svasdssvasds

ทำความรู้จักกับ กล้วยไม้ 9 สกุล พืชเศรษฐกิจส่งออกสำคัญของไทย

ทำความรู้จักกับ กล้วยไม้ 9 สกุล พืชเศรษฐกิจส่งออกสำคัญของไทย

กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกของไทยที่เคยทำรายได้เข้าประเทศปีละเป็นพันล้านบาท แต่ช่วงโควิด-19 เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ได้รับผลกระทบ ขาดทุนหนัก เพราะทำตลาดได้เพียงภายในประเทศเท่านั้น

กล้วยไม้ ที่เป็นพืชส่งออกสำคัญของไทย มี 9 สกุล ได้แก่ สกุลแคทลียา, สกุลแวนด้า, สกุลหวาย, สกุลออนซิเดียม, สกุลม็อคคาร่า, สกุลสปาโทกลอตทิส, สกุลฟาแลนนอปซิส, สกุลรองเท้านารี, สกุลซิมบิเดียม

สกุลแคทลียา (Cattleya)

กล้วยไม้สกุลแคทลียาอยู่ในวงศ์ Orchidaceae มีลำต้นที่เรียกว่าลำลูกกล้วยซึ่งความจริงเป็นก้านใบ ส่วนลำต้นจริงเป็นเหง้าเช่นเดียวกับกล้วย ต่อจากลำลูกกล้วย (ก้านใบ) เป็นใบ ที่งามสง่าดังราชินี ใบที่เจริญเต็มที่เป็นรูปใบพายเส้นกลางใบเห็นเป็นร่องชัดเจน

แคทลียา เป็นกล้วยไม้ที่ไม่ชอบอากาศเย็น ไม่ควรจะอยู่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส ในช่วงกลางวันอุณหภูมิควรประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส และควรพรางแสงอยู่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์

วัสดุปลูกที่ใช้ควรเป็นวัสดุโปร่ง ระบายน้ำได้ดี เช่น อิฐมอญทุบ หรือ ถ่าน ถ้ามีเปลือกไม้ก็สามารถใช้ได้ การใช้กาบมะพร้าวจะต้องจับให้กาบมะพร้าวอยู่ในแนวตั้ง ควรใช้ภาชนะเป็นกระถางดินเผาที่มีการเจาะรูด้านข้าง หลังจากปลูกไป 2-3 ปี ควรทำการเปลี่ยนกระถางและเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่

สามารถให้น้ำแคทลียาโดยใช้หัวสปริงเกอร์ ยกเว้นช่วงที่ดอกบาน ไม่ควรให้น้ำโดนดอกเพราะจะทำให้อายุดอกน้อยลง ให้น้ำจนชุ่มในช่วงเช้าก็เพียงพอ

การให้ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 30-20-10 เมื่อมีการตั้งลำได้ดีแล้ว เพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง

เมื่อออกดอก แคทลียาจะแทงซองดอกออกมาจากส่วนปลายของลำลูกกล้วย บางครั้งเรียกช่วงที่มีซองดอกว่า ระยะตั้งท้อง เมื่อให้ดอกไปบ้างแล้ว อาจมีการให้ปุ๋ยสูตรเสมอสลับบ้าง

ศัตรูพืชที่รบกวนแคทลียา ได้แก่ เพลี้ยอ่อนเพลี้ยไฟ และไรแดง อาจต้องมีการฉีดพ่นยาในบางครั้งเมื่อมีการระบาดมากๆ นอกจากนั้น หอยยังเป็นปัญหาที่สำคัญในการกัดกินยอดอ่อน อาจต้องใช้ยาพวกเมทัลดีไฮด์โรยเพื่อไล่หอย โดยใส่ที่ละน้อย แต่ค่อนข้างบ่อย

กล้วยไม้ แคทลียา

สกุลแวนด้า (Vanda)

กล้วยไม้สกุลแวนด้า มีการกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชียตั้งแต่ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย อินโดนีเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ

การดูแลรักษา ควรพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใบแวนด้าเขียวจัดแสดงว่าปุ๋ยยูเรียสูง หรือแสงไม่เพียงพอ การให้น้ำควรให้น้ำจนชุ่ม โดยดูจากราก ถ้าให้น้ำเพียงพอรากจะนิ่ม แต่ถ้าน้ำไม่พอรากจะกรอบ

