svasdssvasds

วิธีรับมือสำหรับลูกที่ต้องตกอยู่ในครอบครัว toxic parents

วิธีรับมือสำหรับลูกที่ต้องตกอยู่ในครอบครัว toxic parents

ครอบครัวไม่ได้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน พ่อแม่เป็นพิษในที่นี้หมายถึง เป็นพ่อแม่ที่เห็นแก่ตัว หลอกลวง และเฉยเมย ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบกับคนในครอบครัว

การที่ใครต้องเติบโตในสถานการณ์นี้อาจเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบากและต้องใช้เวลาใน การเยียวยารักษา การมีคู่มือไว้รับมือจะช่วยให้เรียนรู้และจัดการกับพ่อแม่ที่เป็นพิษนี้ได้ เพื่อทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจัดการความสัมพันธ์กับพ่อแม่ด้วยการแยกตัวจากพ่อแม่ กำหนดขอบเขต นอกจากนี้ เราจะต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเองและต้องไม่ลืมที่จะเรียนรู้ในการดูแลหัวใจตัวเองด้วย

วิธีแยกอารมณ์จากพ่อแม่

1.หลีกเลี่ยงการรับผิดชอบต่อความรู้สึกหรือความต้องการของพวกเขา 

ในพ่อแม่ที่เป็นพิษนี้จะชักจูงให้เราเกิดความรู้สึกผิดเพื่อให้ทำหรือให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ในฐานคนเป็นลูกจริงๆ แล้วไม่ได้มีหน้าที่แบกรับความรู้สึกนี้ เพื่อให้พวกเขาพอใจหรือเสียสละความต้องการของคุณเองเพื่อความสุขของพ่อแม่ เช่น เรากำลังทำบางอย่างอยู่แต่พ่อแม่ร้องขอให้เลิกเพื่อให้หันสนใจสิ่งที่พวกเขากำลังโกรธเคืองอารมณ์เสียอยู่ เราก็ไม่ควรรู้สึกผิดที่จะพูดกลับไปว่า “ลูกขอเวลา 10 นาที ทำสิ่งนี้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน” 

 

อดัม ดอร์เซย์ นักจิตวิทยากล่าวว่า “ลูกๆ ของพ่อแม่ที่เป็นพิษหรือหลงตัวเองมักจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแยกแยะว่า 'แม่หรือพ่อต้องการอะไร? ฉันจะทำให้พวกเขามีความสุขได้อย่างไร?’ จากการเฝ้าติดตามพ่อแม่ประเภทนี้อย่างต่อเนื่องพบว่า พวกเขามักจะมีปัญหาในการรู้ว่าตัวเองเป็นใครหรือต้องการอะไรในชีวิต”

 

Toxic Parents พ่อแม่ที่เป็นพิษสำหรับลูก

2.ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ โดยเฉพาะพ่อแม่

แม้เราต้องการให้พ่อแม่ปฏิบัติกับเราอย่างดี แต่ความจริงข้อหนึ่งคือเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใครได้ สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือเปลี่ยนแปลงตัวเอง หยุดพยายามเปลี่ยนให้พ่อแม่ เป็นแบบที่เราคาดหวัง ใช้พลังงานไปกับสิ่งที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ เช่น พ่อแม่ชอบเปรียบเทียบคะแนนกับลูกข้างบ้าน แทนที่จะโต้เถียงหรือทำให้เขาหยุดพฤติกรรมนี้ เราควรพูดคุยกับคุณครูถึงวิชาที่เรียนได้คะแนนไม่ดีและช่วยกันทุ่มเมหาทางออกเพื่อให้ได้คะแนนที่ดีขึ้นจะดีกว่า

