svasdssvasds

เปิดใจบอร์ดใหม่ "พีระพันธ์ุ" ทำไมการบินไทยอาการหนัก ระดับโคม่า ?

เปิดใจบอร์ดใหม่ "พีระพันธ์ุ"  ทำไมการบินไทยอาการหนัก ระดับโคม่า ?

สปริงนิวส์ สัมภาษณ์พิเศษ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เจาะลึกทุกปัญหา การบินไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร รวมถึงแนวทางในการดำเนินงานฝ่าวิกฤต ทั้งระยะสั้น และระยะยาว

สิ่งที่การบินไทยกำลังประสบอยู่ในเวลานี้ ถ้าเปรียบเป็นมนุษย์ อาการก็เข้าขั้นโคม่า มีโรคแทรกซ้อนมากมาย ถือว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต จนต้องยื่นแผนฟื้นฟูกับศาลล้มละลาย

และมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ 3 คน เข้าไปทำหน้าที่แทนกรรมการเดิมส่วนหนึ่ง เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

หนึ่งในนั้นก็คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันยังรั้งตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ

โดยผลงานสำคัญในอดีต คือการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ที่นำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาล และประสบชัยชนะ ทำให้ไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท

ส่วนภารกิจครั้งนี้ ในการฟื้นฟูการบินไทย จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ต้องติดตามกันต่อไป

โดยสปริงนิวส์ได้สัมภาษณ์พิเศษ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อย่างเจาะลึก รวมถึงไขข้อข้องใจอื่นๆ ให้กระจ่างชัด ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าการฟื้นฟูการบินไทย ถือว่าเป็นภารกิจที่หนักมาก

เปิดใจบอร์ดใหม่ "พีระพันธ์ุ"  ทำไมการบินไทยอาการหนัก ระดับโคม่า ?

ปัญหาหลัก ที่ทำให้การบินไทย อาการโคม่า

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2562 ระบุว่า การบินไทยมีหนี้สินสูงถึง 2.4 แสนล้านบาท มีทรัพย์สิน 2.5 แสนล้านบาท ผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี โดยปีที่แล้วขาดทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากวิกฤตตรงนี้ ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ปัญหาหลักที่หนักที่สุด ที่ทำให้การบินไทยมาจุดนี้ได้ คืออะไร ไปติดตามในบทสัมภาษณ์กันเลย

สปริงนิวส์ : จากการเข้ามารับหน้าที่นี้เกือบ 1 สัปดาห์ และประชุมบอร์ดไปแล้ว 2 ครั้ง พอวิเคราะห์ได้ไหมว่า ที่การบินไทยมาถึงจุดนี้ ปัญหาที่หนักที่สุดคืออะไร ?

พีระพันธ์ุ : ผมเพิ่งเห็นอะไรหลายๆ อย่างในเอกสารต่างๆ ปัญหาหลักคือเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่ใช่เรื่องของตัวธุรกิจ ผมคิดว่าปัญหามาจากระบบกับการบริหารจัดการ

สปริงนิวส์ : และที่มีบางส่วนพาดพิงว่า การแทรกแซงทางการเมือง ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การบินไทยประสบปัญหา คุณมีความคิดเห็นอย่างไร ?

พีระพันธ์ุ : อันนี้ผมคงตอบชัดเจนไม่ได้ เพราะนั่นเป็นแค่ความคิดความเข้าใจ แต่พอผมเข้ามาเนี่ย ก็ไม่มีการเมืองมายุ่งเกี่ยวแล้ว เพราะตอนนี้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนในอดีตจะเป็นอย่างไรนั้น เดี๋ยวคงต้องมีการตรวจสอบกันต่อไปในแต่ละเรื่อง ว่ามีการแทรกแซงกันจริงหรือไม่

สปริงนิวส์ : ในการประชุมคณะกรรมการวันแรก คุณเป็นคนแรกที่ประกาศไม่รับเงินเดือน 

พีระพันธ์ุ : ใช่ครับ

สปริงนิวส์ : ส่งผลให้คณะกรรมการทั้งหมด ไม่รับเงินเดือน ?

พีระพันธ์ุ : ผมไม่ทราบ (หัวเราะ) ทุกคนเขาก็ตัดสินใจของเขาเอง

สปริงนิวส์ : ในที่ประชุมได้มีการเสนอให้ตัดงบประมาณในส่วนอื่น แทนการลดเงินเดือนพนักงานทั่วไป ข้อเสนอนี้มีที่มาอย่างไร ?

