svasdssvasds

บริจาคอวัยวะ สานต่อการให้ที่ไม่สิ้นสุด

บริจาคอวัยวะ สานต่อการให้ที่ไม่สิ้นสุด

แต่ละปี คาดว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในเกณฑ์การบริจาคอวัยวะได้เกือบพันคน รวมทั้งมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ยังคงน้อยกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็น และอุปสรรคสำคัญ คือการขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ

นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอคอยการบริจาคอวัยวะในปี 2562 อยู่ 5,898 คน 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยที่รอ “ไต” ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ขาดแคลนที่สุด รองลงมาคือผู้รอตับ ส่วนที่เหลือรอหัวใจ ปอด ตับอ่อน ตามลำดับ ในหลายปีที่ผ่านมา มีผู้มาแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเฉลี่ยปีละ 40,000-50,000 คน ปี 2560 เพิ่มมากขึ้นเป็น 89,636 คน ปี 2561 มีจำนวน 100,014 คน และในปี 2562 นับถึงสิ้นเดือนตุลาคมมีจำนวน 86,383 คน

ยอดผู้บริจาคที่เสียชีวิตและสามารถนำอวัยวะไปใช้ได้ ปี 2560 มีจำนวน 294 คน ปี 2561 จนถึงเดือนตุลาคมปี 2562 มีผู้บริจาคแล้ว 246 คน ซึ่งมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวน 577 คน และจากช่วงเวลานี้จนถึงปลายปี 2562 คาดว่าน่าจะมีผู้บริจาคครบตามเป้า 300 คนต่อปี สภากาชาดไทยจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

[caption id="attachment_583094" align="alignnone" width="840"] บริจาคอวัยวะ สานต่อการให้ที่ไม่สิ้นสุด นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย[/caption]

นายแพทย์ สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ยังให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึงให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการให้ อันเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ขั้นตอนต่างๆ จากผู้ให้ส่งถึงมือผู้รับ

เริ่มต้นจากมีผู้ที่อาจจะบริจาคอวัยวะได้ ในที่นี้คือคนไข้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุสมองตาย ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุ คนไข้จะอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่อยู่ในไอซียู อยู่ในเครื่องช่วยหายใจเพราะคนไข้หายใจเองไม่ได้ ถ้าเกิดว่าไม่มีข้อห้ามในการบริจาคอวัยวะ รวมถึงแพทย์ผู้ดูแลวินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในภาวะสมองตายแล้ว ก็คือเสียชีวิตแล้ว ก็จะขอการยินยอมบริจาคอวัยวะจากญาติ หากญาติยินยอมก็จะแจ้งไปที่สภากาชาดไทยว่ามีผู้บริจาคอวัยวะ

จากนั้น ทางสภากาชาดก็จะทำหน้าที่ประสานงานกับโรงพยาบาลซึ่งมีผู้รอรับอวัยวะ จัดส่งทีมไปทำการผ่าตัดนำอวัยวะออกที่โรงพยาบาลที่มีผู้บริจาค แล้วรีบนำอวัยวะนั้นกลับมาปลูกถ่ายกับคนที่รอ กระบวนการนี้จำเป็นต้องรีบทำ เพราะหลังจากที่นำอวัยวะออกมาแล้วจะเกิดการขาดเลือด อวัยวะต่างๆ ก็จะมีระยะเวลาการขาดเลือดไม่เท่ากัน อย่าง หัวใจจำเป็นต้องให้หัวใจเต้นใหม่อีกครั้งภายใน 4- 6 ชั่วโมง ไม่งั้นหัวใจใหม่ที่นำไปปลูกถ่ายจะไม่เต้น ตับอาจรอได้ 10-12 ชั่วโมง ส่วนไตมีระยะเวลาประมาณไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมง

