svasdssvasds

"วัดอรุณราชวราราม" เอียง กรมศิลป์ใช้เทคโนโลยี 3D สแกน ยันโครงสร้างไร้ปัญหา

"วัดอรุณราชวราราม" เอียง กรมศิลป์ใช้เทคโนโลยี 3D สแกน ยันโครงสร้างไร้ปัญหา

กรมศิลปากร ใช้เทคโนโลยี 3D เก็บข้อมูลโบราณสถาน ยืนยันโครงสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ไม่มีปัญหาต่อตัวโบราณสถาน

 วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" แล้วเปลี่ยนมาเป็น “วัดแจ้ง” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังเดิม และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)   ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแห่งรัตนโกสินทร์

"วัดอรุณราชวราราม" เอียง กรมศิลป์ใช้เทคโนโลยี 3D สแกน ยันโครงสร้างไร้ปัญหา

 ล่าสุดกรมศิลปากรดำเนินการจัดเก็บข้อมูล 3D โบราณสถาน ด้วยวิธีสแกนภาพสามมิติ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตามโครงการเก็บข้อมูลโบราณสถานโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการดูแลโบราณสถานของชาติ

 ซึ่งผลการสแกนพบมณฑปด้านทิศใต้เอียงเข้าหาองค์พระปรางค์เล็กน้อยนั้น ยืนยันไม่มีเหตุบ่งชี้ว่าเป็นอันตรายต่อตัวโบราณสถาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสูง อย่างไรก็ตามจะมีการเก็บข้อมูลเป็นระยะเพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ต่อไป

 กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเอียงตั้งแต่แรกก่อสร้าง หรือการซ่อมแซมบูรณะในภายหลัง รวมถึงลักษณะโครงสร้างของดินในกรุงเทพมหานคร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "ไอติม 3 มิติ" ลายกระเบื้องวัดอรุณฯ สวยจนไม่กล้ากิน!

• พระปรางค์ วัดอรุณฯไฟประดับ "สีเขียว"

• ยามเย็น อบอุ่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าพระปรางค์วัดอรุณฯ

"วัดอรุณราชวราราม" เอียง กรมศิลป์ใช้เทคโนโลยี 3D สแกน ยันโครงสร้างไร้ปัญหา

 ด้านนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร จึงได้เข้าหารือกับทางวัด พร้อมทั้งเสนอให้ติดตามเฝ้าระวังและจัดเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมโดยละเอียดและต่อเนื่อง โดยมีกรอบระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจสอบแนวโน้มและวิเคราะห์ว่า มีการเคลื่อนตัวจริงหรือไม่ หากมีการเอียงเพิ่มเติมจะได้หาแนวทางอนุรักษ์อย่างเหมาะสมต่อไป 

 การดำเนินการตรวจสอบสถานะลักษณะทางกายภาพของโบราณสถานนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่กรมศิลปากรดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะโบราณสถานที่มีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในอดีตเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดการทรุดเอียง ทางกรมศิลปากรก็ได้เข้าไปตรวจสอบจนมั่นใจว่าไม่มีการเอียงมากไปกว่าเดิมและไม่เป็นอันตราย

 แต่สิ่งที่แตกต่างในปัจจุบันสำหรับการตรวจสอบโบราณสถาน คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบโบราณสถาน โดยใช้วิธีสแกนภาพ 3 มิติ ซึ่งจะแสดงให้เห็นภาพเปรียบเทียบในลักษณะไฟล์ดิจิทัลที่มีความแม่นยำสูงกว่าในอดีต

ทำให้การอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และหลังจากนี้ จะมีการดำเนินโครงการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวกับโบราณสถานอื่นๆ ด้วย

related