พีระพันธ์ุ : การบินไทยได้มีการปรับลดเงินเดือนพนักงานไปแล้ว ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงาน เพียงแต่ว่ามีการขออนุมัติขยายเวลา

แต่ผมคิดว่า พนักงานตัวเล็กๆ เงินเดือนสองสามหมื่น เขาโดนหักไป 10 % หรือ 15 % ดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์มันน้อย แต่หักแล้วเขาเหลือไม่เท่าไหร่ แล้วจะอยู่ได้อย่างไร ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูง หักไป 50 % ยังเหลือเดือนละเป็นแสน

ผมคิดอย่างนี้ครับ ประการที่ 1 เราต้องนึกถึงสภาพความเป็นจริงด้วยว่า คนต้องกินต้องใช้ เขามีครอบครัว มีลูกต้องดูแล เราต้องเห็นใจ ต้องเข้าใจเขาตรงนี้

แล้วเราต้องอาศัยเขาในการทำงานฟื้นฟูบริษัท ถ้าเขาไม่มีกำลังใจจะทำ แล้วใครจะช่วยเราทำงาน

ซึ่งพนักงานที่มีเงินเดือนไม่เกินสองหมื่น มีแค่สองพันกว่าราย หักรวมกันแล้วก็ได้เงินประมาณ 4 ล้านกว่าบาท ในขณะที่งบประมาณด้านอื่นๆ มันมีตั้งเยอะแยะ ที่ไปหักชดเชยได้

และที่ประชุมก็เห็นสอดคล้องว่า ให้ไปหักจากงบส่วนอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท และเมื่อหักแล้วก็ค่อยมาหาทางชดเชยคืนพนักงานในภายหลัง

สปริงนิวส์ : ตรงนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องขวัญและกำลังใจ

พีระพันธ์ุ : สำหรับผมมันไม่ใช่ไง ผมอยู่กับคนปฏิบัติงานมาตลอด ผมรู้ว่า ลำพังตัวเราทำงานต่างๆ มันไม่ได้หรอก มันต้องมีทีมงาน มีลูกน้อง ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีกำลังใจ เขาไม่รู้สึกว่าเราเข้าใจเห็นใจเขา เขาไม่มีใจกับเรา มันก็ทำงานลำบาก

พนักงานต้องเข้าใจสถานการณ์ของบริษัท แต่เราเองก็ต้องเข้าใจความเป็นอยู่ของเขาด้วย ถ้าต่างคนต่างเข้าใจกัน ช่วยกัน มันก็ไปได้ มันก็จะเกิดความร่วมมือกันขึ้นมา

ดังนั้น อย่าทำให้บรรยากาศในบริษัทมันเหมือนกับว่า โอ้โฮ ผู้บริหารกับพนักงานมันต่างชั้นกันเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันต้องพึ่งพากัน

ต้องทำให้รู้สึกถึงความเป็นธรรม ถ้ามีบรรยากาศความเหลื่อมล้ำ มันไม่มีทางที่จะเดินหน้ากันไปได้

สปริงนิวส์ : ล่าสุด เรื่องเงินเดือนของพนักงานทั่วไป มีบทสรุปอย่างไร ?

พีระพันธ์ุ : ใช้ระบบสมัครใจ คือถ้าใครสมัครใจให้หัก เขาก็หัก ถ้าพนักงานคนไหนไม่สมัครใจ ก็คือไม่หัก

แต่ผมก็คิดว่า แม้บางคนสมัครใจ แต่ถ้าเขาอยู่ไม่ได้ แล้วทำไมเราต้องไปให้เขาสมัครใจ หรือไม่สมัครใจด้วยล่ะ ก็ไม่ต้องหักเขาเลย ผมจึงคิดว่า ถ้าหักงบด้านอื่นได้ ก็ให้ชดเชยคืนพนักงาน (ทั่วไป)

สปริงนิวส์ : ไปๆ มาๆ ค่าสัมมนา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ยังไม่จำเป็น เมื่อลดลง อาจจะได้เยอะกว่าการลดเงินเดือนพนักงานทั่วไป

พีระพันธ์ุ : มีเยอะแยะไปหมด มีหลายรายการ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจนะ ทำไมมันถึงเยอะ ผมจึงบอกว่า ส่วนหนึ่งที่การบินไทยมีปัญหาในอดีต ก็เพราะว่าการบริหารจัดการ และระบบต่างๆ ภายในบริษัท

เปิดใจบอร์ดใหม่ "พีระพันธ์ุ"  ทำไมการบินไทยอาการหนัก ระดับโคม่า ?

