svasdssvasds

วัคซีนโควิด 19 กับเหตุผลที่แอสตร้าเซนเนก้าเลือกไทยเป็นฐานการผลิต

วัคซีนโควิด 19 ถือเป็นความหวังสำหรับคนทั่วโลก ที่ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดทะลุกว่า 50 ล้านรายแล้ว ในหลายประเทศหลายบริษัทต่างมุ่งมั่นพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งได้เลือกไทยให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา

วัคซีนโควิด 19 กับเหตุผลที่แอสตร้าเซนเนก้าเลือกไทยเป็นฐานการผลิต

วัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Astra Zeneca หรือ แอสตร้าเซนเนก้า จากประเทศอังกฤษ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Oxford พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี ?????????? ?????? ??????? คือ การเอายีนของไวรัสก่อโรคโควิด 19 ใส่เข้าไปในอะดีโนไวรัส ผลการทดสอบวัคซีนที่ใช้ไวรัสชิมแพนซีพบว่า มีข้อดีคือไม่ต้องฉีดหลายเข็มก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี ซึ่งวัคซีนตัวนี้คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จส่งมอบความรู้ให้ไทยได้ราวเดือน 3 ถึง เดือน 6 ของปีหน้า

วัคซีนโควิด 19 สรุปข้อมูล โดย ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราช

ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 เป็นการระบาดใหญ่ โอกาสที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง 2-3 บริษัท ที่จะผลิตจำนวนเยอะพอที่จะช่วยให้กับประชาคมโลก มันเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันหากมีการให้วัคซีน ลองนึกภาพว่า มีคนจำนวนหนึ่งมีภูมิคุ้มกัน และเผอิญโควิด 19 ภูมิคุ้มกันมันสั้น เมื่อผ่านระยะเวลาหนึ่งหมด จะผลิตอย่างไรก็จะไม่ทันกับความต้องการ มีทางเดียวคือ กระจายให้แหล่งผลิตเกิดขึ้นในหลากหลายประเทศ ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม่ใช่เพื่อการค้าขายนะ แต่เพื่อช่วยประชาคมโลก มันเป็นข้อตกลงทั่วโลก กับบริษัทยา หรือบริษัทที่ผลิตวัคซีน ที่ต้องการให้ประชาคมโลกโดยเฉพาะที่มากับประเทศที่ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงยาและวัคซีนต่างๆ เหล่านี้

องค์การอนามัยโลกใช้คำว่า Equitable และ Affordable คือ เสมอภาคกัน เข้าถึงได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก เพราะฉะนั้น เดิมทางมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกับทางประเทศไทยเรามีงานวิจัยร่วมกันทางระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา เราทำมามีหลายโครงการที่ทำร่วมกันอยู่แล้ว ภายใต้ข้อตกลงที่เราจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่กัน ให้ความรู้เทคนิคต่างๆ ถ้าแอสตร้าเซนเนก้าประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีน ความรู้เหล่านั้นก็จะถูกส่งมาให้กับประเทศไทยด้วย

สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมรองรับ คือ จัดตั้งองค์กรหนึ่ง หรือโรงงานหนึ่ง ที่จะเอาความรู้เหล่านั้นมาผลิต ไม่ใช่เพื่อประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำเพื่อประชาคมโลก โดยมีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องเอื้อเฟื้อให้กับประเทศใกล้เคียงที่ไม่สามารถผลิต วัคซีนโควิด 19 และไม่มีโอกาสที่จะไปซื้อวัคซีนแข่งกับประเทศทางตะวันตก ซึ่งตอนนี้ได้มีการกำหนดองค์กร มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับในการผลิตเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน เป็นไวรัลเวคเตอร์วัคซีน
วัคซีนโควิด 19

เหตุผลที่เรารับเป็นฐานการผลิตคืออะไร

ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุผลหลัก 3 เหตุผล ที่ทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกจากทางแอสตร้าเซนเนก้า มีดังนี้

