svasdssvasds

ภาครัฐ-นักวิชาการ มองการเชื่อมข้อมูล ระหว่างหน่วยงานรัฐ ต้องทำทันที

ภาครัฐ-นักวิชาการ มองการเชื่อมข้อมูล ระหว่างหน่วยงานรัฐ ต้องทำทันที

นักวิชาการและหน่วยงานรัฐ มองการเก็บข้อมูล Big Data ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป แต่การเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เป็น One Data และนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เป็นเรื่องจำเป็นกว่า และไม่ว่าเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาลก็ยังใช้งานได้

ในงาน NECTEC-ACE2023 ได้จัดให้มีการเสวนาหัวข้อ "การบริหารจัดการข้อมูลสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ" โดยมีวิทยากร คือ รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณดวงพร สิทธิมาลัยรัตน์ รองปลัดเทศบาลนครระยอง ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. ว่า การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการข้อมูลเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับพื้นที่เมืองอัจฉริยะ เปลี่ยนผ่านสู่ภาครัฐดิจิทัลในระดับท้องถิ่น 

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการข้อมูลเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ซึ่ง BDI ได้เข้าไปให้บริการเชื่อมข้อมูลที่บูรณาการและให้บริการข้อมูลสำหรับเรื่องสำคัญในกลุ่มส่วนงานของรัฐ เช่น เชื่อมข้อมูลโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้ผู้ป่วยสะดวกในการรักษาที่ไหนก็ได้

ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นคือทุกหน่วยงานของรัฐ มีคลังข้อมูลเยอะมาก แต่ละวันข้าราชการทำงานเอกสารเยอะมาก แต่มันหายไป และส่วนกลางก็ไม่ได้รับข้อมูลที่สำคัญกลับมาใช้ในการประมวลและคำนวณสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้ดีพอ

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากจำนวนประชากรของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นกว่า 66,090,475 คน แบ่งออกเป็น เพศชาย 31,755,032 คน เพศหญิง 33,351,449 คน และกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรสูงสุดอยู่ที่ 5,494,932 คน แต่ทั้ง 5 ล้านคนที่มีการลงทะเบียนประชากรไว้กับกรุงเทพนั้น ยังขาดเรื่องข้อมูลส่วนอื่นๆ เช่น การเจ็บป่วย การยังมีชีวิตอยู่หรือเสียไปแล้ว การเป็นผู้พิการ ซึ่งข้อมูลปลีกย่อยพวกนี้เก็บยากมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงคอมพิวเตอร์

กรุงเทพฯ มีแอปพลิเคชั่นเยอะมากเป็นหลักร้อย ใช้งบประมาณครั้งละหลายสิบล้านบาท แต่ได้ประโยชน์ในการนำมาใช้งานให้เหมาะกับประชาชนยากมาก ทางผู้ว่าฯ และทีมงานจึงพยายามหาช่องทางที่จะเข้าถึงประชาชนให้ง่ายและสะดวกที่สุด 

เราไม่ได้คิดแค่ว่ามีมือถือ = เข้าล็อกอินข้อมูลได้ แต่ต้องง่ายกว่านั้น คือมองหาแอปที่ประชาชน เข้าใจในเรื่อง UX/UI ในการใช้งาน คุ้นเคยกับเครื่องมือต่างๆ และสำคัญเลยคือต้องปลอดภัย ข้อมูลประชาชนต้องไม่รั่วไหล แต่ต้องเก็บกลับมาให้เป็นคลังข้อมูลของกทม. ไม่ใช่ของเอกชนที่เราไปใช้บริการผ่านระบบและต้องมีเงื่อนไขถึงว่าจะไม่นำข้อมูลประชากรที่ได้มาไปขาย แม้เราจะเปิดกว้างเรื่องการเป็น Opensource แต่ก็ยังปิดบังข้อมูลสำคัญที่ระบุรายบุคคล

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทาง กทม. มีแนวคิดเรื่องเทคโนโลยีเยอะมาก แต่สุดท้ายถ้ายากเกินไปก็ไม่เหมาะกับประชาชนทุกคน เราต้องคิดถึงคนในวงกว้าง เช่น การแจ้งเหตุผ่าน Traffy Fondue เรามองว่าเป็นเครื่องมือที่อิมแพ็ค มาก ในปีแรกมีการแจ้งปัญหากว่า 3.7 แสนเรื่อง เราแก้ไปแล้ว 2.7 แสนเรื่อง ถือว่าเป็น Passive System ที่ง่ายและประชาชนเข้าใจ เราจึงต้องการต่อยอดไปในเรื่องอื่นๆ เช่น แจ้งจับมอเตอร์ไซค์ แจ้งน้ำท่วม เป็นต้น

ยิ่งในอนาคตประชากรจะใช้โซเชียลมีเดียสูงขึ้น แต่กลับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้น้อย เราจึงพยายามที่จะสร้างอนาคตให้ยั่งยืนด้วยข้อมูล ดังนั้น การที่เราเปิดกว้างด้านข้อมูลให้นักวิจัยนำข้อมูลไปพัฒนาและสร้างโอกาสให้กรุงเทพมีแต้มต่อใหม่ๆ จะแบ่งเป็น 3 หมวดคือ

  1. บริหารจัดการทั่วไป
  2. โครงสร้างพื้นฐาน
  3. คุณภาพชีวิต

โดยทั้งสามเรื่องนี้ จำเป็นต้องใช้อาสาสมัครในการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์และบูรณาการร่วมกัน

ภาครัฐ-นักวิชาการ มองการเชื่อมข้อมูล ระหว่างหน่วยงานรัฐ ต้องทำทันที

คุณดวงพร สิทธิมาลัยรัตน์ รองปลัดเทศบาลนครระยอง กล่าวเสริมว่า การบริหารงานในต่างจังหวัดนั้น มีปัญหาในเรื่องการให้ข้อมูลแบบออนไลน์ยากกว่า การเดินเข้ามาที่หน่วยงานราชการและพูดคุยสอบถามกับประชาชนโดยตรงเป็นการทำงานที่ดีกว่าแต่ช้ากว่า รวมทั้งปัญหาในการทำงานก็ยากเพราะมีเอกสารที่ต้องทำในแต่ละวันเยอะมาก 

หากส่วนกลางไม่สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดหรือปรับปรุงให้ย้อนกลับมาเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดได้ ถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าเสียดาย

แต่ละจังหวัดก็ต้องหาแนวทางเอง ซึ่งประชาชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดสูงมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หน่วยงานก็อยากให้มีกระบวนการให้ครบจากส่วนกลางด้วย

ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. กล่าวว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่ได้หมายความว่าเป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว การมีกล้อง CCTV ติดไว้เพื่อดูรถผิดกฎหมายแต่ไม่ได้ส่งข้อมูลไปทำอะไรต่อ มันก็จะเป็นแค่กล้องตัวหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้ในยุคสมัยนี้ เราสามารถสร้างประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้ มีหลายแพลตฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ เช่น แพลตฟอร์ม ในเมือง (NAIMUANG) เป็นแพลตฟอร์มที่มีโมดูลและซอฟต์แวร์ ในการสร้างการช่วยเหลือได้หลากหลาย เช่น มีเครื่องที่ใส่กล้องและลำโพงสำหรับแจ้งเหตุ มีเครื่องมือวัดค่าฝุ่น หรือเครื่องมือคำนวณจำนวนรถยนต์ที่หนาแน่นในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้ผู้บริหารเมืองนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการเมืองให้เป็นระเบียบได้

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related