใจขึ้น ไปปาร์ตี้กัน

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น มักเกิดอาการวิตกกังวลและแยกตัวจากผู้อื่น ถึงแม้การต้องการคนอยู่เป็นเพื่อนและให้การสนับสนุนจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับกันการออกสังคมหรือปาร์ตี้หมู่มาก อาจทำให้เกิดความตึงเครียดมากเกินไปก็เป็นได้

  • คุณจะรู้สึกดีกว่านี้ ถ้าออกจากบ้านและออกกำลังกายบ้าง

ผู้ที่มีอาการซึมเศร้านั้นมักมีความรู้สึกไม่อยากแม้แต่จะลุกออกจากที่นอน ถึงแม้การทำงานอดิเรกและการออกกำลังกายจะดีต่อสุขภาพ แต่เรื่องการออกกำลังกายนั้นกลับเป็นขั้นตอนท้ายสุดในการจัดการความรู้สึก ซึ่งควรจะดูแลเรื่องการกินอาหารหรือการหลับมากกว่า

  • ตั้งสติหน่อยสิ การที่เป็นแบบนี้มันนานเกินพอแล้ว

เมื่อคนเรากำลังอยู่ในภาวะจมดิ่งและเจ็บปวดจากการซึมเศร้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าการให้ความรู้สึกสิ้นหวังนี้จบลง ดังนั้น "การตำหนิ" หรือ "การด้อยค่า" ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำให้หายไปได้ทันที และการกระทำดังกล่าว กลับทำให้เจ้าตัวเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น

  • ฉันไม่ชอบพฤติกรรมที่เธอทำอยู่ตอนนี้เลย

การพูดถึงการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้ป่วย โรคซึมเศร้า นั้นเป็นเสมือนการตัดสินว่าเขาทำไม่ดีและไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อารมณ์ไม่ดีทวีคูณขึ้นไป รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบให้ขาดแรงจูงใจเพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

  • รู้หรือเปล่าว่ายังมีคนอื่นที่แย่กว่า

การพูดแบบนี้ เป็นอีกทางที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นการด้อยค่าด้อยปัญหาของพวกเขา ซ้ำยังเป็นการทำให้รู้สึกว่าความเจ็บปวดที่เขากำลังเจอนั้นเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือไม่มีใครมองเห็น และเป็นสาเหตุหลักที่รั้งการเปลี่ยนมุมมองของเขาล่าช้าออกไป

  • ฉันรู้ว่าตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร

คำพูดที่เหมือนจะเข้าใจแต่สุดท้ายก็ไม่เข้าใจนั้น เป็นคำพูดที่ไม่ช่วยให้เรื่องใดๆดีขึ้นมา เพราะถ้าหากไม่ได้มีอาการซึมเศร้าเช่นเดียวกัน จะไม่มีทางเข้าใจได้ว่า "ความรู้สึกซึมเศร้านั้นเป็นอย่างไร" อทนที่จะไปนั่งหาคำตอบ การเรียนรู้ที่จะรับฟังจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า

  • พยายามหน่อย แค่นี้ทำไมทำไม่ได้

การพยายามของคนธรรมดาอาจทำให้มีแรงฮึดสู้ แต่เมื่อพูดกับผู้ป่วยซึมเศร้าแล้ว กลับทำให้เจ้าตัว "หดหู่มากขึ้น ซ้ำยังรู้สึกถึงความล้มเหลวในชีวิต" ซึ่งอาจทำให้เก็บไปคิดได้ว่า หรือที่ทำมาก่อนหน้านี้ยังพยายามไม่มากพอ?

