svasdssvasds

ปลดล็อค ปชช. - พรรคการเมือง กกต.ต้องเร่งสานต่อโจทก์ที่เหลือ

ปลดล็อค ปชช. - พรรคการเมือง กกต.ต้องเร่งสานต่อโจทก์ที่เหลือ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ทันทีที่พ.ร.ป. เลือกตั้งส.ส.มีผลใช้บังคับ 11 ธันวาคม 2561 คสช.ก็มีคำสั่งที่ 22/2561 ปลดล็อคให้ประชาชนชุมนุมเกินกว่า 5 คนได้ ขณะที่พรรคการเมือง สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้เช่นกัน รวมทั้ง ยกเลิกอายัดและการทำธุรกรรมทางการเงินของนักการเมืองที่โดนคำสั่งก่อนหน้านี้

ยกเว้นบางคนที่ยังหลบหนีและเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล-คสช. อย่าง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปัจจุบัน เป็นเลขาธิการองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

แต่มีข้อยกเว้น ในทางคดีสำหรับบุคคลที่ถูกออกหมายเรียกตามคำสั่ง คสช. ก่อนหน้าที่จะมีคำล่าสุดสั่งนี้ ยังจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

โดยให้เหตุผลสำคัญ คือกำลังจะมีการเลือกตั้งในช่วงเวลาอันใกล้ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างอิสระและเสรี ขณะที่พรรคการเมือง ควรที่จะสามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นําเสนอนโยบายต่อประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจได้

เท่ากับนับจากนี้ไป ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เพียงแต่ในขั้นตอน จะต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาเสียก่อน จากนั้น กกต.ต้องออกระเบียบรองรับกฏกติกาต่างๆรองรับพระราชกฤษฎีกา

เนื่องจากการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งไปจากเดิม วิธีการและกติกาประกอบจึงมีบางส่วนที่จะต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

รวมทั้งขนาดของป้ายหาเสียงของผู้สมัคร จำนวนป้าย สถานที่ที่สามารถปักป้ายหาเสียง และอื่นๆ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งพรรคการเมืองหลายพรรคให้ความสนใจและแสดงความเป็นห่วงเป็นใยที่สุด คือวิธีการหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ จะมีรายละเอียดอย่างไร โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้มีการใช้สื่อออนไลน์ วิจารณ์โจมตีหรือสวมชื่อแอบอ้าง กระทั่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ยังไม่นับรวมรูปแบบบัตรเลือกตั้ง ที่รัฐบาลและกกต.โดนจัดหนัก หลังจากเปิดแนวคิด จะให้มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร แต่ไม่มีทั้งชื่อพรรคการเมือง โลโก้พรรคการเมือง โดยข้ออ้างเกรงจะส่งบัตรเลือกตั้งสำรองให้กับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่ทัน หากบัตรเลือกตั้งที่ส่งไปเกิดสูญหาย หรือไปไม่ถึง

กระทั่ง กกต.ต้องรีบลดแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่จากหลายภาคส่วน โดยจะนำเข้าหารือภายใน กกต.เพื่อตัดสินใจเลือกว่า จะใช้แบบไหน

ทั้งหมด ความจริงขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของกกต. สามารถฟันธง กำหนดได้โดย กกต.เอง อย่างกรณีบัตรเลือกตั้ง ในพ.รป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 85 ระบุไว้ชัดเจนว่า หีบบัตรเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่กกต.กำหนด

ผู้ที่ต้องตอบโจทย์สำคัญและสานต่อภารกิจนับถอยหลังเลือกตั้งนับจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับ กกต. เป็นสำคัญ

related