svasdssvasds

ฝึกคิดบวกต้อนรับปีใหม่ด้วยเคล็ดลับ 4 ข้อ

ฝึกคิดบวกต้อนรับปีใหม่ด้วยเคล็ดลับ 4 ข้อ

การพัฒนาความคิดบวกเป็นเรื่องที่ใช้เวลา และต้องมีความมุ่งมั่นสูง ที่สำคัญคือ ต้องมีสติอยู่เสมอ แต่ผลที่ได้จากความคิดบวก ก็มีประโยชน์ทั้งทางร่างกายและจิตใจของคุณ มาเริ่มต้นพัฒนาความคิดบวกในช่วงปีใหม่นี้กัน

หลายคนใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการเลิกนิสัยที่คิดว่าไม่ดีกับร่างกายและจิตใจ และพัฒนานิสัยใหม่ๆ ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น การปรับเปลี่ยนนิสัยที่เป็นพื้นฐานมากที่สุด และอาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ได้แก่การปรับเปลี่ยนความคิดให้เป็นเชิงบวกมากขึ้น การคิดบวกและการมองโลกในแง่ดี เป็นความชำนาญที่สามารถฝึกฝนได้เช่นเดียวกับนิสัยอื่นๆ

การคิดบวกมีประโยชน์มากต่อร่างกาย และช่วยลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า และทำให้อายุยืน มีผลงานวิจัยที่บอกว่า การคิดบวกมีผลต่อภูมิคุ้มกันโรค เช่นโรคหวัดธรรมดาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราพูดคำว่าคิดบวกกันจนเกร่อไปหมด แท้จริงแล้ว การคิดบวกมีความหมายอย่างไรกันแน่

การคิดบวก ไม่ได้หมายถึงการไม่ยอมมองโลกตามความเป็นจริง หรือการใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์เสมอไป แท้จริงแล้ว การคิดบวกเป็นกระบวนการเชิงความคิด ที่เข้าถึงชีวิตด้วยวิธีที่มั่นใจและมีผลทางบวกมากขึ้น คำกล่าวที่ว่า คนสองคนมองแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วอย่างไร บางคนมองว่าน้ำเต็มครึ่งแก้ว บางคนมองว่าน้ำมีอยู่แค่ครึ่งแก้วเท่านั้น ในสถานการณ์เดียวกัน คนสองคนรับรู้ต่างกันโดยสิ้นเชิง การคิดบวก หมายถึงการมองสถานการณ์ที่เป็นบวก มากกว่าจะมุ่งเน้นไปที่ด้านลบแต่เพียงอย่างเดียว

การคิดบวกเริ่มต้นที่การสังเกตสิ่งที่เราคุยกับตัวเอง

การคุยกับตัวเอง หมายถึงความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวเราอย่างต่อเนื่อง ในหลายครั้ง การคุยกับตัวเองสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ และประมวลผลประสบการณ์ที่เราพบในชีวิตประจำวัน การคิดบวกจะช่วยให้เราถอยออกมาหนึ่งก้าว รู้จักวางความกลัวลง และสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

แต่อย่างที่เราหลายคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า การคุยกับตัวเองสามารถนำไปสู่ความกังวลใจอย่างรุนแรงและลดความเชื่อมั่นในตัวเองได้ด้วยเช่นกัน ความคิดเชิงลบที่พูดขึ้นมา เช่นฉันไม่ดีพอ หรือฉันล้มเหลว อาจกลายเป็นผลกระทบที่อันตราย และทำให้เราไม่สามารถเดินหน้าต่อได้

การปรับความคิดเชิงลบ และแทนที่ด้วยความคิดเชิงบวก ไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการพูดคุยกับตัวเองในเชิงบวกผ่านความคิดในแต่ละวัน ก็ช่วยให้เราสามารถนำความคิดเชิงบวกที่ทำจนเป็นนิสัย มาแทนที่รูปแบบความคิดเชิงลบได้

ในบางกรณีที่รุนแรงขึ้น คนที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรคช่างกังวล มักพบว่าการคุยกับตัวเองอาจกลายเป็นอันตราย ที่ทำให้วิธีการมองชีวิตของเขาบิดเบี้ยวไป ดังนั้น สำหรับคนที่คุยกับตัวเองแล้วได้รับผลเชิงลบในระดับนี้ ควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างเช่น นักบำบัดด้านการรับรู้ โดยเร็วที่สุด

เริ่มต้นวันใหม่ด้วยข้อความเชิงบวก

องค์ดาไลลามะตรัสไว้ว่า ความคิดเชิงบวกในตอนเช้า แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำให้ทั้งวันกลายเป็นวันที่ดีได้ การใช้เวลาสั้นๆ ในช่วงเริ่มต้นวันด้วยข้อความเชิงบวก เป็นการตั้งเจตนารมณ์ของช่วงวันที่เหลือ แต่ข้อความเชิงบวกหมายถึงอะไรกันแน่

ข้อความเชิงบวก หมายถึงข้อความที่มีการพูดหรือเขียนซ้ำๆ กัน เป็นข้อความที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และมองโลกในแง่ดี จงใช้เวลาไม่กี่นาทีของทุกเช้า เพื่อเอ่ยข้อความเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเอง 5 ข้อความ ข้อความเหล่านี้ควรเป็นข้อความปัจจุบัน มีคำเชิงบวก และเป็นความจริงหรือข้อเท็จจริง ตัวอย่างเช่น ฉันดีพอ ฉันสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ฉันมีความมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับความกลัว ฉันเชื่อมั่นว่าตัวเองตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง หรือฉันมีสุขภาพดีและมีความสุข

ลองพูดแต่ละประโยค 3 ครั้งก่อนที่จะพูดประโยคถัดไป การทำเช่นนี้ซ้ำกันจะค่อยๆ พัฒนานิสัยของการคิดบวกได้อย่างช้าๆ

หาเวลานั่งสมาธิทุกวัน

สำหรับหลายคน ความคิดที่จะนั่งสมาธิในช่วงเวลาที่แสนจะยุ่งเหยิง ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างไรก็ตาม การนั่งสมาธิ ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องนั่งอย่างสงบในช่วงเวลา 7 วันในอาศรมที่ประเทศเนปาล มีงานวิจัยที่เปิดเผยว่า การนั่งสมาธิเพียง 10 นาที ช่วยให้หายจากความเครียดและปรับความคิดเชิงลบให้กลับมาเป็นความคิดบวกได้

ยิ่งตอนนี้ มีแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเริ่มต้นการนั่งสมาธิได้เป็นอย่างดี จงหาเวลาในแต่ละวัน เช่นช่วงเวลาก่อนนอน มาฝึกสมาธิ เพื่อช่วยลดความกังวลใจลง

วิเคราะห์เจาะลึกถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดเชิงลบ

การคิดบวก ไม่ได้แปลว่าเราผลักไสความคิดเชิงลบและกดอารมณ์ต่างๆลงไปไว้เบื้องล่าง รูปแบบความคิดเชิงลบ เป็นสิ่งที่ช่วยเปิดเผยประเด็นในจิตใจของเราที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้เรารู้ว่าจะเยียวยาทางอารมณ์ตรงไหนบ้าง

คุณเคยสังเกตพบอารมณ์สงสัยในความเป็นตัวเองโผล่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อคุณเจอกับสถานการณ์หรือบุคคลที่เป็นตัวกระตุ้นให้คุณคุยกับตัวเองในเชิงลบ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่บ่งบอกว่า ชีวิตของคุณต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงตรงไหนบ้าง

related