svasdssvasds

ใช้ไอโฟนต้องรู้ ทำไม? โลโก้ Apple ต้องมีรอยแหว่ง ที่มาของสัญลักษณ์สุด Iconic

ใช้ไอโฟนต้องรู้ ทำไม? โลโก้ Apple ต้องมีรอยแหว่ง ที่มาของสัญลักษณ์สุด Iconic

ใครๆเมื่อเห็นโลโก้ Apple หรือบนผลิตภัณฑ์ iPhone , iPad หรือ Macbook เคยแอบสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมแอปเปิลต้องมีรอยแหว่ง และนี่คือที่มาของโลโก้สุดเจ๋ง ที่ออกแบบโดย ร็อบ จานอฟฟ์ (Rob Janoff)

CR.Rob Janoff

ร็อบ จานอฟฟ์ คือนักออกแบบที่สร้างผลงานนี้จากการบรีฟสั้น ๆ สี่คำของเปอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) ตัวพ่ออย่าง สตีฟ จ็อบส์

“อย่าให้มันแบ๊ว” ("Don't make it cute”)

จานอฟฟ์ เลยจัดให้จากเดิมที่โลโก้แอปเปิลเป็นรูปนิวตันนั่งอ่านหนังสือใต้ต้นแอปเปิล ลดรูปจนเหลือแค่เงาแอปเปิลลูกเดียวโดด ๆ ที่มีรอยแหว่งด้านหนึ่ง

CR.Popticles

ซึ่งหลายคนตีความที่มาของรอยแหว่งนี้ว่ามาจากแอปเปิลแห่งสวนอีเดน หรือผลแห่งความรู้ ที่อดัมและอีฟ แอบชิมจากการยุยงของเจ้างูร้าย จนทำให้เกิดสติปัญญา

 

หรือแนวคิดที่ว่า รอยกัดนี้ เป็นการระลึกถึง แอลัน ทัวริง (Alan Turing) นักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นเครื่องถอดรหัสลับของฝ่ายเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนพัฒนากลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่ง ทัวริง ฆ่าตัวตายด้วยการกินแอปเปิลพิษ

 

อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่า รอยกัด (Bite) เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับ ไบต์ (Byte) หน่วยวัดในคอมพิวเตอร์ ที่หลายคนย่อเหลือแค่คำหน้าอย่าง เม็ก ที่มาจาก เมกะไบต์ (Megabyte) หรือ กิ๊ก จาก กิกะไบต์ (Gigabyte)

 

โดยครั้งหนึ่ง ร็อบ จานอฟฟ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมแค่เติมรอยกัดเพื่อให้เงารูปแอปเปิลมันดูเป็นแอปเปิลมากขึ้น ไม่งั้นคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นส้มเท่านั้นเอง

 

“ที่ตลกคืออะไรรู้มั้ย ไอ้พวกไอเดียที่มาของรอยกัดนี้ ผมเพิ่งมาได้อ่านว่าผมได้แรงบันดาลใจจากไหน ตอนผมออกแบบไปแล้วกว่าสิบปี แต่ก็เอาเถอะที่มามันอาจบรรเจิดไปไกลยิ่งกว่าความคิดผม ซึ่งถ้ามันทำให้คนรู้สึกดีต่อแบรนด์แอปเปิลผมก็ดีใจด้วย”

 

ร็อบ จานอฟฟ์ เป็นหนึ่งในนักออกแบบแห่งซิลิคอนวัลเลย์ ที่วนเวียนอยู่ในวงการออกแบบโลโก้ให้กับหลายบริษัทไอทีในสมัยนั้น หลังจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยซานโฮเซสเตท ในปี 1970

 

และได้สร้างโลโก้ในตำนานขณะทำงานในเอเยนซี่ Regis McKenna ในปี 1977 โดย จ็อบส์ ได้ขอเพิ่มเติมสีรุ้งฟรุ้งฟริ้งให้กับแอปเปิล เพราะอยากให้บริษัทสื่อถึงความสดใสมีชีวิต ส่วนที่เลือกสีเขียวไว้บนสุด ไม่มีอะไรมากกว่าแค่มันเป็นสีใบไม้

ที่มา : The People 

related