svasdssvasds

ประเมินมาตรการสาธารณสุขด้านการคัดกรองไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย

ประเมินมาตรการสาธารณสุขด้านการคัดกรองไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย

คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ มาตรการสาธารณสุขด้านการคัดกรองโรคของประเทศไทย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้มีการยกระดับมากยิ่งขึ้น อยู่ในมาตรฐานระดับโลก

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มาตรการสาธารณสุขด้านการคัดกรองไวรัสโควิด-19 ของไทย ก่อนหน้านี้ใช้เพียงกล้องเล็กๆ สแกน แต่ในปัจจุบันได้ยกระดับมาตรการขึ้น ทั้งการลดอุณหภูมิสูงสุดของไข้ให้ลงมาที่ 37.5 บางที่ 37.3 บางที่ 36.7 ยิ่งลดนิยามของคำว่าไข้จากเครื่องสแกนลงมา ถือเป็นมาตรการเริ่มต้นในสนามบินหลายๆ ประเทศ

นอกจากนี้ยังยกระดับมาตรการสาธารณสุขด้านการคัดกรองโรค โดยใช้การวัดอุณหภูมิรายบุคคล ซึ่งทำให้ได้ความแน่นอนของการวัดอุณหภูมิมากขึ้น ซึ่งต้องชื่นชมและยอมรับว่าประเทศไทยเรามีความสามัคคีมาก ทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งการตรวจพบผู้ติดเชื้อ, การป้องกันต่างๆ, การส่งต่อข้อมูล, ประชาชนทั่วไปเริ่มให้ความร่วมมือมากขึ้นในการป้องกันการกระจายของโรคนี้ นี่จึงทำให้นานาประเทศต่างชื่นชมและให้การยอมรับ

ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 นี้ รศ.นพ.นริศ แนะนำให้อยู่บ้าน จึงปลอดภัยที่สุด ในบางประเทศที่เจริญกว่าไทย ในแง่การป้องกันโรคนี้ กลับได้ผลที่น้อยกว่าประเทศไทย ส่วนมาตรการต่างๆ ที่เพิ่มเติมนั้นจะเริ่มออกมาตามสถานการณ์การกระจายของโรค ซึ่งได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว

ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 ลองไปดูประเทศที่เข้าระยะที่ 3 จะเห็นว่าคนในประเทศมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต หากไม่อยากให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 รวดเร็วและกระจายอย่างกว้างขวาง ในระหว่างที่รอเวลาการหายารักษาที่ได้ผลออกมา คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน

ประเมินมาตรการสาธารณสุขด้านการคัดกรองไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย

มาตรการในการตรวจโรคและวินิจฉัยโรคในประเทศไทย อยู่ในขั้นที่มาตรฐานสูงมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรองรับได้ ทั้ง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ โรงเรียนแพทย์ มีการประชุม มีการตั้งวอร์รูม ทุกภาคส่วนทำได้อย่างดีมาก

แต่สิ่งที่เป็นกลไกที่เรายังคงขาดอยู่ในตอนนี้ก็คือ ความรู้ความเข้าใจ ความรับผิดชอบของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ที่อาจจะยังเข้าใจไม่ถูกต้อง เลยเป็นเหตุให้ไม่ได้บอกประวัติการเดินทาง ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเขาเห็นแก่ตัว เพียงแค่เขายังเข้าใจไม่ถูกต้องเท่านั้น

บางคนไม่ทราบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงทำให้เขากระจายความเสี่ยงนั้นไปให้กับคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น ความเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ และกลไกหลักที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชน เราต้องการให้การกระจายเชื้อนี้สมบูรณ์แบบในประเทศ และอาจจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น

ถ้าให้คะแนนประเทศไทยด้านการรับมือไวรัสโควิด-19 จากเต็ม 10 อยู่ที่เท่าไหร่

  1. สนามบินไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนมากที่สุดในโลกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เรามีมาตรการทางสาธารณสุขที่ป้องกันการกระจายการแพร่เชื้อที่ดี ถ้าให้คะแนนจากเต็ม 10 เราได้ 8 ขึ้นไป
  2. หลังจากยืนยันตัวตนได้ว่ามีผู้ติดเชื้อ ไทยเรามีมาตรการการป้องกันการเผยแพร่เชื้อที่ดีมาก จะเห็นได้จาก ประเทศอื่นกระจายไปยังชุมชนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทำให้คนคาดเดาไปว่าเป็นเพราะรัฐบาลปิดข่าวหรือเปล่า ในฐานะคนในวงการการแพทย์ เราได้รับข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องลึก ต้องบอกว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริง เมื่อเรามีการป้องกันการกระจายในวงกว้างได้ดี ให้คะแนนจะอยู่ที่ระดับ 8 ขึ้นไป
  3. สิ่งที่น่าภูมิใจมากๆ เลยคือ ผู้ที่ได้รับการติดเชื้อและได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของประเทศเรา พบว่า มีอัตราการหายสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น สำหรับข้อนี้ เต็ม 10 ให้ 9

ฉะนั้น ขอให้คนไทยภูมิใจในความร่วมแรงร่วมใจของ สถานพยาบาล สาธารณสุขของไทย ที่อยู่ในมาตรฐานระดับโลก ถ้าในภาพรวมทั้งหมด เต็ม 10 ให้ 8 คะแนนขึ้นไป

นอกจากนี้ รศ.นพ.นริศ ยังฝากว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะฟักตัว ก่อนที่จะมีอาการ โอกาสที่จะเจอเชื้อนั้นต่ำมาก หลายคนรู้สึกสงสัยแล้วจึงอยากรีบไปตรวจเพื่อความมั่นใจ ว่าตัวเองไม่ได้เป็น ซึ่งในระยะนั้นอาจไม่ใช่บุคคลที่แพร่เชื้อ จึงทำให้การตรวจนั้นให้ผลเป็นลบ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มแสดงอาการออกมา นั่นแสดงให้เห็นว่าเชื้อนั้นมีปริมาณมาก ทำให้เริ่มมีการแพร่เชื้อ เชื้อในช่วงนั้นจึงมากพอที่จะตรวจเจอ ฉะนั้น การตรวจในระยะที่เราไม่มีอาการ อาจจะถือว่ายังไม่จำเป็น แถมอาจทำให้เราเข้าใจผิดว่า เราไม่เป็น แล้วส่งผลเสียในการกระจายแพร่เชื้อมากขึ้นก็ได้

รศ.นพ.นริศ ย้ำว่า อย่ากลัวจนเกินไป การตระหนักและเฝ้าระวังตนเอง ทั้งในระยะที่ไม่มีอาการ รวมถึงระยะที่มีอาการ จะได้ไม่เผลอแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น คือสิ่งสำคัญกว่า

related