3.อย่านำคำพูดที่ทำร้ายจิตใจมารบกวนการใช้ชีวิต

แม้คำพูดที่พ่อแม่ที่เป็นพิษจะพูดถึงคุณในแง่ลบและเลวร้ายแค่ไหน นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนเช่นนั้น ให้เตือนตัวเองว่ามันไม่ถูกต้องและบอกสิ่งที่ดีกับตัวเองแทน เช่น ถ้าพ่อแม่พูดว่า “ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าฉันมีลูกที่ขี้เกียจแบบนี้” แม้คุณจะเจ็บปวดคำพูดนี้แต่ให้ถามตัวเองสิว่า เหตุผลเบื้องหลังคืออะไร เช่น “ฉันอ่านหนังสือสอบปลายภาคมานานหลายสัปดาห์แล้ว” “ฉันทำงานอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา” หรือ “ฉันต้องการพักหลังจากที่ทุ่มเทไล่ตามเป้าหมาย” เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่าคำพูดของพวกเขาไม่ได้ถูกต้องและนิยามตัวคุณ

4.เลือกบอกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง 

เพราะพ่อแม่ที่เป็นพิษอาจใช้คำบอกเล่าของคุณมาทำร้ายคุณทีหลัง ให้คุณเลือกบอกกับคนที่คุณไว้ใจได้ เช่น เพื่อนหรือญาติ แต่ต้องแน่ใจว่าเมื่อคุณบอกไปแล้วพวกเขาจะไม่นำไปรายงานต่อกับพ่อแม่

5.วางแผนสำรองเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจ

ในกรณีที่เราอาศัยอยู่ในบ้านกับพ่อแม่หรือกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวเวลาหลายวัน เช่น หาที่ที่คุณสามารถหลบหน้าพวกเขาได้ชั่วคราว หรือ ข้ออ้างที่จะทำให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากันต่อ เคล็ดลับที่ดีข้อหนึ่งคือ ให้เราหาเพื่อนสนิท หรือ พี่น้องที่เราไว้ใจ และบอกรหัสฉุกเฉินที่รู้กันแค่สองคน เมื่อใดที่เราหยิบมาใช้จะเท่ากับต้องการความช่วยเหลือ

 

วิธีกำหนดขอบเขต   

1.ชั้นจะไม่ทำ ชั้นจะไม่ทน 

คิดทบทวน ตรวจสอบสิ่งที่พ่อแม่ที่เป็นพิษทำให้เราไม่สบายใจ ไล่เป็นรายการออกมา เพื่อกำหนดขอบเขตว่าต่อไปนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เข้าข่ายนี้อีกเราจะตอบกลับอย่างไร เมื่อพ่อแม่ที่เป็นพิษล้ำเส้น เช่น “พวกคุณไม่สามารถตะคอกใส่ฉันแบบนี้ได้” หรือ “ถ้าคุณเมาจะโทรมาระราน ด่าทอฉันไม่ได้” ถ้าในกรณีที่ พ่อแม่เหล่านี้ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่คุณ หรือ ไม่ทำตามกติกาขอบเขตของคุณ ควรพูดคุยกับคนที่สามารถช่วยเหลือคุณได้ เช่น ครูที่ปรึกษาที่โรงเรียน หรือ ญาติที่ไว้ใจได้ 

2.บอกขอบเขตของคุณแก่พ่อแม่

เมื่อมีรายการที่คุณต้องการขอบเขตส่วนตัวกับพ่อแม่ที่เป็นพิษเหล่านี้แล้ว หลังจากนั้นต้องนั่งจับเข่าคุยกันถึงความคาดหวังที่คุณต้องการจะได้รับและการกระทำที่ยอมรับไม่ได้จากพ่อแม่ และอธิบายเหตุผล หรือความรู้สึกออกไปอย่างชัดเจน เช่น “เมื่อพวกคุณตะโกนใส่ฉัน มันทำร้ายความรู้สึกของฉันและทำให้ฉันหวาดกลัว จากนี้ถ้ามีการตะโกน หรือตะคอกกันอีก ฉันจะล็อคตัวในห้องและใส่หูฟัง”

