svasdssvasds

เตือนภัย Sharenting ถ่ายรูปลูกลงโซเชียล ผิดยังไง อันตรายถึงขั้นโดนลักพาตัว

เตือนภัย Sharenting ถ่ายรูปลูกลงโซเชียล ผิดยังไง อันตรายถึงขั้นโดนลักพาตัว

เตือนภัย พ่อแม่สายแชะ ถ่ายรูปลูกลงโซเชียล อันตรายกว่าที่คิด ตำรวจเตือน ใช้คำว่า "Sharenting" อาจส่งผลเสียต่อเด็กถึงขั้นนำรูปไปขายเพื่อนความชอบทางเพศ

Sharenting คือ พฤติกรรมของพ่อแม่ที่แชร์ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกมากเกินไป เกิดจากการผสมคำว่า share + parenting หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เป็นผู้ริเริ่มคำนี้ โดยเริ่มตีพิมพ์บทความโดยใช้คำว่า oversharenting หรือการแชร์ข้อมูลและรูปลูกมากเกินไป เพื่อตั้งคำถามเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก

ถ่ายรูปลูกลงโซเชียล เกิดผลเสียอย่างไร ?

  • อาจทำใหเกิด การขโมยตัวตน (Identity Theft) สวมรอยเหยื่อนำข้อมูลส่วนตัวไปกระทำผิดกฎหมาย
  • อาจถูกนำภาพเด็กไปสร้างเรื่องราวขอรับเงินบริจาคต่าง ๆ
  • ปัญหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็ก : การนำภาพเด็กไปขายในเว็บมืด (Dark web) หรือนำไปเพื่อใช้ตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก (Pedophile)
  • อาจถูกนำไปเเสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ 

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

คลิปข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า จริงอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ได้มีเจตนาร้าย ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์รูปลูกด้วยความรักใคร่ เอ็นดู และอยากจะส่งต่อความน่ารักนี้ให้คนอื่นได้เห็น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวบุตรหลานในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดีเข้าถึงตัวบุตรหลานได้ง่าย จากกิจกรรมที่ผู้ปกครองโพสต์ไว้ในสื่อโซเชียลมีเดีย 

ก่อนหน้านี้ ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า งานวิจัยหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กคนหนึ่งจะมีรูปลงในออนไลน์ถึง 1,500 รูป ก่อนจะอายุ 5 ขวบเสียอีก โพสต์เกี่ยวกับเด็กๆ นั้นเรียกคะแนนความสนใจและการกดไลก์จากเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการตลาดชั้นยอด

วิธีป้องกันไม่ให้คนร้ายขโมยรูปลูกไปทำมิดีมิร้าย

  1. พึงระลึกอยู่เสมอว่าการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลลงในโลกออนไลน์ไม่ปลอดภัย
  2. คิดเสมอว่าสิ่งใดที่เผยแพร่ไปแล้วในพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์ สิ่งนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ไม่สามารถเรียกกลับคืน หรือลบล้างออกได้หมด
  3. ไม่โพสต์ หรือแชร์ข้อมูลของบุตรหลานจนเกินพอดี เพราะอาจเป็นเบาะแสให้ถูกลักพาตัวได้
  4. ไม่โพสต์ข้อมูลที่สำคัญลงในสื่อสังคมออนไลน์ และควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวจำกัดผู้เข้าถึงข้อมูล
  5. ผู้ปกครองหมั่นตรวจสอบการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของบุตรหลาน เพราะเด็กอาจจะนำข้อมูลไปเผยแพร่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ข้อมูลจาก ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์ เจ้าของเพจเฟสบุ๊ก "เลี้ยงลูกตามใจหมอ" ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจโดยสรุปว่า อันตรายจากการโพสต์ทุกความเคลื่อนไหว (Sharenting) การแชร์ทุกเรื่องอาจจะอันตราย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน แท็กสถานที่ตลอด และโพสต์แบบเรียลไทม์ “ลูกอยู่ไหน เวลาไหน รู้หมด ลูกเคยทำอะไรในอดีต รู้หมด “เรารู้ โลกรู้มิจฉาชีพก็รู้"

ยิ่งแชร์ ยิ่งอาจมีโทษจะนำอันตรายมาสู่ลูกได้ โดยเฉพาะรูปเปลือยที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายเมื่อโตขึ้น ที่ยังคงอยู่เสมอในโลกออนไลน์ โดยเสนอว่า การโพสต์รูปลูกแต่พองาม เฉพาะคนในครอบครัวและคนสนิทจริงๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรือหากใช้อินสตาแกรมก็รับผู้ติดตามในวงจำกัด เพื่อไม่ให้ข้อมูลของครอบครัวและลูกหลุดไปโดยไม่ตั้งใจ เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและลูก

สิ่งที่ควรทำ คือ เคารพสิทธิของลูก (และเคารพสิทธิของคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นที่จะเลือกโพสต์หรือไม่โพสต์เรื่องราวของครอบครัวเขา) อาจรอสักลูกอายุ 3 ขวบขึ้นไปที่เริ่มพูดคุยรู้เรื่องสามารถลองถามลูกได้ว่า พ่อแม่จะขอโพสต์อะไรได้ไหม ชอบหรือไม่ชอบ ลูกมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้

related