svasdssvasds

เปิดแผนยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติ ปัญญาประดิษฐ์ ประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างไร

เปิดแผนยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติ ปัญญาประดิษฐ์ ประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างไร

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI อยู่รอบตัวเราตอนนี้ และถูกคาดหมายว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 โดยเกิดขึ้นในโซนอาเซียนอย่างต่ำ 0.9 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว

ด้วยความใหญ่โตของตัวเลขเศรษฐกิจที่คาดหมาย และความที่ AI สามารถประยุกต์ใช้ในเกือบทุกสาขาอาชีพ ทำให้จากที่ OECD สำรวจ 181 ประเทศในปี 2565 มีถึง 58 ประเทศที่ประกาศแผนยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติ เพื่อเป็นตำราในการขับเคลื่อน AI ในประเทศ

และในความจริงแล้วประเทศไทยเรา สองกระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้ร่วมกันร่างแผนนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ก่อนที่ประเทศจะวิ่งวุ่นกับ COVID-19 และแผนนี้ได้รับความเห็นชอบโดย ครม. สำเร็จเมื่อ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง

เปิดแผนพัฒนา AI ประเทศไทย

ในขณะที่การดำเนินการจัดทำแผนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทีนี้ลองหันกลับมามองสถานะที่แท้จริงของประเทศไทยกำลังเป็นอยู่กันบ้าง

3 ข้อจำกัดของ AI ประเทศไทย

•    ไทยเรามีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อยู่พอสมควร กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยบ้าง เอกชนบ้าง แต่สำคัญคือไม่มีศูนย์กลางให้คำปรึกษา มีคนแต่ไม่มีทีม คิดโจทย์ใหญ่ได้ก็ทำไม่ได้ อีกปัญหาระดับโลกคือ ขาดกำลังคนด้าน AI ซึ่งไทยก็โดนไปด้วย ทุกวันนี้อย่าว่าแต่ AI เลยครับ เอาแค่เด็กรุ่นใหม่จะเข้ามาสู่แวดวง ICT หรือ STEM ก็ยังไม่เพียงพออยู่แล้ว
•    ไทยเราเหมือนจะเป็น super user คือเป็นนักใช้เทคโนโลยีมากกว่าพัฒนาเทคโนโลยี ชีวิตส่วนใหญ่เลยเป็นการพึ่งพาผลิตภัณฑ์และบริการต่างชาติ ข้อดีก็คือใช้ได้เลยทันที ข้อเสียคือเป็นแต่ใช้ คิดเองหรือต่อยอดไม่ค่อยได้ และต้องจ่ายต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาว
•    ไทยมีกฏหมายควบคุมหลายต่อหลายอย่างที่อาจจะจำกัดการเกิดของ AI เช่น พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พรบ. ความปลอดภัยไซเบอร์ ประเทศไทยมีข้อมูลดิจิทัลจำนวนมากในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนบนสังคมออนไลน์ แต่การรวบรวมหรือบูรณาการข้อมูลยังติดขัดไปหมด การสอน AI ก็ทำได้ยากขึ้น

เห็นสถานะไทยแลนด์กันไปแล้ว มีทางออก ทางแก้อย่างไรกันบ้าง เพื่อให้ไทยเดินบนถนนสาย AI ได้ทัดเทียมชาติอื่น

5 แนวทางเสริมแกร่ง AI ไทย

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ •    กำหนดแนวทางจริยธรรมและกฎระเบียบ เป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่า AI มีโอกาสสูงที่จะต้องถูกควบคุมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคม การแย่งงาน การทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น bias หรือเอียงข้าง ตลอดจนการพัฒนา AI โดยไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
•    เสริมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ เช่น ระบบคลาวด์ ระบบ supercomputer และทั้งด้านซอฟต์แวร์ ได้แก่ เครื่องมือในการสร้าง AI และเครื่องมือ AI พื้นฐาน
•    เร่งพัฒนากำลังคน พูดกันถึงการสร้างกำลังคนทั้ง 3 ระดับคือ ระดับเริ่มต้นใช้งาน AI ระดับกลางที่เพิ่มทักษะการพัฒนา AI และระดับสูงที่เรียนจบด้าน AI โดยตรง ระดับกลางและสูงตั้งเป้ากันที่ 30,000 คนในระยะ 5 ปี ป้อนเข้าสู่ภาคบริการ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
•    วิจัยพัฒนาแบบมุ่งเป้า มี 10 กลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะแรกจะเน้นการวิจัยพัฒนา 3 กลุ่มคือ AI ด้านการแพทย์และสาธารณสุข AI สำหรับการเกษตรและอาหาร และ AI สนับสนุนบริการภาครัฐ ที่เหลืออีก 7 กลุ่มเป้าหมายจะตามมา อาทิ ด้านการขนส่ง ด้านการค้าและการเงิน ด้านอุตสาหกรรม ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านการศึกษา เป็นต้น คาดหมายให้เกิดนวัตกรรม AI อย่างต่ำ 100 ชิ้นที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง

10 กลุ่มเป้าหมายมุ่งพัฒนา AI •    ส่งเสริมการใช้ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ส่งเสริมบริษัท startup ด้าน AI การปลดล็อคข้อบังคับต่างๆ ให้สามารถทดสอบใช้งาน AI ได้ พร้อมสนับสนุนให้เกิดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการใช้ AI โดยคาดหวังให้เกิดการใช้งาน AI ในอย่างน้อย 600 หน่วยงาน 

ในภาพรวมแผน AI วางการพัฒนาไว้ค่อนข้างครบถ้วน ส่วนรายละเอียดจะแปลงมาสู่การปฏิบัติอย่างไร เราจะขยับขับเคลื่อนไปได้ตามแผนได้มากน้อยแค่ไหน ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังในครั้งต่อไป

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)

อ้างอิง
AI Thailand 
OECD.AI
 

related