svasdssvasds

นวัตกรรมใหม่ ที่วิศวกรและมหาวิทยาลัยไทยคิดค้นเพื่อช่วยแพทย์สู้วิกฤตโควิด 19

นวัตกรรมใหม่ ที่วิศวกรและมหาวิทยาลัยไทยคิดค้นเพื่อช่วยแพทย์สู้วิกฤตโควิด 19

ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 เราจะเห็นถึงศักยภาพของหลายๆ หน่วยงาน ที่เข้ามาช่วยเหลือวงการแพทย์ในด้านที่ถนัด รวมถึงวิศวกรและมหาวิทยาลัยไทยเช่นกัน ที่ไม่นิ่งนอนใจ ร่วมใจกันผลิต นวัตกรรมใหม่ เพื่อสู้วิกฤตนี้ไปด้วยกัน

นวัตกรรมใหม่ เกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้ โรคอุบัติใหม่โควิด 19 กำลังระบาด เพื่อสนับสนุนแพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะที่ผลิตโดยวิศวกรและมหาวิทยาลัยไทย อาทิ หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ ห้องแยกโรคความดันลบ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ COVID-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากมาย ท่ามกลางความสูญเสียดังกล่าว ได้สร้างวีรบุรุษในชุดต่างๆ หลากรูปแบบ โดยเฉพาะ ชุดกาวน์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้เสียสละทำหน้าที่หลักในการตรวจรักษา และมีความใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ป่วย

อีกทั้งยังมี วีรบุรุษเสื้อช็อป อย่าง วิศวกรไทยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้อยู่เบื้องหลังการควบรวมศาสตร์วิศวกรรม สู่การผลิต นวัตกรรมใหม่ หนุนหลังบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การตรวจรักษาเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและราบรื่น

สภาวิศวกร

ที่ผ่านมา พลังของ วิศวกร และ มหาวิทยาลัยไทย ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่เอื้อต่อการรักษาทางการแพทย์ และผ่านกระบวนการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. นวัตกรรมเซฟบุคลากรทางการแพทย์ ด้วย วิศวกรไฟฟ้า

การแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว เกิดขึ้นได้ในระยะใกล้ จึงเป็นผลให้บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงรับเชื้อสูง วิศวกรไฟฟ้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเชื่อมต่อ ออกแบบ และผลิตระบบไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ จึงได้ทำงานร่วมกับ วิศวกรเครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักร

วิศวกรทั้ง 2 สาขา ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่เข้ามาทำหน้าที่หรือลดการทำงานบางขั้นตอน เพื่อลดโอกาสการได้รับเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ หุ่นยนต์ขนส่งเวชภัณฑ์ หุ่นยนต์เสิร์ฟยาและอาหารถึงมือผู้ป่วย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมได้จากห้องทำงาน ทำโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

นอกจากนี้ วิศวกรรมไฟฟ้า ยังมีบทบาทสำคัญในการติดตั้งระบบสื่อสารและอินเตอร์เน็ตภายในโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้แพทย์และผู้ป่วย สามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดบุคลากรทางวิศวกรรมฯ มธ. ได้ติดตั้งระบบดังกล่าวที่โรงพยาบาลสนาม มธ. เรียบร้อยแล้ว

หุ่นยนจากวิศวกรไฟฟ้า

2. สร้างห้องกรองเชื้อโรค ด้วย วิศวกรรมเครื่องกล 

จากการศึกษาพบว่า COVID-19 จะแพร่กระจายเชื้อได้ดีในอากาศ อีกทั้งยังสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 20 นาที วิศวกรรมเครื่องกลเชี่ยวชาญด้านการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักร การถ่ายเทพลังงานความร้อน ฯลฯ จึงเกิดความคิดในการสร้างพื้นที่ปิดหรือห้องเฉพาะขึ้น

ไขข้อข้องใจ โควิด 19 แพร่กระจายในอากาศได้ จริงหรือไม่

ห้องเฉพาะ นี้ทำหน้าที่คัดกรองฝุ่นและเชื้อโรค เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณการกระจายของโรค

  • ห้องแยกโรคความดันลบ จาก สจล. ห้องปรับความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง
  • หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล (CMU Aiyara) ลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน COVID-19 จากศูนย์นวัตกรรมสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล วิศวกรเครื่องกล

3. พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ฆ่าเชื้อโรคให้ตายสนิท ด้วย วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

เชื้อ COVID-19 ถือเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้น การมีนวัตกรรมหรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาช่วยตรวจจับพร้อมฆ่าเชื้อในพื้นที่เฉพาะ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ณ ขณะนี้ ซึ่งวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อีกหนึ่งสายงานที่มีบทบาทและสามารถพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวได้

นวัตกรรมใหม่ นี้ผ่านการ Coding ชุดคำสั่ง ทั้งการทำงานของคลื่นความถี่ การตรวจจับสิ่งมีชีวิตขอนาดเล็กอย่าง ไวรัส แบคทีเรีย โดยเซนเซอร์ อาทิ

  • หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี จาก สจล.
  • หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วยแสงยูวี (Germ Saber Robot) จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. ที่ร่วมมือกับ จุฬาฯ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ ประสิทธิภาพสูง สำหรับฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เฉพาะ รวมถึงเชื้อบนอุปกรณ์เฉพาะของแพทย์
  • ตู้ฆ่าเชื้อโคโรนา 2019 ด้วยแสงยูวี สำหรับใช้ในครัวเรือน โดยทีมนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ฯลฯ

นวัตกรรม Tham-UV Clean ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย ด้วยรังสียูวีซี

ตู้ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี วิศวกรคอมพิวเตอร์

4. ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ป้อน รพ. ด้วย วิศวกรรมชีวการแพทย์

ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่อัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความพร้อมด้านเครื่องมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาลหลายแห่ง วิศวกรรมชีวการแพทย์ จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการควบรวม องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ แพทยศาสตร์ เข้าด้วยกัน

การควบรวมองค์ความรู้นี้ นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ในภาวะขาดแคลนหรือฉุกเฉิน

  • ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจ (Mini Emergency Ventilator) จาก สจล. นวัตกรรมที่ช่วยควบคุมการบีบของเครื่องช่วยหายใจ ให้เป็นจังหวะเหมือนกับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย พร้อมทั้งสร้างความดันบวกให้กับปอดของผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ และเตรียมผลิตจริงเพื่อส่งมอบโรงพยาบาลใช้งานในภาวะฉุกเฉิน
  • ตู้โควิเคลียร์ หรือ ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยงไวรัสโควิด 19 ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่มาสัมผัสกับผิวหนังหรือเสื้อผ้า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้นาน 24 ชม. ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาคเอกชนอย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ฯลฯ

ตู้โควิเคลียร์ วิศวกรรมชีวการแพทย์

5. ก่อร่างสร้าง รพ.ฉุกเฉิน ด้วยหลักการ วิศวกรรมโยธา

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นวงกว้าง จึงเป็นเหตุให้บางประเทศต้องเตรียมแผนตั้งรับใหม่ทันที อย่าง ประเทศจีนที่ได้จัดสร้าง โรงพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้ป่วยได้ถึง 1,000 เตียงในเวลาเพียง 10 วัน

หากมองในแง่ของโครงสร้างจะพบว่า เป็นความชำนาญการในสายงานวิศวกรรมโยธา ที่สามารถประเมินศักยภาพของพื้นที่ ที่สามารถรองรับโครงสร้างดังกล่าวได้ การเลือกใช้วัสดุ รวมถึงบริหารแนวทางก่อสร้างให้กระทบผู้คนโดยรอบน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ทีมคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และวิศวกรรม เคมี จุฬาฯ ยังได้ร่วมคิดค้น "การทดสอบมาตรฐานชุด PPE เพื่อการใช้งานสำหรับแพทย์ในห้อง ICU COVID" เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานชุด PPE ได้อย่างปลอดภัย

การทดสอบมาตรฐานชุด PPE วิศวกรโยธา

ในปัจจุบัน มีวิศวกรศักยภาพที่ขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกร มากกว่า 300,000 คน อาชีพวิศวกรยังคงเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูง มีงานที่พร้อมรองรับ และมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง จากปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ทั้ง แผ่นดินไหว อาคารถล่ม อุทกภัย ภัยแล้ง และสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิสรัปชันในอนาคต

นอกเหนือจากวิศวกรที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์นี้แล้ว คนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกสายอาชีพ ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ แมสเซนเจอร์รับ-ส่งเอกสารหรืออาหาร พยาบาล แม่บ้าน พ่อบ้าน ผู้ทำความสะอาด ฯลฯ ก็มีส่วนร่วมในการช่วยทีมแพทย์ลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงได้

การช่วยทีมแพทย์ลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลงและป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 สามารถทำได้ไม่ยาก

  • หมั่นล้างมือให้สะอาด หรือเลือกใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังหยิบจับสิ่งของ
  • สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากเมื่อไอหรือจาม
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางในที่ชุมชน
  • เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ และอื่นๆ
  • เว้นระยะปลอดภัยทางสังคม Social distancing ที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อร่วม หยุดเชื้อเพื่อชาติ

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสภาวิศวกรได้ที่ สายด่วน 1303 เว็บไซต์ www.coe.or.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/coethailand

 

 

related