เหตุผลที่หนึ่ง เรามีเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน มีเครื่องมือต่างๆ ที่เราสามารถทำได้ การผลิตวัคซีนนอกจากเครื่องมือก็คือ การจับจุดตรงไหนของพันธุกรรมของไวรัสที่จะเอามาเป็นจุดหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเขาทำสิ่งเหล่านั้น เมื่อได้มาแล้วจึงส่งต่อให้เราเข้าสู่กระบวนการต่อไป

เหตุผลที่สอง คือ ประเทศไทยเรามีอุบัติการณ์ต่ำมากของการแพร่ระบาดโควิด 19 นี่เป็นข้อดีที่ทำให้โอกาสเกิดการปนเปื้อนน้อย

เหตุผลที่สาม ในแง่ทักษะความสามารถของคนในประเทศไทย นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ที่ทำตรงนี้ ไทยเรามีพอ เราสามารถที่จะทำได้ ในขณะที่ประเทศที่อยู่รอบๆ ไทยบางประเทศถึงแม้จะมีศักยภาพ แต่ตอนนี้เขาต้องสู้รบตบมือกับโควิดเยอะมาก บางประเทศซึ่งมีโควิดน้อย แต่เทคโนโลยีก็อาจจะไม่ถึง ขาดคนที่จะทำ เราอยู่ที่จุดตรงกลางที่เคสไม่เยอะและศักยภาพเราถึง ฉะนั้นเราจึงสามารถเป็นตัวเชื่อมได้    

แอสตร้าเซนเนก้าจำเป็นต้องประเมินเรา เพราะถ้าหากให้ความรู้ไทยมาแล้ว แต่เราผลิตไม่ได้ก็กลายเป็นสูญเสีย ยิ่งช้าเท่าไหร่คนอาจจะป่วยมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นได้ การประเมินว่าเรามีศักยภาพถึง ขณะเดียวกันที่ศักยภาพเราถึงแล้ว รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่น เมื่อผลิตเสร็จแล้วต้องให้ตามสิ่งที่บอก ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาไทยเรายังไม่เคยมีชื่อเสียงในทางไม่ดีว่ารับปากอะไรแล้วไม่ทำตามข้อตกลง นี่จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เราได้รับการเลือก

ไขข้อข้องใจองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจจากแอสตร้าเซนเนก้า

องค์กรที่ได้รับความไว้วางใจในที่นี้ คือ สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

สยามไบโอไซเอนซ์ จุดเริ่มต้นไม่ได้ต้องการทำเรื่องวัคซีน ต้องการผลิตยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่มีราคาแพง เพื่อให้คนด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี เราเรียก biosimilars โดยเอาเทคโนโลยีที่ที่อื่นมีแล้วเอามาทำ คนไทยเราจำนวนไม่น้อยซื้อยาจากต่างประเทศในราคาแพงมาก แต่คนยากคนจนคนด้อยโอกาสกลับไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ระบบสุขภาพเราก็ไม่สามารถเอื้ออำนวยได้ มีทางเดียวคือ เราต้องผลิตยาเหล่านี้ขึ้นมาเองในราคาที่ถูก แต่คุณภาพดี และนี่คือหน้าที่หลักของสยามไบโอไซเอนซ์

ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับในอนาคต

สิ่งที่คนไทยจะได้รับ อันดับแรก คือ การเข้าถึงวัคซีน แต่แน่นอนมันไม่มีทางเลยที่จะผลิตลอตหนึ่งแล้วจะให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ทันที ก็ต้องทำเป็นขั้นตอน เพราะอย่าลืมเราต้องปันวัคซีนส่วนหนึ่งให้กับประเทศรอบข้างเราตามข้อตกลงเช่นกัน 

ไทยจะต้องเซตตามลำดับความสำคัญ โดยให้คนกลุ่มเสี่ยงได้ก่อน ขณะเดียวกันสายพานการผลิตก็ผลิตต่อไปเรื่อยๆ จำนวนการผลิตเรา ณ ตอนนี้ไม่สามารถทำได้เยอะพอที่จะผลิตได้เป็นหลักวัน แต่อาจจะต้องนับเป็นสัปดาห์ ซึ่งต้องทำคู่ขนานกันไปกับตอนนั้นที่หากมีวัคซีนใดที่ใช้ได้แล้วเขาให้เรา เราก็ต้องเอา 

ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สยามไบโอไซเอนซ์ตอนนี้ปรับโครงสร้างภายในเตรียมรองรับแล้ว สำหรับการผลิต เมื่อความรู้เข้ามาเราก็เตรียมที่จะทำ แต่บริษัทแม่เองกว่าจะออกได้ ผมเชื่อว่าเดือน 3 ถึง เดือน 6 ของปีหน้าอยู่ดี กว่าเราจะได้มาก็คงไม่เร็วไปกว่าเวลานั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าระยะยาวจะต้องกลับมาคิด เพราะเมืองไทยก่อนหน้านี้ทั่วไปเราไม่ได้ผลิตวัคซีน การผลิตวัคซีนมีค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้าผลิตวัคซีนเพื่อเฉพาะคนไทย 60-70 ล้านคนอย่างเดียว บางทีอาจจะไม่คุ้ม ที่ผ่านมาบ่อยครั้งวัคซีนหลายอย่างเราซื้อมาจากต่างประเทศในราคาที่ถูก เรามีเงื่อนไขบางอย่างในฐานะที่เราเป็น middle-income countries เราสามารถซื้อได้ในราคาหนึ่ง เพราะฉะนั้นซื้อเข้ามาคุ้มค่ากว่า แต่ต่อไประยะยาวเวลาเราพูดถึงสิ่งเหล่านี้ พูดถึงการระบาดแบบนี้ อาจจะต้องมองอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่มองเพียงปัจจัยตัวเลขเงินเพียงอย่างเดียวแล้ว ปัจจัยเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอาจจะเป็นอีกหนึ่งอย่างที่รัฐบาลจะต้องกลับมาทบทวนว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี facility ในการผลิตวัคซีนเพื่อรองรับการระบาดในการแพร่ระบาดของไวรัสตัวใหม่ๆ ในอนาคต
 

อนาคตการเข้าถึงวัคซีนของผู้ป่วยยากไร้

การเข้าถึงวัคซีนจำนวนหนึ่งนับเป็นสิทธิพื้นฐานของคนไทยที่ควรจะต้องได้รับ วัคซีนเหล่านี้จะอยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า National Immunization Programme (NIP) เป็นโปรแกรมที่คนไทยทุกคนจะได้เข้าถึงวัคซีนได้ อาทิเช่น วัคซีนตับอักเสบ เป็นต้น 

ในอดีตวัคซีนบางอย่างต้องซื้อด้วยเงินตนเอง แต่ในปัจจุบันกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความต้องการที่เยอะขึ้นจึงทำให้ราคาถูกลงตามกลไกราคา รัฐบาลสามารถที่จะให้ได้ในกองทุนประกันสังคม อย่าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกคนต้องฉีดเอง ซื้อเอง แต่ด้วยพัฒนาการเทคโนโลยีที่ถูกลง จึงทำให้เรามีโอกาสจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ถ้าเงินพอก็จะพิจารณาเริ่มให้กับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน แต่ถึงจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงวัคซีนไข้หวัดใหญ่เราก็จะให้ไปกับคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ทุกคน เป็นต้น สุขภาพที่ดีมาจากการป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรคอย่างเดียว

ฝากย้ำมากๆ ว่า วัคซีนคือ สิ่งที่ป้องกันเราจากการติดเชื้อ ตอนนี้เรามีวัคซีนที่ดีที่สุดอยู่แล้ว และทุกคนมีมันด้วย ก็คือ ใส่หน้ากาก, รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร, ล้างมือบ่อยๆ, ที่ไหนที่คนเยอะๆ ให้หลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยง ขณะเดียวกันเช็กอินเช็กเอาท์ ซึ่งตอนนี้เห็นคนใช้น้อยลงไปเยอะมาก เพราะหากสักวันหนึ่งมีคนติดเชื้อขึ้นมาแล้วเราตามไม่ได้ว่าคนติดเชื้ออยู่ที่ใด เราจะมารู้อีกทีคือเป็นร้อยเป็นพันแล้ว มันจะไม่ทัน แค่นี้แหละ นี่คือวัคซีนที่ดีที่สุดในเวลานี้” ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย