svasdssvasds

รู้จัก TPMAP เครื่องมือแก้จน ปัญหาเรื้อรังระดับชาติ ที่ขาด Big Data

รู้จัก TPMAP เครื่องมือแก้จน ปัญหาเรื้อรังระดับชาติ ที่ขาด Big Data

เมื่อเทคโนโลยีก้าวไกลไปมากกว่าที่คิด การรวบรวมข้อมูลมหาศาล (big data) มาเพื่อให้ เอไอ ใช้เป็นทรัพยากรในการหาหนทางแก้ไขปัญหาจึงเข้ามามีบทบาท ไทยเรามีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการแก้ปัญหาอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่อง ความยากจน

จากบทความเมื่อคราวก่อนที่ได้กล่าวถึงแผน เอไอ (AI) ของไทย และหนึ่งในห้าแนวทางการเสริมแกร่ง AI ไทย คือ การวิจัยพัฒนาแบบพุ่งเป้า โดยในระยะแรกจะเน้นการวิจัยพัฒนา 3 กลุ่ม คือ AI ด้านการแพทย์และสาธารณสุข AI สำหรับการเกษตรและอาหาร และ AI สนับสนุนบริการภาครัฐ แต่อย่างไรก็ดี หนึ่งในสามข้อจำกัดของ AI ในไทย คือ เรามีข้อมูลดิจิทัลจำนวนมากอยู่ในหลายหน่วยงาน แต่การรวบรวม หรือบูรณาการข้อมูลยังมีความท้าทายอย่างมาก ส่งผลให้การสอน AI มีข้อจำกัด ดังนั้น การให้ได้มาซึ่ง AI ที่สามารถสนับสนุนบริการภาครัฐอย่างแท้จริงจึงจำเป็นต้องเริ่มบนฐานของระบบที่มีศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งมีการปรับปรุงข้อมูลให้ใกล้เคียงความเป็นปัจจุบันเสมอ

ผมจะขอยกตัวอย่างของระบบที่มีศักยภาพตามที่กล่าวมาคือ Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) ซึ่งเป็นระบบที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยข้อมูลเปิดในระบบ TPMAP สามารถเข้าถึงได้ผ่าน website: tpmap 

ภาพข้อมูลความยากจนในระบบ TPMAP ส่วนที่เป็นข้อมูลเปิดสามารถลงลึกถึงระดับหมู่บ้านผ่าน tpmap
 

อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดี กับการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในประเทศ ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในอดีตประเทศไทยจำเป็นต้องออกนโยบายแบบปูพรมใช้วิธีเดียวกันในการแก้ปัญหาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศเนื่องจาก ขาดข้อมูล และเครื่องมือที่จะใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการระบุปัญหาแบบพุ่งเป้า ดังนั้น การพัฒนาระบบ TPMAP จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรงผ่านการตอบคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ คนจนอยู่ที่ไหน? คนจนมีปัญหาอะไร? จะพ้นความยากจนได้อย่างไร? โดยสามารถระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งสามารถใช้ในการออกวิธีการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการหรือสภาพปัญหาได้มากขึ้น
รู้จัก TPMAP เครื่องมือแก้จน ปัญหาเรื้อรังระดับชาติ ที่ขาด Big Data ระบบ TPMAP ถูกพัฒนาโดยพื้นฐานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Big Data Analytics โดยการอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน ระบุคนจนโดยใช้ Multidimensional Poverty Index: MPI ผ่านหลักการที่ว่า คนจนคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติจำนวน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การเงิน ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการรัฐ ในปี 2564 รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยใช้ TPMAP ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ปัจจุบัน TPMAP ถูกใช้งานใน 76 จังหวัดและ กทม. ส่งผลให้คนจนคนได้รับการช่วยเหลือ (อ้างอิง nscr)
รู้จัก TPMAP เครื่องมือแก้จน ปัญหาเรื้อรังระดับชาติ ที่ขาด Big Data

ในมิติของข้อมูล ระบบ TPMAP อาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน TPMAP ตั้งต้นในการระบุคนจนเป้าหมายโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และข้อมูลลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลัง จากนั้น TPMAP อาศัยข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้ในการระบุเรื่องการได้รับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการ สิทธิรักษาพยาบาล เป็นต้น ในเรื่องการทำให้เป็นปัจจุบันและลดความซ้ำซ้อน TPMAP อาศัยข้อมูลในพื้นที่ที่นำเข้าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องรายละเอียดเพิ่มเติมของการแก้ปัญหาความยากจนและการแก้ไขในระดับรายบุคคลและครัวเรือน

ตัวอย่างพื้นที่ใช้งาน TPMAP อย่างต่อเนื่องได้แก่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ทางจังหวัดได้วางขั้นตอนการใช้งาน TPMAP อย่างเป็นระบบโดยเริ่มจากการประชุมชี้แจงมอบแนวทางการปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบข้าใจตรงกัน สร้างความรู้ความเข้าใจในระบบ TPMAP  ลงพื้นที่ปักหมุดพิกัดครัวเรือน ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ รายงานความก้าวหน้า ติดตามและประเมินผล ยกตัวอย่างเช่น หากครัวเรือนหนึ่งได้รับการระบุว่าขัดสนด้านรายได้ ก็ช่วยเหลือสร้างรายได้ผ่านการสอนอาชีพทางเลือก เช่น การปลูกผักสวนครัว เย็บกระทงใบตองแห้ง หรือหากสมาชิกครัวเรือนนั้นมีปัญหาด้านการได้ยินเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ก็ให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องช่วยฟัง เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกเข้าระบบ TPMAP ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทราบว่าครัวเรือนนี้ได้รับการช่วยเหลืออย่างไรไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนและสามารถต่อยอดยกระดับการช่วยให้พ้นจากความยากจนต่อไป (รายละเอียดเพิ่มเติม thainews)

ตัวอย่างการใช้งาน TPMAP ที่จังหวัดสมุทรสงคราม 

แล้วมาติดตามกันต่อนะครับ ว่าโอกาสในการใช้ AI สนับสนุนบริการภาครัฐในระบบ TPMAP จะมีอะไรอีกบ้าง...
เรียบเรียงโดย :  ดร.สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช.
 

related