สำหรับอวัยวะนั้นไม่มีธนาคารเก็บ ไม่สามารถรักษาไว้ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบทำงาน นำออกมาแล้วก็ต้องรีบใส่เข้าไป หลังจากที่นำอวัยวะออกมาแล้ว ร่างของผู้บริจาคก็จะเย็บปิดอย่างเรียบร้อย ญาติสามารถนำร่างไปบำเพ็ญกุศลต่อที่บ้านหรือที่วัดต่อไปได้ ซึ่งทางสภากาชาดไทยจะช่วยอำนวยความสะดวกโดยการหารถจัดส่งร่าง รวมถึงมอบพวงหรีดและประกาศนียบัตรเชิดชูความดีให้กับญาติของผู้เสียชีวิตด้วย นอกจากนั้นทายาทของผู้เสียชีวิต 1 คน จะได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสภากาชาดไทย ได้รับส่วนลดค่ารักษาพยาบาลและเป็นผู้ป่วยในลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล 50 เปอร์เซ็นต์ รับจากพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพฯ โดยหลังจากที่โรงพยาบาลรับอวัยวะไปปลูกถ่ายเสร็จแล้ว ทางโรงพยาบาลจะแจ้งผลการปลูกถ่ายอวัยวะกลับมาที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

กฎหลักสำหรับผู้บริจาคและรับบริจาคเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งสองฝ่าย คือ เราไม่ทราบว่าตัวผู้รับบริจาคยินดีจะเจอกับผู้ให้หรือไม่ และผู้ให้อยากรู้จักหรืออยากเจอกับผู้รับหรือไม่ จึงจำเป็นต้องปิดข้อมูลเป็นความลับ ผู้ให้จะไม่รู้ว่านำอวัยวะไปให้แก่ใคร และผู้รับก็จะไม่ทราบว่าผู้ให้อวัยวะเป็นใครเช่นกัน สภากาชาดเกรงกลัวว่าหากได้เจอกัน อาจจะเกิดปฏิกริยาบางอย่างที่คาดไม่ถึงได้ ซึ่งอาจเป็นไปในแง่ลบ เกิดความรู้สึกในทางไม่ดี ฉะนั้นจึงได้แนะนำผู้ที่รับอวัยวะไปว่า หากเขาอยากทำบุญให้กับผู้บริจาค ให้ตั้งจิตอธิษฐานถึง และหากอยากฝากข้อความ ทางสภากาชาดจะรับเป็นสื่อกลางฝากไปให้ได้ แต่จะไม่ให้ข้อมูลโดยเด็ดขาดว่าอวัยวะนั้นได้มาจากใคร ซึ่งในต่างประเทศเคยเกิดเหตุมาแล้ว

ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดในต่างประเทศ เช่น ผู้รับและผู้บริจาคคือคนละเชื้อชาติกัน เราไม่ทราบว่าผู้รับบริจาคเขามีความคิดเห็นอย่างไรในแง่ชาติพันธุ์ หรือ การนำอวัยวะคนอายุน้อยไปให้กับคนอายุมาก อย่าง อวัยวะคนอายุ 18 ไปอยู่ในผู้รับอายุ 60 อาจทำให้ญาติผู้บริจาคเกิดความรู้สึกเสียดายขึ้นมาได้ อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ รู้ว่าอวัยวะลูกตนเองไปอยู่ที่คนๆ นั้นก็เพียรตามไปดู นำของขวัญไปให้ ไปเยี่ยมตลอดเวลา จนคนรับรู้สึกลำบากใจ จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่สภากาชาดมองว่าผู้รับก็มีชีวิตของเขา ไม่อยากให้ไปรบกวนสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น จึงได้ตั้งใจปิดเป็นความลับทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ว่านี้ขึ้นมาในอนาคต

สภากาชาดมองว่านี่คือการช่วยชีวิต ไม่ได้จัดสรรอวัยวะโดยแยกอายุ เพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา สภากาชาดเราดูเพียงความเข้ากันได้ของอวัยวะ เนื้อเยื่อต่างๆ ความเร่งด่วน ความจำเป็นของคนไข้เป็นหลัก