  • อย่าคิดมากเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น

คำพูดดังกล่าวไม่ได้ช่วยในการปลอบประโลม แต่กลับทำให้รู้สึกแย่ยิ่งขึ้น เพราะการคิดมากไม่ใช่สาเหตุของโรคซึมเศร้าอย่างเดียว แต่เพราะความคิดที่กำลังเผชิญอยู่มักจะมีตอนต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในทางความรู้สึกของผู้ป่วยนั้น ก็รู้สึกเช่นกันว่าอยากเลิกนิสัยคิดมาก เพียงแต่มันทำไม่ได้

  • หยุดร้องไห้ จะร้องไห้ไปทำไม

ผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ได้อยากร้องไห้ตลอดเวลา แต่เพราะการร้องไห้เป็นอีกหนทางหนึ่งในการระบาบความเศร้า ที่รู้สึกว่าอาจจะช่วยให้ดีขึ้น เพราะการร้องไห้อาจจะง่ายกว่าการต้องแก้ปัญหาที่กำลังเจออยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นการห้ามไม่ให้ร้องไห้ อาจเป็นการปิดปั้นความรู้สึกให้มากกว่าเดิมก็เป็นได้

  • ทำไมไม่กินข้าว

ผู้ป่วยซึมเศร้าหลายคนอาจมีอาการรู้สึกผิดอยู่เรื่อยๆ และทำให้เกิดความอยากอาหารลดลง ซึ่งการถามแบบดังกล่าวอาจทำให้เจ้าตัวรู้สึกแย่กว่าเดิม และอาจทำให้อารมณ์หรือความสัมพันธ์ยิ่งแย่ตามลงไปด้วย ลองทำอาหารที่ผู้ป่วยชอบอาจจะลดความเบื่ออาหารได้

  • สู้ๆนะ

เป็นหนึ่งในคำพูดให้กำลังใจที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วย เนื่องจากอาจแสดงถึงการเพิกเฉย ในทางกลับกันการรับฟังอย่างตั้งใจพร้อมค่อยๆเสนอทางแก้ อาจเป็นประโยชน์มากกว่า หากแต่ว่าถ้าไม่ได้เตรียมแนวทางไว้ก็ไม่ควรเสนออะไรให้ เพราะคำพูดเป็นดาบสองคมเสมอ

 

คำที่ควรพูด

  • อดทนไว้นะ อีกไม่นานเธอก็จะดีขึ้น
  • ไม่มีใครตั้งใจให้เรื่องร้ายๆ มันเกิดหรอก ฉันรู้ดี
  • ฉันก็ไม่รู้หรอกนะว่าเธอจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน แต่ฉันยินดีจะทำความเข้าใจ
  • พวกเราจะไม่ทิ้งเธอนะ เราจะอยู่ข้างๆ เธอ
  • มากอดกันไหม / ออกไปเดินเล่นกันไหม
  • เธอไม่ได้เป็นบ้า เธอก็แค่เศร้า
  • ฉันรักเธอ แม้เธอจะเป็นยังไง
  • เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
  • ฉันเห็นแล้วว่าเธอกำลังพยายาม มีอะไรที่ให้ฉันช่วยได้บ้าง

 

หากคุณรู้จักผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าควรพูดอะไรหรือทำอะไรเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงแค่การรับฟัง การกอดกัน หรือช่วยทำสิ่งต่างๆ อาจช่วยได้เช่นกัน

การพูดคุยอย่างอ่อนโยน เพื่อดูว่าสถานการณ์ที่อาจช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้ หากยังคงมีอาการซึมเศร้าอยู่เป็นระยะเวลานาน ถือว่าเป็นอาการร้ายแรง หรือหากมีความคิดอยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย ก็ถึงเวลาที่ต้องขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การพยายามเข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้าถือเป็นเรื่องที่ดี เพียงแค่ทำให้ผู้ป่วยได้รับรู้ถึงการพยายาม อาจทำให้เขามีแรงฮึดในการใช้ชีวิตต่อ แต่กลับกันเมื่อเรากลัวที่จะต้องรับมือกับผู้ป่วยซึมเศร้า และไม่กล้าพูดอะไรเพราะกลัวจะทำร้ายจิตใจ สิ่งนั้นอาจกลายเป็นการทำให้เขาต้องรู้สึกโดดเดี่ยวกว่าเดิมก็เป็นได้

หวังว่าเนื้อหาจากคอนเทนต์นี้ จะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่จะช่วยเหลือให้เข้าใจและพยายามดูแลผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ให้มากขึ้น