"เมื่อความสำเร็จของลูกสาวกลายเป็นภัยต่อศักดิ์ศรีของพ่อ: โศกนาฏกรรมในอินเดียที่สะท้อนอคติทางเพศและค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ยังไม่จางหาย"
เมื่อไม่นานมานี้ในอินเดีย เกิดเรื่องสุดช็อกเมื่ออดีตนักเทนนิสสาวชาวอินเดียคนหนึ่ง ถูกผู้เป็นพ่อแท้ ๆ ลั่นไกสังหาร เพียงเพราะชีวิตของเธอประสบความสำเร็จมากกว่าผู้เป็นพ่อ
ราธิกา ยาดาฟ (Radhika Yadav) อดีตนักเทนนิสสาววัย 25 ปีจากรัฐหรยาณา ที่เคยประสบความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติ ก่อนจะผันตัวมาเป็นโค้ชเทนนิสและอินฟลูเอนเซอร์หลังบาดเจ็บ ด้วยบุคลิกโดดเด่นและมีรายได้ดี เธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ความสำเร็จนี้กลับสร้างความไม่พอใจให้กับพ่อของเธอที่ยึดถือค่านิยมชายเป็นใหญ่ และรู้สึกอับอายเมื่อถูกชาวบ้านเย้ยหยันว่าให้ลูกสาวหาเลี้ยง
ความขัดแยกระหว่างพ่อลูกยิ่งรุนแรงเมื่อราธิกาไม่ยอมทำตามคำสั่งให้เลิกอาชีพและปิดโซเชียล ทั้งที่เธอยืนยันว่าจะไม่ทำให้เสื่อมเสีย วันหนึ่งขณะที่เธอกำลังทำอาหาร พ่อของเธอก็ใช้ปืนยิงเธอเสียชีวิตในครัวของบ้านตัวเอง แม้จะรับสารภาพในตอนแรก แต่ภายหลังกลับปฏิเสธและไม่ให้ความร่วมมือ ขณะที่ครอบครัวกลับออกมาปกป้องพ่อ โดยอ้างว่าเขาทุ่มเทให้ลูกมาตลอด
คดีนี้สะท้อนปัญหารากลึกของค่านิยมปิตาธิปไตยในสังคมอินเดีย ที่ยังมองว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ และการที่ลูกสาวมีอิสรภาพหรือหารายได้ด้วยตัวเองกลับถูกมองว่าเป็นภัยต่อเกียรติยศของครอบครัว
เพราะสังคมอินเดียให้ความสำคัญและคุณค่ากับลูกชายมากกว่า เพราะมุมมองทางสังคม เชิงวัฒนธรรม และศาสนา กำหนดให้บุตรชายมีความสำคัญในด้านการประกอบพิธีกรรม ฝังศพ และการดูแลผู้สูงอายุ ในขณะที่ลูกสาวมักถูกมองว่าเป็นภาระ เพราะต้องเสียค่าสินสอด จำนวนมากเมื่อแต่งงาน และเมื่อลูกสาวแต่งออกไป ก็จะกลายเป็นสมาชิกของครอบครัวสามี ไม่ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ของตนเองในยามชรา
ผลที่ตามมาคือการทำแท้งเลือกเพศยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม รายงานระบุว่าอินเดียมีการทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงลูกผู้หญิงถึงหนึ่งล้านรายต่อปี และในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศนี้สูญเสีย “ผู้หญิง” ที่ควรจะเกิดขึ้นมากกว่า 40 ล้านคนจากความลำเอียงนี้
.
ยิ่งไปกว่านั้น เด็กหญิงที่เกิดมาก็ยังเผชิญความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและการศึกษา พวกเธอมีโอกาสเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบมากกว่าเด็กชายถึง 11% และมีแนวโน้มไม่ได้รับการศึกษาในระดับประถมมากกว่าถึง 42% โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังคงยึดถือระบบชายเป็นใหญ่
.
ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ แม้ปัจจุบันผู้หญิงอินเดียจะมีการศึกษาสูงขึ้น แต่จากการสำรวจของ Pew Research ประมาณ 80% ของชาวอินเดียเห็นด้วยว่า “เมื่อมีงานไม่พอสำหรับทุกคน ผู้ชายควรมีสิทธิก่อนในการได้งานทำ” ซึ่งแสดงถึงทัศนคติที่ยังคงให้ “ผู้ชายเป็นเสาหลักของครอบครัว” ในสายตาคนส่วนใหญ่
ทัศนคติสะท้อนชัดเจนในโศกนาฏกรรมของราธิกา ยาดาฟ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ เพียงเพราะเธอ “ก้าวล้ำ” กรอบที่พ่อและสังคมกำหนด การที่เธอประสบความสำเร็จ กลับกลายเป็นการคุกคามศักดิ์ศรีของผู้ชายในบ้าน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ปลิดชีวิตเธอ
การเกิดเป็นผู้หญิงในอินเดีย จึงยังคงหมายถึงการต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกรอบค่านิยมที่ไม่เปิดพื้นที่ให้เติบโตอย่างเสรี ต้องแบกรับอคติของสังคม ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยผู้ใหญ่ และคำตัดสินจากสังคมที่ยังเชื่อว่า “ผู้หญิงไม่ควรได้ดีกว่าผู้ชาย”
ที่มา : ballardbrief
ข่าวที่เกี่ยวข้อง