บริจาคอวัยวะ สานต่อการให้ที่ไม่สิ้นสุด

นายแพทย์ สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

หากบริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่แล้วสามารถบริจาคอวัยวะได้อีกหรือไม่

บริจาคเป็นอาจารย์ใหญ่ คือ เมื่อเสียชีวิต อาจเป็นเสียชีวิตตามอายุขัยปกติทั่วไป ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาไปเรียนกายวิภาค อีกชนิดหนึ่งก็คือเป็นร่างไปให้แพทย์ฝึกผ่าตัด นี่จึงเรียกว่าอาจารย์ใหญ่

จริงๆ แล้วสามารถบริจาคทั้งสองอย่างได้ เพราะเราไม่ทราบว่าตนเองจะเสียชีวิตแบบไหน ถ้าเราเสียชีวิตแบบสมองตายแล้วอวัยวะเราไม่มีข้อห้ามสามารถนำไปปลูกถ่ายได้ ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ไปบริจาคอวัยวะ ซึ่งการเสียชีวิตจากสมองตายแล้วนำอวัยวะไปใช้ได้ มันเกิดขึ้นได้น้อยมาก เป็นเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุแกนสมองถูกทำลายไม่มีโอกาสฟื้นได้อีกแล้ว

ทัศนคติด้านความเชื่อในการบริจาคอวัยวะของสังคม

ทัศนคติในแง่ที่ว่าบริจาคไปแล้วอวัยวะจะไม่ครบในชาติหน้า หรือเป็นการแช่งตนเองนั้น เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่ได้ฟังเรื่องการบริจาคอวัยวะมานานแล้วจึงมีความเข้าใจที่ดีขึ้น เพราะศูนย์รับบริจาคอวัยวะก่อตั้งมา 25 ปีแล้ว การปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทยทำมาตั้งแต่ปี 2515 ฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะมีความเข้าใจ แต่แน่นอนว่าอาจมีคนที่ไม่เคยได้ยิน และยังคงเข้าใจผิดอยู่เช่นกัน

ในอนาคต โรคที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลายเป็นคนอายุยืนขึ้น การติดเชื้อต่างๆ น้อยลง เป็นโรคเรื้อรังจนนำไปสู่อวัยวะล้มเหลว เลยจำเป็นต้องการการเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งอวัยวะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะสังเคราะห์สร้างขึ้นมาได้ ต้องมาจากมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น จึงต้องมาจากการบริจาคเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ได้

ปัจจุบัน หากใครสนใจอยากบริจาคอวัยวะ สามารถบริจาคผ่านแอปพลิเคชันได้แล้ว โดยค้นหาในชื่อ “บริจาคอวัยวะ” แล้วกรอกข้อมูลแสดงความจำนงบริจาคให้ครบตามขั้นตอน หลังจากนั้นระบบจะส่ง sms และ email แจ้งผู้แสดงความจำนงและญาติผู้บริจาคอวัยวะต่อไป โดยเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริจาคอวัยวะ

อย่างที่รู้กันว่ากระบวนการการปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำงานแข่งกับเวลา ทางไทยสมายล์จึงเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือรับทำหน้าที่ขนส่งอวัยวะจากผู้ให้สู่ผู้รับ โดยสำรองที่นั่งพิเศษให้กับทีมแพทย์ของศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยในการปฏิบัติภารกิจ รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายความคิดเรื่องการให้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการทำภาพยนตร์โฆษณาขึ้น หวังสร้างการรับรู้และรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการบริจาคอวัยวะอีกด้วย

บริจาคอวัยวะ สานต่อการให้ที่ไม่สิ้นสุด

[caption id="attachment_583104" align="alignnone" width="840"] บริจาคอวัยวะ สานต่อการให้ที่ไม่สิ้นสุด นภ พรชำนิ และ พิม ฐิติยากร ผู้ขับร้องเพลงภาพยนตร์โฆษณา แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร[/caption]

related