3.นำขอบเขตที่ตั้งไว้มาปฏิบัติจริง

ถ้าพ่อแม่ที่เป็นพิษละเมิดขอบเขตที่คุณตั้งไว้ในบางครั้งก็ต้องแสดงให้ชัดเจนว่าคุณจริงจังกับเส้นที่คุณตีไว้ เช่น ถ้าเคยบอกไปแล้วว่าห้ามโทรหาเวลาเมา แล้วยังทำอยู่ก็ให้ตัดสายทิ้งทันทีที่สังเกตเสียงได้ว่าดื่มแอลกอฮอล์อยู่

4.ติดต่อญาติหรือคนที่มีอำนาจจัดการเมื่อเกิดการใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้รวมถึง การทำร้ายทางวาจาและร่างกาย ถ้าพ่อแม่มาลงอารมณ์ที่คุณหรือไม่ยอมให้คุณอยู่ตามลำพัง ให้หาที่ปลอดภัยเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือทันที

5.เว้นระยะห่างจากพ่อแม่ที่เป็นพิษ

การหนีออกไปชั่วคราวจากพ่อแม่ที่เป็นพิษอาจช่วยให้รักษาและเยียวยาตัวเองได้ การบล็อกการติดต่อหรือช่องทางโซเซียล เพื่อให้เวลากับตัวเองในการผ่อนคลาย ถอนพิษจากเหตุการณ์ที่ประสบมาเพื่อฟื้นฟูรักษาตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งก็เป็นเรื่องที่จำเป็นในบางครั้ง

 

วิธีทำงานกับความรู้สึก

1.ปล่อยตัวเองให้เสียใจ 

ให้เวลาตัวเองเสียใจมากเท่าที่คุณต้องการ อย่าไปกำหนดว่าชั้นจะเศร้าได้ถึงเวลานี้แล้วจะต้องดีขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่ยากจะรับมือ เมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณให้ปลดปล่อยความรู้สึกออกมา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า โกรธ ก็ตาม ระบายออกมาเป็นการจดบันทึกหรือโทรหาเพื่อนคนที่ไว้ใจเพื่อรับปัญหาและช่วยหาทางออก ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ควรปรึกษากับนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญ 

2.ให้อภัยพ่อแม่เมื่อพร้อม 

การอภัยเป็นเครื่องมือที่คุณมีในมือ เมื่อใดที่พร้อมและสามารถยอมรับได้ว่าพ่อแม่ของเราก็เป็นมนุษย์ ที่ทำผิดพลาดได้ แม้อดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้แต่การให้อภัยจะช่วยให้คุณปล่อยวางและสามารถมองไปข้างหน้าที่สดใสกว่าได้โดยไม่รู้สึกต้องแบกความรู้สึกจากเหตุการณ์เลวร้ายนี้ไปด้วย ตัวอย่างที่คำพูดนี้อาจจะเป็น “ฉันยกโทษให้คุณสำหรับอดีต ในอนาคตฉันหวังว่าความสัมพันธ์ของเราจะดีขึ้น” ไม่จำเป็นต้องบอกกันซึ่งหน้า สามารถเขียนเป็นจดหมายหรือบันทึกเก็บไว้เองส่วนตัว 

3.รับคำปรึกษากับนักบำบัด 

เพื่อจัดการความรู้สึกและเรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ นักบำบัดจะช่วยระบุความรู้สึกที่เกิดขึ้นและปลดปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นออกไป ชี้แนะแนวทางที่จะช่วยพัฒนาชีวิตของคุณและวิธีรับมือกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะการจัดการกับพ่อแม่ในอนาคตได้ดีขึ้น ถ้ามีโอกาสให้คุณเลือกนักบำบัดที่มีประสบการณ์จัดการกับการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่เป็นพิษโดยเฉพาะ

 

วิธีดูแลตัวเอง 

1.การดูแลตัวเองอย่างแท้จริง

หมายถึงการใส่ใจความต้องการและปฏิบัติกับคำร้องขอนั้นด้วยความเคารพ เพื่อตอบสนองความต้องการนั้น หากิจกรรมเพื่อช่วยผ่อนคลาย ออกกำลังกายประจำ กินอาหารมีประโยชน์ ทำความสะอาดห้องและบ้านสม่ำเสมอ และอย่าลืมทำสิ่งที่ดีให้ตัวเอง เช่น ดื่มกาแฟร้านที่ชอบ แช่ตัวในอ่างอาบน้ำ หรือ ดูซีรี่ย์เรื่องโปรด สุขอนามัยส่วนตัวก็สำคัญไม่แพ้กัน 

2.จัดการความเครียด 

การรับมือกับพ่อแม่ ที่เป็นพิษอาจทำให้เพิ่มความเครียดทีคุณมีจากการเรียนหรือการทำงาน ควรนึกถึงสิ่งที่ช่วยทำให้อารมรณ์ของคุณผ่อนคลายและรู้สึกดีขึ้น จะทำให้เราสนุกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น และป้องกันอารมณ์ให้แข็งแกร่ง เช่น ทำสมาธิเป็นเวลา 10 นาที เขียนบันทึก เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำงานศิลปะ หรือ เครื่องหอมอโรม่า

3.ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ 

คุณไม่มีหน้าที่รับผิดชอบความคาดหวังของพ่อแม่ในสิ่งที่พวกเขาอยากให้คุณเป็น คุณมีสิทธิตัดสินใจทางเดินชีวิตตัวเอง ตั้งเป้าหมายให้ชัดและทำให้สำเร็จ พัฒนาชีวิตให้ดีเพื่อตัวเอง แม้ว่าเมื่อเติบโตขึ้นและเผชิญกับการเปลี่นแปลงก็ขอให้หมั่นทบทวน ตรวจสอบตัวเองบ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความสุขกับเส้นทางที่เลือกนี้ 

4.พูดคุยกับคนที่เคยประสบกับพ่อแม่ที่เป็นพิษ 

จะช่วยให้ได้รับแรงสนับสนุนและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คุณได้แชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รับฟังคำแนะนำหรือแนวทางการรับมือที่ได้ผลมาแล้วปรับใช้กับสถานการณ์ของคุณเองตามความเหมาะสม เพราะไม่ง่ายเลยที่จะบอกเล่าประสบการณ์ที่คุณเจอมากับคนที่ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์ใกล้เคียงกันนี้มาก่อน เพราะพวกเขาจะไม่เข้าใจว่าคุณต้องเผชิญกับอะไรและอาจจะบอกกลับมาด้วยประโยคว่า “เธอยังเป็นแม่หรือพ่อของคุณอยู่” ยิ่งจะทำให้คุณรู้สึกผิดกับตัวเอง

 

เราไม่จำเป็นต้องทนอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองไม่มีความสุขหรือเป็นอันตรายเพียงเพราะมีความเชื่อที่ว่าคนเป็นลูกต้องไม่ตอบโต้หรือขัดใจคนเป็นพ่อแม่ เพราะนอกจากจะเป็นการบั่นทอนความรู้สึกให้แย่ลงเรื่อยๆ ยังเป็นการสร้างบาดแผลระยะยาวที่สืบเนื่องต่อไปยังครอบครัวในอนาคตที่คุณวางแผนจะมีต่อไปได้ เพราะปมในใจมันได้ฝังตัวลงไปกลายเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหนังและวิธีคิดของคุณไปแล้ว การเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้จึงไม่ถือว่าเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหนีปัญหาแต่เป็นการเยียวยาและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เราเพื่อให้มีแนวทางที่จะสามารถหยิบใช้ได้เมื่อเกิดเหตุ 

ที่มา

https://www.wikihow.com/Deal-with-Toxic-Parents