svasdssvasds

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอ แพทย์ต่างจังหวัด เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดใน กทม.

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอ แพทย์ต่างจังหวัด เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดใน กทม.

มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากเพจ ชมรมแพทย์ชนบท ในวันที่ 25 เมษายน 2564 เนื่องจากเป็นวันที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,438 ราย คือเกินวันละ 2,000 คน ติดกันเป็นวันที่สอง

การพบผู้ป่วยโควิดใหม่​ 2,438 ราย​ ที่ประกาศชัดในวันที่ 25 เมษายน 2564 เพจ ชมรมแพทย์ชนบท เผยว่า​ เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความต้องการเตียงที่เพิ่มจำนวนขึ้น​ และตัวเลขจะอยู่ระดับนี้ไปอีกเป็นสัปดาห์​!

PPE ต่างจังหวัด vs เมืองกรุง ในทัศนะของ ชมรมแพทย์ชนบท

ชมรมแพทย์ชนบท เป็นการรวมตัวของแพทย์ในโรงพยาบาชุมชนซึ่งทำงานในชนบท และหมายรวมถึงแพทย์ที่มีจิตใจใส่ใจกับการสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมให้กับคนชนบท ต้านการคอร์รัปชัน สร้างธรรมาธิบาลในกระทรวง และยืนเคียงข้างประชาชนในยามที่บ้านเมืองวิกฤต

เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในขณะนี้ ชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า โรงพยาบาลในต่างจังหวัดยังจัดการเรื่องเตียงได้​ แต่ในเมืองกรุงนั้น​หาเตียงยากมาก​ อย่างไรก็ดี กรุงเทพฯ มีโรงแรมจำนวนมาก​ที่สามารถปรับเป็น 'โรงพยาบาลสนาม' ได้​

โดยในภาวะวิกฤต​นี้ 'โรงแรมโรงพยาบาลสนาม' อาจเป็นคำตอบ​ร่วมกับการทำ​ Home Isolation หรือ การกักตัวที่บ้าน​ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ​

แน่นอนว่าเรื่องจัดการสถานที่​เพื่อเปิดโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนามนั้นไม่ยาก​ ที่ยากคือ​ จะให้หมอ​และพยาบาล​ที่ไหนไปดูแล

ชมรมแพทย์ชนบท

เรามีข้อเสนอที่เป็นไปได้

ข้อเสนอจาก ชมรมแพทย์ชนบท คือ ยกทีมแพทย์-พยาบาลจากจังหวัดที่มีการระบาดน้อย​เข้ากรุง มาคุมระบบดูแลผู้ป่วยใน 'โรงพยาบาลสนาม เกรดโรงแรม​' โดยมอบหมายให้ทีมแพทย์และพยาบาลต่างจังหวัดรับไปจังหวัดละ 1-3 โรงแรม​​

เรื่องนี้เป็นไปได้ เผื่อรัฐบาลได้ยินแล้วสนใจ​และลองเซ็ตระบบ

ปล. ระบบทั้งหมดที่แนะนำให้ลองเซ็ตจาก ชมรมแพทย์ชนบท

• ปรับเงื่อนไขสภาพโรงแรมให้เหมาะสม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยมีเกณฑ์อยู่แล้ว แต่อาจนำมาปรับให้ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป

• การตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงแรม ก็ต้องมี 'โรงพยาบาลแม่' เพื่อรับ-ส่งกรณีผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จึงต้องเซ็ตด้วยว่า โรงพยาบาลไหนจะเป็นโรงพยาบาลแม่เพื่อการรับส่งต่อ แต่โรงพยาบาลแม่นั้นมักจะมีผู้ป่วยใช้เตียงจนเต็มหมดแล้ว จึงต้องมีการบริหารจัดการระหว่างโรงพยาบาลร่วมด้วย

• อาจวางแผนการใช้เตียงอีกรูปแบบ เช่น ให้ผู้ป่วยที่นอน รพ. 5-7 วัน แล้วไม่มีอาการ ย้ายไปนอนโรงแรมที่เป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อเปิดเตียงโรงพยาบาลให้ว่าง พร้อมรับผู้ป่วยรายใหม่เข้าไปดูแลรักษา ยุติภาวะรอเตียงนานจนป่วยหนักหรือเสียชีวิต

• ระดมแพทย์-พยาบาลอาสาใน กทม.มาร่วมทีมดูแลโรงแรมโรงพยาบาลสนาม ร่วมกับแพทย์-พยาบาลจากต่างจังหวัดที่จะยกทีมเข้ามา ทั้งนี้ ควรมีการดูแลสวัสดิการในช่วงที่ปฏิบัติงานในภารกิจพิเศษด้วย

ทั้งหมดนี้ยังต้องการ 'การตัดสินใจเชิงนโยบาย' ต้องการการนำเพื่อขจัดอุปสรรค และต้องการการเซ็ตระบบอย่างจริงจัง ซึ่งต้องใช้เวลาเช่นกัน

ที่มา : ชมรมแพทย์ชนบท