svasdssvasds

"สำนึก" และหมูป่า

"สำนึก" และหมูป่า

ผมใช้เวลาคิดอยู่นานมากว่าจะสะท้อนมุมมองแบบใดในปรากฏการณ์ติดถ้ำของ “ทีมหมูป่า อคาเดมี่” ให้แตกต่างจากคนอื่นและก็นึกถึงเรื่องๆหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้โดยตรง มันเป็นเรื่องของ “ระบบ”และ “การสื่อสาร”...

ผมคิดว่า การสื่อสาร ทุกวันนี้ แยกไม่ออกระหว่างความจริง ความถูกต้อง และ การจัดการ

ผมเห็นด้วยกับคุณดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค ที่บอกว่า เด็กๆไม่ใช่ฮีโร่ แต่ เป็นคนที่ต้องได้รับการเยียวยา และทุกวันนี้ สังคมยังไม่ได้ช่วยเยียวยาเด็กๆหรือแม้แต่ครอบครัวของพวกเขาเลยแม้แต่นิดเดียว

ผมคิดว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการทุกวันนี้ คือ “กำลังใจ” ไม่ว่าจะเป็นทีมหมูป่า หน่วยซีล ทุกกำลังคนที่เข้าไปช่วยเหลือ แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด วันนี้ทุกคนกำลังทำหน้าที่และผมคิดว่า ทุกคนในสังคมต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้ชัดๆว่า เรากำลังทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้วหรือยัง

"สำนึก" และหมูป่า

การเจอเด็กๆไม่ได้แปลว่าภารกิจนี้สำเร็จแล้ว อย่าหลงดีใจ จนกว่าจะนำเด็กออกมาจากถ้ำได้ ช่วยกันส่งกำลังใจให้คนที่บัญชาการอยู่ตรงนั้น คนที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนั้น ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อที่จะนำเด็กออกมา

ผมไม่อยากเห็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบพูดไปเรื่อย พูดด้วยอารมณ์หรืออคติ ผมไม่ได้รู้จักหรือชื่นชอบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นการส่วนตัว แต่มุมหนึ่งผมชื่นชมในการควบคุมสถานการณ์ของท่านผู้ว่า ขณะที่มุมเล็กๆของความรู้สึกก็นึกขัดใจอยู่เล็กๆในวันแรกๆว่า ท่านน่าจะให้เครดิตคนทำงานคนอื่นบ้าง ซึ่งในอีกวันต่อมา ท่านก็ออกมาขอบคุณทีมที่เข้าไปทำงาน ซึ่งก็ถือว่าแก้สถานการณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง

นับจากวินาทีนี้ และ หลังจากนี้ ผมคิดว่า สิ่งที่เราควรได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ “บทเรียน”

บทเรียนของการเกิดเหตุการณ์ที่บางครั้งคิดว่าไม่น่าเกิดแต่มันก็เกิดขึ้นได้ เด็ก 12 คน กับ โค้ช 1 คน ไม่ใช่ไม่เคยเข้าถ้ำหลวง พวกเขาเข้าไปแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็ออกมาได้ ไม่เคยคิดว่า มันอาจจะมีสักครั้งที่ไม่ได้ออกมา ซึ่งครั้งนี้จะเป็นบทเรียนราคาแพงของพวกเขากับความไม่ประมาทในทุกๆเรื่องของชีวิต

เราได้บทเรียนในเรื่องของการวางแผน และ การเชื่อผู้นำ ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมาก ถ้าจำกันได้ สมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม มีคำขวัญติดปากว่า “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นั่นหมายความว่า ผู้นำซึ่งเป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแล นั้นสำคัญมาก และครั้งนี้ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดออกมาอยู่เรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ได้เห็นว่า ทุกเหตุการณ์ต้องมีผู้นำ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ต้องเป็นผู้นำที่คนอื่นอยากเดินตามด้วย ไม่ใช่นำอย่างเดียวแต่ไม่มีใครตาม

"สำนึก" และหมูป่า

เราได้บทเรียนเรื่องความวุ่นวายไร้แผน ในช่วงแรกๆที่ทุกคนแห่แหนกันไปถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ด้วยความรู้สึกหวังดี อยากช่วย อยากมีส่วนร่วม แต่จริงๆแล้ว ความหวังดีต้องมีปัญญาด้วย พระท่านสอนว่า หวังดีต้องมีปัญญากำกับ หวังดีแต่ไม่มีปัญญาก็คือ โง่

หลังจากเอาเด็กๆออกมาจากถ้ำได้แล้ว ต้องมาดูกันว่า เราเสีย “ค่าโง่”ไปเท่าไหร่ กับการแห่แหน และระดมกันไป ใครจะจัดการกับขยะ ของเสียที่ถ้ำหลวงหลังจากทุกคนกลับลงมาแล้ว ฯลฯ

ผมคิดว่า คำถามของท่านนายกรัฐมนตรีที่ถามว่า “มาทำไม” ไม่ว่าจะถามใครก็ตาม มีความหมายมาก เหตุการณ์แบบนี้ คนที่จะลงไปต้องมีประโยชน์จริงๆ ถ้าแค่เพื่อสั่งการ ไม่จำเป็น สั่งทีไหนก็ได้ ยกเว้นอยากเอาหน้า เอาดีใส่ตัว นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

"สำนึก" และหมูป่า

 

หลังจากนี้ ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการรักษาร่างกาย จิตใจ ของผู้ประสบเหตุคือเด็กๆและครอบครัวแล้ว สังคมต้องได้รับการบำบัด เยียวยาในทุกๆเรื่อง การสร้างวินัยในการใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่น เช่น ในที่ๆ เขามีป้ายเตือนหรือบอก ต่อไปนี้ ต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่มี “ป้ายห้ามทิ้งขยะ”ตรงไหน มักจะมีขยะตรงนั้น มี”ป้ายห้ามเข้า”ตรงไหน มักจะมีคนแหวกกฎเข้าไปทุกที่ หรือ มีป้ายเขียนว่า “ระวัง”นั่นคือ ขาดความระมัดระวังตลอด

อันนี้สำคัญมาก ผมเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง และเห็นว่า คนไทยมีระเบียบมากเวลาที่ไปเมืองนอก เขาสั่งให้เดินชิดซ้าย ชิดขวา ทำตามหมด เพราะกลัวเขาว่า แต่อยู่เมืองไทย แค่ขึ้นบันไดเลื่อนหรือขึ้นลงรถไฟฟ้า รถประจำทาง มีป้ายบอกหมดให้ชิดด้านไหน แต่ไม่เคยทำตามเลย อันนี้แปลกมาก

ผมว่าเรื่องแบบนี้ เรามองข้ามกันมาตลอด เราอยู่กันแบบ “สังคมปรนัย” ที่เลือกข้อที่คิดว่าถูกที่สุด แบบ ก ข ค ง กันมานาน จนลืมคิดถึงข้อสอบที่ต้องอ่านหนังสือกันมากมายมาตอบคำถามแบบสังเคราะห์ วิเคราะห์ วิพากษ์

ผมคิดว่า ปรากฏการณ์ “หมูป่า” น่าจะกระตุกต่อมคิดของคนในสังคม ให้หันกลับมามองตัวเอง ยอมรับข้อผิดพลาด สังเคราะห์ และ วิเคราะห์ ประเด็นต่างๆอย่างฉลาด

สำคัญที่สุด คือ ได้เวลาสอนคำว่า “สำนึก”กันตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลแล้วละครับ.

 

โยดา โนกุจิ

related