svasdssvasds

เปิดสถิติ ค้ามนุษย์ในไทย จากการจัดอันดับ กต.สหรัฐ - หล่น เทียร์ 2 Watch List

เปิดสถิติ ค้ามนุษย์ในไทย จากการจัดอันดับ กต.สหรัฐ - หล่น เทียร์ 2 Watch List

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เมื่อ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2021 โดยจัดให้ไทย หล่นจากประเทศ ระดับ เทียร์ 2 ปกติ ไปสู่ ระดับ เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List) และทาง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีท่าที ผิดหวังต่อการจัดอันดับครั้งนี้

ไทยหล่นจากเทียร์ 2 สู่ เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2564 (2021 Trafficking in Persons Report) ผ่านทาง www.state.gov โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจของประเทศไทย เพราะว่า ล่าสุด ประเทศไทย ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ จันทรโอชา ได้ถูกลดระดับ จากกลุ่มประเทศเทียร์ 2 สู่การเป็นประเทศในกลุ่มที่ต่ำกว่า นั่นคือ เทียร์ 2  ต้องจับตา (Watch List) แล้ว

สำหรับ ประเทศไทย ต้องอยู่ร่วมในกลุ่ม เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)  กับอีก 44 ประเทศ ซึ่งในนี้ มีประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียน อาทิ เวียดนาม , กัมพูชา นอกจากนี้ในกลุ่มนี้ยังมี มาเก๊า,ฮ่องกง , ปากีสถาน ,แคเมอรูน , เอธิโอเปีย ,เฮติ เป็นต้น

ขณะที่ ประเทศระดับเทียร์ 3 ในปี 2021  ได้แก่ เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน เมียนมา จีน คิวบา เอริเทรีย อิหร่าน รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย และเติร์กเมนิสถาน ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลของกลุ่มนี้ มีนโยบายหรือมีรูปแบบของการค้ามนุษย์ในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการบังคับใช้แรงงาน การค้าทางเพศในค่ายของรัฐบาล หรือ การจ้างหรือเกณฑ์ทหารเด็ก

Cover

 

ไทยไม่พยายามทำให้การค้ามนุษย์ดีขึ้น ?

ทั้งนี้ การถูกลดระดับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า  ทาง รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น
 

อีกทั้งพบว่ามีการสอบสวนเรื่องการค้ามนุษย์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยน้อยลง และมีการตัดสินคดีค้ามนุษย์น้อยกว่าในปี 2019 แม้จะมีรายงานอย่างกว้างขวางว่ามีการบังคับใช้แรงงานในหมู่แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รัฐบาลระบุเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา เจ้าหน้าที่มักขาดความเข้าใจเรื่องการค้ามนุษย์

และรัฐบาลยังขาดขั้นตอนมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจแรงงานในการส่งต่อคดีที่เป็นไปได้ไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ทางการไทยยังไม่เคยรายงานการระบุตัวเหยื่อการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงที่ท่าเรือ การให้บริการแก่เหยื่อยังคงไม่เพียงพอ และเหยื่อบางรายที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงของรัฐบาลยังขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว มีการทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และยังมีการตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ 5 คน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ จัดระดับให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2

ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้ปัญหาการค้ามนุษย์มีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีการโยกย้ายทรัพยากรบุคคล และอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ไปสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขและสังคมเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ ที่กลายเป็นการเปิดช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ประโยชน์จากคนที่อ่อนแอได้โดยง่าย

รายงานการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นการจัดลำดับประเทศต่าง ๆ โดยยึดหลักการพิจารณาจากความพยายามในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากผู้คนทั่วโลกเกือบ 25 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ดังนั้น ปัญหานี้จึงเป็นวิกฤตระดับโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดสถิติสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย  

เปิดสถิติสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย โดย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา  
 โดยตามรายงานของ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ  สามารถค้นข้อมูลได้ตั้งแต่ปี 2001 และ ประเทศไทย ยังไม่เคยขยับไปสู่การเป็นกลุ่ม ประเทศเทียร์ 1 ได้เลยแม้แต่ปีเดียว

นอกจากนี้ ยังเคยถูกปรับให้หล่นไปสู่ประเทศ เทียร์ 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐ ในปี 2014 และ 2015 ด้วย

info

2001  เทียร์ 2
2002 เทียร์ 2
2003 เทียร์ 2
2004 เทียร์ 2  ต้องจับตา (Watch List)
 2005 เทียร์ 2
 2006 เทียร์ 2
 2007 เทียร์ 2
 2008 เทียร์ 2
 2009 เทียร์ 2
 2010 เทียร์ 2  ต้องจับตา (Watch List)
 2011เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)
 2012 เทียร์ 2ต้องจับตา  (Watch List)
 2013 เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)
 2014 เทียร์ 3
 2015 เทียร์ 3
 2016 เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)
2017 เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)
2018 เทียร์ 2
2019 เทียร์ 2
2020 เทียร์ 2
2021 เทียร์ 2 ต้องจับตา (Watch List)

 

ไทยแสดงท่าทีผิดหวังต่อการจัดอันดับ

ทันทีที่รายงานของกระทรวงการต่างประเทศออกมา นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลง แสดงความผิดหวังต่อการจัดอันดับครั้งนี้ โดย นายธานี แสงรัตน์ ระบุว่า  ไทยก็มีพัฒนาการเชิคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

1. ในด้านการดำเนินคดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง โดยการพิจารณาคดีกว่าร้อยละ 90 เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี
2. การลงโทษผู้กระทำผิดมีอัตราโทษที่สูงขึ้น โดยมีจำนวนผู้ได้รับโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 67 ของผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษจำคุกทั้งหมด
3.  มีการให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด และการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ดังนั้น เมื่อประเทศไทย ถูกลดอันดับ จึงถือเป็นเรื่องที่รู้สึกผิดหวังที่การจัดระดับไม่ได้สะท้อนอย่างเป็นธรรมถึงความพยายามของไทย  และพัฒนาการความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความเห็นว่า การจัดทำรายงาน เป็นการประเมินและจัดระดับประเทศต่างๆ จากมุมมองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมิได้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ

สำหรับ ปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ และการจัดอันดับของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ น่าจะเป็นกระจกสะท้อน อะไรบางอย่าง ที่เกิดขึ้นในไทยได้...ในมุมมองจากคนนอก ที่เห็นปัญหานี้ จากมุมด้านนอก...และน่าจะะเห็นได้ ทุกด้านทุกมุม แบบไม่มีอคติซ้อนเร้นจากคนใน...

related