การให้ปุ๋ย ถ้าแดดมากลมดีควรให้ปุ๋ยมาก ฤดูฝนควรงดปุ๋ยที่มียูเรียโดยใช้สูตรเสมอ และเมื่อกล้วยไม้มีใบประมาณ 6-7 ใบ แสดงว่ากล้วยไม้เริ่มให้ดอก ควรเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 13-27-27 โดยก่อนเปลี่ยนสูตรปุ๋ยให้รดน้ำตอนเช้าให้รากนิ่มก่อน แล้วจึงตามด้วยปุ๋ย

การให้ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เมื่อให้ปุ๋ยเร่งดอก หากกล้วยไม้ยังไม่ออกดอกให้หยุดการให้ปุ๋ยแล้วใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เนื่องจากกล้วยไม้อาจอยู่ในช่วงพักตัวเพื่อรออุณหภูมิที่เหมาะสมจึงแทงช่อดอก

กล้วยไม้ แวนด้า

สกุลหวาย (Dendrobium)

กล้วยไม้สกุลหวาย เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปเอเชีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทยมีหลายชนิด อันได้แก่พวกเอื้องต่างๆ

กล้วยไม้สกุลหวายชอบอากาศบริสุทธิ์ ดังนั้น ในฤดูร้อนควรเก็บไว้ในที่โล่งพร้อมการปกป้องจากแสงแดดโดยตรง ใบเป็นตัวบ่งชี้ช่วยในการตรวจสอบว่า กล้วยไม้ได้รับแสงมากไปหรือไม่ แสงที่ดี ใบไม้ของดอกไม้จะเป็นสีเขียวอ่อน หากใบเปลี่ยนเป็นสีเข้มหรือสีเหลือง แสดงว่าพืชไม่มีแสงเพียงพอ การเปลี่ยนแปลงของแสงอย่างรวดเร็วอาจทำให้ดอกตูมร่วง

การรดน้ำ ถ้าปลูกในกระถาง ควรรดน้ำทุกๆ 2 วัน และควรมีรูในกระถางดอกไม้ด้านล่าง เพื่อให้น้ำไหลออก ถ้าอยู่ในแปลง ให้รดน้ำทุกวัน หากกล้วยไม้เติบโตในบล็อก แต่ละครั้งก่อนที่จะรดน้ำต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นผิวที่วางบล็อกนั้นแห้ง

กล้วยไม้ หวาย

สกุลออนซิเดียม (Oncidium)

กล้วยไม้สกุลออนซิเดียม ดอกส่วนใหญ่มีสีเหลือง มีลายน้ำตาล เส้าเกสรมีปีกยื่นออกไป 2 ข้าง มีตุ่มไฟที่โคนปาก ปลายปากใหญ่ และเป็นจุดเด่นของดอก ออนซิเดียมต้องการแสงแดดปานกลางเช่นเดียวกับแคทลียา โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเช้าไปจนเที่ยง

การควบคุมแสงแดด หลังจากเที่ยงเป็นต้นไปอาจต้องควบคุมปริมาณแสงแดดไม่ให้มากเกินไปในช่วงบ่าย โดยสังเกตจากใบได้ ถ้าใบมีสีเขียวออกเหลืองแสดงว่าได้รับแดดค่อนข้างมาก หรือ ถ้าใบสีเขียวเข้มแสดงว่าได้รับแสงน้อยไป ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 24-30 องศาเซลเซียส

การให้น้ำ ออนซิเดียมสามารถให้น้ำได้มากและบ่อยครั้ง แต่ไม่ควรให้รากแฉะหรือเครื่องปลูกอมน้ำเป็นเวลานาน การให้ปุ๋ยออนซิเดียมให้สัปดาห์ละครั้งโดยใช้สูตรเสมอเป็นหลัก

กล้วยไม้ ออนซิเดียม

สกุลม็อคคาร่า (Mokara)

กล้วยไม้สกุลม็อคคาร่า เป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีรากอากาศ เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากการผสมข้ามของ กล้วยไม้ 3 สกุล คือ Arachnis (กล้วยไม้สกุลแมลงปอ) x Ascocentrum (กล้วยไม้สกุลเข็ม) x Vanda (กล้วยไม้สกุลแวนด้า)

ม็อคคาร่าชอบแดด และออกดอกได้ง่ายกว่ากล้วยไม้ในสกุลอื่น การให้น้ำควรรดน้ำวันละ 2 ครั้งทุกวัน ทุกครั้งควรรดให้ชุ่ม โดยรอบเช้าเวลาที่เหมาะสมประมาณ 7.00-9.00 น. และรอบบ่ายเวลา 14.00 น.

