svasdssvasds

โซเชียลผุด #หยุดผูกขาดมือถือ ยื่นเรื่องถึงทูตนอร์เวย์ ล้มดีลควบรวมกิจการ

โซเชียลผุด #หยุดผูกขาดมือถือ ยื่นเรื่องถึงทูตนอร์เวย์ ล้มดีลควบรวมกิจการ

โลกโซเชียลผุด #หยุดผูกขาดมือถือ ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว ออกมาร้องและยื่นหนังสือถึงเอกอัคราชทูตนอร์เวย์ให้ส่งเรื่องถึงบริษัทแม่ของแบรนด์ยักษ์โทรคมนาคม ให้ล้มดีลควบรวมกิจการ รายละเอียด เป็นอย่างไร เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง

       ท่ามกลางข่าวใหญ่วงการธุรกิจโทรคมนาคมในบ้านเรา กับดีลควบรวมกิจการ 2 ค่ายใหญ่ จนเกิดกระแสสังคมวิจารณ์กันสนั่น เรียกร้องให้ กสทช. รีบดำเนินการตรวจสอบ ดีลนี้ ว่ามีความเหมาะสม ถูกต้องหรือไม่

        แต่ดูเหมือนจะไม่ทันใจจน เกิดกระแสโซเชียลก่อน #หยุดผูกขาดมือถือ และแท็กถึงนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ รวมถึงก่อนหน้านี้ กลุ่มThe Citizens’ Group for Freedom of Communication หรือ กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ได้เข้ายื่นหนังสือ ถึงเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เพื่อวอนขอให้รัฐบาลนอร์เวย์ ส่งสารไปยัง บ.บอร์ดเทเลนอร์ บริษัทแม่ของ แบรนด์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในบ้านเรา ให้พิจารณายุติการควบรวมกิจการ เนื่องจากกังขาเรื่องความโปร่งใส

โดยให้เหตุผลที่อยากให้ยุติดีลนี้ เพราะพวกเขามองว่า

1.ทำให้เกิดการผูกขาด ตลาดมือถือของไทย จาก  3 ราย เหลือเพียง 2 ราย และประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่รัฐอนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่เป็นเอกชนทั้งคู่ เสี่ยงมีการฮั้วกันอย่างมาก

2. ค่าบริการมือถือ ที่ประชาชนมีความกังวลว่า อาจเพิ่มขึ้น 5 - 200%
เพราะที่ผ่านมามีการเปิดเผยผลการศึกษาจากอนุกรรมการ กสทช. แล้วว่า หากดีลควบรวมสำเร็จ ตลาดจะเกิดการกระจุกตัวมากขึ้น มีผลต่อค่าบริการ  ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการฮั้วกัน มากน้อยแค่ไหน

3. กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่อาจถูกแทรกแซงข้อมูลข่าวสาร

       ซึ่งเอกอัคราชทูตนอร์เวย์ ได้ออกมารับหนังสือเรียกร้องด้วยตัวเองพร้อมบอกว่า จะนำแถลงการณ์ฉบับนี้ ส่งให้ทางรัฐบาลนอร์เวย์ และบ.เทเลนอร์อย่างแน่นอน ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องถูกตรวจสอบ หากผิดหลักธรรมาภิบาล จะไม่มีการปล่อยไว้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

       ประเทศนอร์เวย์ ถูกจัดให้เป็น ประเทศที่มีความโปร่งใสที่สุด อันดับที่ 7  ในโลก ( จัดอันดับโดย Corruption Perceptions Index หรือ CPI องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ) ซึ่งให้ความสำคัญกับกับหลักธรรมาภิบาล หรือ ความโปร่งใส เป็นธรรม ในภาครัฐ หรือ โนคอรัปชั่นเป็นอย่างมาก

       ซึ่งแน่นอนว่า ดีลควบรวม แบรนด์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในบ้านเรากำลังถูกตั้งข้อกังขาถึงความโปร่งใส และการผูกขาด รวมถึงฝ่าฝืนกฏหมายโทรคมนาคมหรือไม่? จึงทำให้นักเคลื่อนไหว ออกมาเรียกร้องต่อสถานทูตนอร์เวย์ในครั้งนี้ 
 

แล้วดีลนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ใครดูแล?

       หน้าที่ของ กสทช. เลย เพราะ มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งชัด ว่า กสทช. สามารถพิจารณาไม่อนุญาต ให้เกิดการควบรวมกิจการได้ หากเห็นว่า เป็นการผูกขาด

 

แล้ว กสทช. พิจารณาว่ายังไง?

       บอร์ด กสทช. ยังไม่พิจารณา ขอเลื่อนออกไปก่อน 30 วัน (เป็นต้นเดือนกันยายน) เนื่องจากข้อมูลตัดสินใจไม่ครบ เพราะผลวิเคราะห์ 6 ข้อ ที่ สนง. กสทช. ต้องส่งให้บอร์ด ยังไม่เสร็จ

ผลวิเคราะห์ 6 ข้อ ที่ สำนักงาน กสทช.ต้องไปจัดทำมา

ที่มีผลชี้ชะตาดีลนี้ มีอะไรบ้าง?

1.วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของสอง แบรนด์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในบ้านเรา

2.วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดต่อการบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาด

3.วิเคราะห์ผลดี ที่อาจเกิดต่อผู้บริโภค

4.วิเคราะห์การถือครองคลื่น ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบ มีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่

5.วิเคราะห์แนวทางการลดค่าบริการ รักษาคุณภาพ ลดผลกระทบต่อผู้บริโภค

6. วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาด เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค

 

       ซึ่ง บอร์ด กสทช. มองว่าข้อมูลดังกล่าวนี้มีความจำเป็น ในการออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ กสทช.  ในการดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนไทย

related