svasdssvasds

นวัตกรรม ClearSpace-1 ปฏิบัติการเก็บขยะอวกาศรอบวงโคจรโลก

นวัตกรรม ClearSpace-1 ปฏิบัติการเก็บขยะอวกาศรอบวงโคจรโลก

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

ปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองเป็นความท้าทายของมนุษยชาติในยุคนี้ ไม่เว้นแม้แต่นอกโลก ที่มีขยะอวกาศนับล้านชิ้นล่องลอยอยู่รอบวงโคจร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมที่เคยสร้างประโยชน์มาก่อน แต่ตอนนี้ใช้งานไม่ได้แล้ว และดูเหมือนว่ามันจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA จึงพัฒนานวัตกรรม “ยานอวกาศเก็บขยะ” ภายใต้ชื่อ “เคลียร์สเปซ-วัน” (ClearSpace-1)

เคลียร์สเปซ-วัน ถูกออกแบบโดยบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่ทำให้รูปลักษณ์ของยานลำนี้เป็นแบบหุ่นยนต์ที่มีสี่แขน เพื่อใช้เก็บขยะที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ ความยากอยู่ที่การพัฒนาระบบขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางด้วยตัวเองในวงโคจรระดับต่ำ และตัวยานอวกาศควรมีน้ำหนักไม่เกิน 400 กิโลกรัม บริษัทคาดว่าจะพัฒนาจนใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในต้นปี 2025

ปฏิบัติการเก็บกวาดขยะอวกาศได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ในชื่อของ Vespa ซึ่งเก็บขยะดาวเทียมชิ้นเล็ก ๆ รวมกันได้ราว 100 กิโลกรัมแล้ว จึงเรียกได้ว่าโครงการเคลียร์สเปซ-วัน เป็นปฏิบัติการภาคต่อที่จะมากวาดขยะบนเส้นทางวงโคจรที่เหลือราว 800 กิโลเมตร ทั้งนี้ องค์การอวกาศยุโรปเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาน 3,900 ล้านบาท โดยระดมเงินจาก 22 ประเทศสมาชิกขององค์การอวกาศยุโรป

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศออกมาแสดงความกังวลว่า การทำงานของเคลียร์สเปซ-วัน อาจไม่สามารถทำให้ขยะหมดไปได้จริง เพราะดีไซน์ของดาวเทียมบางประเภท ไม่ได้ออกแบบมาให้ง่ายต่อการเก็บกวาดชิ้นส่วน ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์กรทางด้านอวกาศก็ออกมาเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตดาวเทียมรับผิดชอบในการนำดาวเทียมเก่าออกจากวงโคจรด้วย รวมถึงนักวิชาการบางกลุ่มก็เสนอว่า ให้มีการควมคุมการผลิตดาวเทียม โดยต้องมีชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่จะทำให้ยานเก็บขยะอย่างเคลียร์สเปซ-วัน ทำงานได้ดีขึ้น

related