ฤดูฝนให้น้ำวันละ 1 ครั้ง การให้ปุ๋ย 7 วันครั้งด้วยปุ๋ยเกล็ด โดยให้ปุ๋ยทั่วถึงทั้งต้น ราก และใบ ควรให้ปุ๋ยวันที่มีแสงแดด และในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ให้ก่อนออกดอกและหลังออกดอก 1 ครั้ง แต่หากเป็นกล้วยไม้เล็ก ไม่ควรให้ปุ๋ยเร่งดอก เพราะอาจทำให้ต้นและดอกแคระแกรน อีกทั้งจะทำให้ช่อดอกไม่ยืด ต้นไม่โต และดอกเปราะบาง

กล้วยไม้ ม็อคคาร่า

สกุลสปาโทกลอตทิส (Spathoglottis)

กล้วยไม้สกุลสปาโทกลอตทิส เป็นกล้วยไม้ดินสกุลหนึ่งที่นิยมปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เจริญเติบโตแบบ Sympodial มีลำลูกกล้วยป้อม และมีข้อถี่ๆ เป็นกล้วยไม้ที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

สปาโทกลอตทิสเป็นกล้วยไม้ที่ชอบแดดรำไร และอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส บางชนิดชอบอากาศเย็นจะออกดอกได้ดก สถานที่ปลอดโปร่งอากาศถ่ายเท แต่ไม่ชอบลมแรงมาก

การให้น้ำ ควรให้น้ำช่วงเช้าและเย็น ขณะที่ยังมีแสงแดด เพื่อลดปัญหาโรคลำต้นเน่าได้ ในฤดูร้อนหรือช่วงที่อากาศร้อนจัด ควรฉีดน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นและช่วยลดอุณหภูมิในโรงเรือน สำหรับในฤดูฝนหากวัสดุปลูกยังชื้นอยู่ก็ยังไม่ต้องรดน้ำ หรือในช่วงฝนตกมากอาจไม่จำเป็น

การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำฉีดพ่น ควรใช้ในอัตราส่วนที่เจือจาง หลังจากย้ายปลูกจนกล้วยไม้ตั้งตัวดีแล้วให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เมื่อต้นไม้สมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก สามารถใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเร่งดอก ควรงดปุ๋ยวิทยาศาสตร์ชนิดเม็ดทุกชนิด การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทุกๆ 2-3 เดือน กระถางละ 1-2 ช้อน จะทำให้กล้วยไม้โตเร็ว

กล้วยไม้ สปาโทกลอตทิส

สกุลฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis)

กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิส ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือนกัน ลักษณะของลำต้นทรงเตี้ยตรง ใบอวบน้ำค่อนข้างหนา แผ่แบนรูปคล้ายใบพาย ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านยาวเหมาะสำหรับปักแจกัน

ฟาแลนนอปซิสเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว แต่ต้องระวังในเรื่องของความชื้นที่มีมากไป จะทำให้ต้นและใบเน่าได้ง่าย สามารถปลูกลงกระถาง โดยต้องให้โคนต้นและรากส่วนบนอยู่เหนือเครื่องปลูกขึ้นมา แต่อยู่ต่ำกว่าระดับขอบกระถาง เพื่อป้องกันไม่ให้โคนต้นและโคนใบได้รับความชื้นมากเกินไปจนทำให้เน่า

ฤดูที่เหมาะสมในการปลูก คือช่วงประมาณเดือนมีนาคม หรือก่อนเข้าฤดูฝน ควรควบคุมเรื่องน้ำและความชื้นให้มาก อาจปลูกโดยให้ต้นกล้วยไม้เกาะตอไม้หรือกิ่งไม้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาน้ำฝนที่ตกลงมาขังในส่วนโคนต้นและใบได้ และควรมีการพรางแสงแดดประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก

การรดน้ำ ควรรดในเวลาเช้าก่อนแสงอาทิตย์ส่อง โดยใช้หัวฉีดเป็นฝอยละเอียด ในฤดูฝน ต้องระวังไม่ให้ใบโดนน้ำฝนจนช้ำ โดยเฉพาะลูกกล้วยไม้อาจปลูกโดยแขวนต้นให้สูงจากพื้นมาถึงระดับเอวหรือวางไว้บนโต๊ะ

การให้ปุ๋ย ควรให้สัปดาห์ละ 1 ครั้งโดยใช้สูตร 16-21-27 หรือใช้สูตรอื่นที่มีโพแทสเซียมสูงเพื่อช่วยรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของใบ

กล้วยไม้ ฟาแลนนอปซิส

สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum)

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี หรือ บุหงากะสุต ในภาษามาเลเซีย หมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอกหรือที่เรียกว่า กระเป๋า มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรี และรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารีแต่ละชนิดต้องการแสงแตกต่างกัน เช่น เหลืองกระบี่ ต้องการความเข้มของแสงสูงหรือชอบแสงจ้า สำหรับรองเท้านารีที่ต้องการความเข้มแสงสูง แต่ต้องการความชื้นสัมพัทธ์น้อย ได้แก่ ขาวสตูล เหลืองพังงา ช่องอ่างทอง เหลืองปราจีน ส่วนรองเท้านารีที่ต้องการความเข้มแสงน้อย และอากาศเย็น ได้แก่ คางกบคอแดง คางกบลาว คางกบปักษ์ใต้ คางกบเขมร สุขะกุล

รองเท้านารีที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ชอบเกาะอยู่ตามคาคบไม้มี 2 ชนิด ได้แก่รองเท้านารีอินทนนท์ และ เมืองกาญจน์ รองเท้านารีกลุ่มนี้ชอบแสงแดดรำไร และอากาศเย็น เป็นต้น

การให้น้ำควรรดวันละครั้ง ยกเว้นวันที่ฝนตกหรือควรสังเกตว่ากระถางและเครื่องปลูกยังมีความชุ่มชื้นอยู่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้าประมาณ 6.00-9.00 น.

ส่วนใหญ่ รองเท้านารีจะอ่อนแอต่อแรงกระแทกของเม็ดฝน โรงเรือนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกเลี้ยง เพราะทำให้ควบคุมปริมาณแสงและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนให้สม่ำเสมอได้

การให้ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยน้ำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ส่วนปุ๋ยเกร็ดควรใช้สูตร 21-21-21 ให้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้สามารถให้ปุ๋ยละลายช้าโดยใส่แต่ละกระถางประมาณ 5-10 กรัมต่อกระถาง ทุก 3 เดือน

กล้วยไม้ รองเท้านารี

สกุลซิมบิเดียม (Cymbidium)

กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม มีทั้งชนิดที่เป็นรากอากาศยึดเกาะและอาศัยหากินบนต้นไม้ และที่เป็นรากดินอาศัยขึ้นอยู่ตามพื้นดิน ช่อดอกมีทั้งช่อตั้งและช่อห้อย กลีบดอกชั้นนอกและชั้นในมีขนาดใกล้เคียงกัน ปากมี 3 แฉก หูจะตั้ง และแนบติดกับด้านข้างของเส้าเกสร

การดูแลรักษา ควรเลือกทำเลปลูกที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และมีน้ำเพียงพอ การปลูกเลี้ยงซิมบิเดียมกลางแจ้งที่มีแดดแรงเกินไป จะทำให้ใบไหม้ ควรได้รับแสงแดดประมาณวันละ 8 ชั่วโมง ซิมบิเดียมแต่ละชนิดต้องการสภาพอากาศแตกต่างกัน บางชนิดต้องการอากาศร้อน ราว 25-35 องศาเซลเซียส บางชนิดต้องการอากาศค่อนข้างเย็น ราว 15 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า และบางชนิดต้องการอากาศเย็นจัด ราว 2-15 องศาเซลเซียส

การรดน้ำ สามารถให้ได้ทุกวัน หรือ เว้นหลายวันก็ได้ ขึ้นกับชนิดของวัสดุปลูก รวมทั้งความชื้นในอากาศ และปริมาณฝนที่ตก การให้น้ำเพียงครั้งเดียวในตอนเช้าก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ซ้ำอีกในตอนบ่าย

การให้ปุ๋ย สามารถให้ปุ๋ยทางใบเหมือนกล้วยไม้ทั่วไป และควรให้ปุ๋ยละลายช้าโรยบนหน้าวัสดุปลูกด้วย จะช่วยให้เจริญเติบโตเร็วขึ้น สำหรับในช่วงที่ใกล้จะถึงฤดูให้ดอก ควรให้ธาตุอาหารเสริมแมกนีเซียม จะช่วยให้มีการให้ดอกดียิ่งขึ้นและพร้อมเพรียงมากขึ้น

กล้วยไม้ ซิมบิเดียม

สนใจสอบถามด้านการจัดจำหน่ายกล้วยไม้ของเกษตรกร ได้ที่ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด