svasdssvasds

เตือนให้ระวังอันตรายจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชา

เตือนให้ระวังอันตรายจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชา

กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนให้ระวังอันตรายจากขนมผสมกัญชา แนะผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในประเทศไทย กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  เป็นพืชที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่า 750 ชนิด สารสำคัญที่พบมากคือ THC และ CBD ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาท

THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์เสพติด โดยสาร THC จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วและเข้าสู่สมอง เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3  นาที และออกฤทธิ์นานถึง 3-5 ชั่วโมง ปัจจุบันในต่างประเทศนิยมนำสาร THC มาผสมในอาหารหรือขนมอย่างถูกกฎหมาย เช่น เยลลี่ ลูกอม ช็อกโกแลต ฯลฯ แต่สำหรับประเทศไทยกัญชายังเป็นยาเสพติด แต่ได้มีการปรับกฎหมายเพื่อผ่อนปรนให้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น ดังนั้น การผลิต นำเข้า ครอบครอง หรือใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหากไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะมีความผิดตามกฎหมาย

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า เยลลี่กัญชา เป็นที่นิยมในประเทศที่สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อนันทนาการ แต่สำหรับประเทศไทยถือว่ายังผิดกฎหมายอยู่ เยลลี่กัญชา หรือ เยลลี่เมา มีส่วนผสมหลักคือกัญชาที่มีสาร THC อยู่ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารอันตรายออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์เสพติด เยลลี่กัญชาออกแบบให้มีสีสันสดใสน่ารับประทานจึงเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นเพื่อทำให้ผ่อนคลาย เคลิ้มสุข ล่องลอย ลดอาการเครียด และอารมณ์ดี แต่หากรับประทานในปริมาณที่มาก หรือในผู้ที่ไม่เคยใช้มาก่อนจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว อาเจียน มึนงง ตาพร่า กล้ามเนื้อไม่มีแรงจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

นอกจากนี้ กัญชา และ THC ยังมีผสมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต คุกกี้ บราวนี่ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบครีมทาผิว หากบริโภคหรือใช้บ่อยครั้งจะทำให้เสพติด จึงขอฝากย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงผู้ที่จะทดลองรับประทานหรือใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาให้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบต่อตนเองให้มาก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานรวมถึงบุคคลใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงควรพูดคุย บอกกล่าวถึงอันตรายและผลกระทบที่จะตามมา

หากประสบปัญหาเกี่ยวยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สบยช.

 

related