svasdssvasds

9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

เปิด 9 สัญญาณเตือนภัยเบื้องต้น ก่อนเกิดอาการ “โรคซึมเศร้า” เพื่อการดูแลตัวเองและคนที่คุณรักได้อย่างถูกต้อง

โรคซึมเศร้านับเป็นภัยเงียบใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหมั่นสังเกตุจับสัญญาณร่างกาย อารมณ์ รวมถึงจิตใจ เพื่อจะได้ดูแลตัวเองและคนที่คุณรักได้อย่างถูกต้อง พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลพญาไท กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเปรียบเหมือนโรคมะเร็งเกาะกินใจ เกาะกินอารมณ์  ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งที่ฉันเคยสุขมากมาย ตอนนี้ฉันกลับจำมันไม่ได้แล้ว โรคซึมเศร้ามันมองไม่เห็นแต่ร้ายกาจ มันจะโหดร้ายกว่าคำว่าเศร้าที่เรารู้จักกัน

หากคุณไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ ให้สังเกต 9 สัญญาณเตือนเบื้องต้นเหล่านี้

1.อาการเบื่อซึมไม่อยากทำอะไร

2.เศร้าท้อแท้ไม่สบายใจ

3. หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือ หลับเยอะเกินไป

4.เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง

5.คิดอยากทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากตาย

6.ทำอะไรช้าลง หรือกระสับกระส่ายไม่นิ่ง

7.ไม่มีสมาธิทำอะไร

8.เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป

9. รู้สึกไม่ดีกับตนเอง คิดว่าตนเองล้มเหลว ทำให้คนรอบตัวผิดหวัง

ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้หลายข้อ เป็นติดต่อกันทุกวันมากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียดอีกครั้ง หากได้รับการวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ ต้องยอมรับให้ได้ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยาร่วมกันกับการรักษาทางจิตใจ

9 สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพ (Health Data Center - HDC) กระทรวงสาธารณสุขเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต เผยสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้าถึงบริการ ปีงบประมาณ 2562 พบว่า จังหวัดที่เข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในพื้นที่สูงที่สุด 5 อันดับแรกในประเทศไทย คือ อ่างทอง  ร้อยละ 130.32 สิงห์บุรี ร้อยละ 128.67 แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 117.92 อุทัยธานี ร้อยละ 116.69 และ ลำพูน ร้อยละ 109.40 ถ้าเทียบกับข้อมูลปีที่แล้ว ในปีนี้มีผู้เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนหน้าพอสมควร

เมื่อได้รับการหมอวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้า แพทย์จะพูดคุยรับฟังพร้อมประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกับการใช้ยาที่ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 2-4 สัปดาห์ เพราะยามีหลากหลายกลุ่ม อาจตอบสนองช้าเร็วไม่เท่ากัน และข้อสำคัญคือ ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าแพทย์จะบอกให้หยุดยาได้ แม้รู้สึกดีขึ้นแต่ยาบางตัวต้องค่อยๆ ลดขนาดลงเพื่อให้โอกาสร่างกายได้ปรับตัว

นอกจากผู้ป่วยที่อดทนและสู้อย่างถึงที่สุดแล้ว คนใกล้ชิดเช่นคนในครอบครัวก็ต้องอดทนเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยให้ระวังความคิดไม่คาดหวังกับคนอื่นจนมากจนเกินไป ดูแลตนเองโดยฟังเรื่องเศร้าให้เป็น นั่นคือฟังแต่ไม่ไปทุกข์ด้วย ฟังแล้ววางไว้ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปแก้ทุกอย่าง ส่วนคนใกล้ชิดอย่ายัดเยียดให้โดยเอาธรรมะเข้าไปใส่ ทุกความช่วยเหลือจำเป็นต้องรอให้ผู้ป่วยพร้อมด้วย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รบเร้า โดยจับสัญญาณหลังจากผู้ป่วยรับการบำบัดแล้วระยะหนึ่ง รอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทิศทางที่ดีก่อนจึงจะดีที่สุด

หลังจากที่ไม่มีอาการซึมเศร้าให้เห็นแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ คอยเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งร้อยละ 50 - 75 ของผู้ป่วยเป็นมากกว่าหนึ่งครั้ง ในผู้ป่วยที่เป็นมากกว่า 2 ครั้งอาจต้องกินยาป้องกันระยะยาวหลายๆ ปี

หากอยากรู้ว่าเราเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ลองไปทำแบบสำรวจประเมินโรคซึมเศร้าเบื้องต้นจากกรมสุขภาพจิตดูได้ หากผลประเมินสูงก็ควรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด