svasdssvasds

ยาคิดค้นโดย AI ทดลองใช้กับผู้ป่วยเป็นครั้งแรก

ยาคิดค้นโดย AI ทดลองใช้กับผู้ป่วยเป็นครั้งแรก

บริษัทสตาร์ทอัพจากอังกฤษและญี่ปุ่นร่วมกันผลิต ยาคิดค้นโดย AI และจะทดลองใช้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ

ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวงการเภสัชกรรม เมื่อสองสตาร์ทอัพผู้ผลิตยาอย่าง Exscientia จากอังกฤษและ Sumitomo Dainippon Pharma จากญี่ปุ่น ร่วมมือกันผลิต DSP-1181 ยาคิดค้นโดย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะมีการนำมาทดลองใช้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกในเร็ว ๆ นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อประกอบการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD

จุดประสงค์ของการนำยามาทดลองใช้ในครั้งนี้ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพว่าสามารถบรรเทาอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แอนดริว ฮอพกินส์ ซีอีโอของบริษัทมองว่า อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเคลื่อนไหวก้าวสำคัญของวงการแพทย์และเภสัชกรรม เพราะโดยปกติแล้ว ขั้นตอนก่อนจะนำยามาทดลองกับมนุษย์ใช้เวลาถึง 5 ปี แต่กับขั้นตอนการผลิตยาด้วยปัญญาประดิษฐ์ ใช้เวลาเพียงแค่ 12 เดือนเท่านั้น

แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการการแพทย์ เพราะเทคโนโลยีอัจฉริยะมักถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคและเก็บข้อมูล ซึ่งบางครั้งทำได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยซ้ำ เช่น การตรวจพบโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น แต่สำหรับการผลิตยานั้น เพิ่งจะเริ่มมีการนำ AI มาใช้ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ยาดังกล่าว จะถูกนำมาทดลองใช้กับมนุษย์ และหากสามารถทำได้สำเร็จ จะเป็นการฏิวัติขั้นตอนการคิดค้นยารักษาโรคในอนาคตอย่างแน่นอน และไม่ใช่แค่ยาสำหรับโรคย้ำคิดย้ำทำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การผลิตยาที่คิดค้นโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้วในปีที่ผ่านมา เช่น บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติแคนาดาสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาระบุและยืนยันพันธุกรรมจำนวนมากที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคในมนุษย์ ซึ่งจะช่วยในการยับยั้งการเกิดโรคได้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถหาตัวยารักษาโรคที่แมตช์กับอาการได้อย่างรวดเร็ว ข้ามฝั่งมาเอเชียเองก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยบริษัทยาในฮ่องกงนำ AI มาออกแบบสังเคราะห์ยาและค้นหาผู้ทดลองยาที่เหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จใน 46 วัน รวดเร็วกว่าขั้นตอนปกติถึง 15 เท่า

related