การบินไทย กับเจ้าหนี้

จากจำนวนหนี้สินมหาศาลกว่า 2.4 แสนล้านบาท มีเจ้าหนี้ต่างชาติรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วอย่างนี้การบินไทยต้องทำแผนฟื้นฟู ยื่นกับศาลสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่  ? บทสัมภาษณ์นี้ มีคำตอบ

สปริงนิวส์ : หลังจากศาลล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้อง การยื่นแผนฟื้นฟูของการบินไทย ส่งผลให้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องการบินไทยได้ 

พีระพันธ์ุ : เราก็เข้าสู่ Automatic Stay (การพักชำระหนี้อัตโนมัติ) ตอนนี้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดี หรือฟ้องร้องให้ชำระหนี้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้อีกเลย

เพราะฉะนั้นเหตุที่ได้รับการคุ้มครองนี้ (หลังศาลฯ รับคำร้อง) ก็เพื่อให้โอกาสลูกหนี้กับเจ้าหนี้เจรจาหาทางประนีประนอมกัน เพื่อให้ลูกหนี้ฟื้นกิจการได้เท่านั้นเอง

แต่ถ้าเราไม่สามารถเจรจาตกลงกับเจ้าหนี้ได้ สุดท้าย มันก็ต้องล้มละลาย

สปริงนิวส์ : ปัจจัยที่สำคัญ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ของการบินไทย ระหว่างการฟื้นฟู มีอะไรบ้าง ?

พีระพันธ์ุ : มีหลายปัจจัยครับ ปัจจัยที่ 1 ทางการบินไทยก็ต้องหาทางเจรจากับเจ้าหนี้ ในรูปแบบของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เจ้าหนี้มั่นใจว่า เรามีเจตนาที่จะชำระหนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบี้ยวหนี้

ปัจจัยที่ 2 เขาต้องเห็นแผนของการบินไทยก่อนว่า จะจัดการบริหารอย่างไร เพื่อให้มีรายได้มาชดใช้หนี้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของการทำแผน

ปัจจัยที่ 3 เรื่องของความน่าเชื่อถือ ใครจะมาเป็นผู้บริหารแผน ดูแลการบริหารฟื้นฟูกิจการ โดยการดำเนินการของการบินไทย จะเป็นในรูปแบบคณะผู้ทำแผน

สปริงนิวส์ : ที่หลายคนสงสัยก็คือ การบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างชาติหลายราย ตรงนี้ต้องมีการยื่นขอฟื้นฟูกับศาลของสหรัฐ อีกหรือไม่ ?

พีระพันธ์ุ : ยังไม่มีเหตุผลที่ต้องไปขอยื่นฟื้นฟูกับศาลสหรัฐฯ ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนนะครับว่า เราฟื้นฟูกิจการที่อยู่ในประเทศไทย

แต่ที่มีคนพูดไปถึง Chapter 11 ที่ศาลสหรัฐฯ เพราะเขากลัวว่า เจ้าหนี้จะไปฟ้องยึดทรัพย์ของการบินไทยที่นั่น แต่ตอนนี้การบินไทยไม่มีเที่ยวบินไปสหรัฐฯ จึงไม่มีเครื่องบินอยู่ที่นั่น

แต่ถ้าเป็นเจ้าหนี้ประเภทอื่น เขาจะไปฟ้อง ก็เข้าสู่กระบวนการฟ้องธรรมดาไป เราก็ไปต่อสู้ แล้วทรัพย์สินที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ เท่าที่ผมพอประเมินได้ ก็ไม่มากเท่าไหร่

ฉะนั้นอยู่ดีๆ เราจะไปยื่น Chapter 11 ให้เสียเงินที่สหรัฐฯ ทำไม ซึ่งผมว่าไม่จำเป็น แต่ที่จำเป็นก็คือ ถ้าเราสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ เขาก็ไม่ไปยื่นฟ้องเราอยู่แล้ว

เปิดใจบอร์ดใหม่ "พีระพันธ์ุ"  ทำไมการบินไทยอาการหนัก ระดับโคม่า ?

กู้วิกฤตการบินไทย

สถานการณ์ที่การบินไทยประสบอยู่ในเวลานี้ หากจะบอกว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย เพราะนอกจากหนี้จำนวนมหาศาลแล้ว ในแต่ละเดือนก็มีรายจ่ายในระดับสูงมาก ซึ่งเป็นอีกโจทย์ยากๆ ของคณะกรรมการ ในการหาหนทางผ่อนคลายวิกฤตทั้งระยะสั้น และระยยาว

สปริงนิวส์ : นอกจากคณะกรรมการการบินไทย จำนวน 11 คน (กรรมการเดิม 9 คน กรรมการใหม่ 3 คน) และยังมีคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทยฯ หรือที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” ตรงนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

พีระพันธ์ุ : ไม่เกี่ยวข้องกันครับ ไม่มีอะไรที่ลิ้งก์กัน ทั้งในทางบริหาร และในทางกฎหมาย

ก็อย่างที่อาจารย์วิษณุ (ประธานซูเปอร์บอร์ด) เคยบอกไว้ บอร์ดดังกล่าวจะทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าของการทำงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นบอร์ดที่มาบังคับบัญชา หรือมาสั่งการกำกับดูแลการบินไทย

เพราะการบินไทยเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่ว่ามีกระทรวงการคลังของรัฐบาล ถือหุ้นอยู่ (ปัจุบันถือหุ้นประมาณ 48 %)

เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทางรัฐบาลต้องการทราบความคืบหน้า การตั้งคณะของอาจารย์วิษณุขึ้นมา ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบอร์ดบริหารบริษัท หรือการบริหารจัดการในการบินไทย

สปริงนิวส์ : มีรายงานข่าวว่า การบินไทยเหลือกระแสเงินสดอยู่ไม่มากนัก แต่มีภาระต่อเดือนสูงกว่า 5 พันล้านบาท ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในช่วงนี้ หรือไม่ ?

พีระพันธุ์ : เหลือ (กระแสเงินสด) อยู่หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายต่อเดือน เท่าที่ดูตัวเลข ไม่ถึง 5 พันล้านบาท

ณ ขณะนี้การบริหารทั่วไปสามารถทำได้ ไม่น่าเป็นห่วง แต่เราก็ต้องหาทางให้มีรายได้เข้ามาเหมือนการทำธุรกิจปกติให้เร็วที่สุด คือกระแสเงินสดที่มีอยู่ในเวลานี้ พอประทังไปได้ในระยะเวลาหนึ่ง

สปริงนิวส์ : จากสถานการณ์ตรงนี้ที่คล้ายกับเจแปนแอร์ไลน์ ปี 53 แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้ภายในเวลาแค่ 1 ปี ทางคณะกรรมการจะมีการนำโมเดลการแก้ปัญหาของเจแปนแอร์ไลน์ มาประยุกต์ใช้กับการบินไทย อย่างไรบ้าง ?

ตรงนี้เราก็จะพยายาม แต่ว่าปัจจัยต่างๆ มันไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในปัจจุบัน และปัจจัยภายนอกก็คือ เรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศ ก็ไม่เหมือนเมื่อปี 53

เพราะฉะนั้นต้องมาปรับแผนว่า ต้องทำธุรกิจในรูปแบบไหนต่อไป เพราะตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องโควิด-19 ซึ่งกระทบไปทั่วโลก และกระทบเรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศด้วย แต่ในปี 53 เจแปนแอร์ไลน์ ไม่มีปัญหานี้

สปริงส์นิวส์ : เหมือนเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งหนักกว่าเจแปนแอร์ไลน์ด้วยซ้ำ

พีระพันธ์ุ : ใช่ครับ คือไม่มีโควิด ก็มีปัญหาอยู่แล้ว ทีนี้พอมีโควิดมันก็กระทบธุรกิจหลักเลย คือธุรกิจการบิน มันก็ต้องมานั่งคิดว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

สปริงนิวส์ : จากการประเมินสถานการณ์ คุณคิดว่า การบินไทยจะฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลากี่ปี ?

พีระพันธ์ุ : ผมก็เพิ่งเข้ามาประชุมได้เพียง 2 วัน เท่านั้นเอง กำลังอยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์

ตอนนี้ผมได้ข้อมูลของบริษัทเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะตอบคำถามได้ในเวลานี้

แต่เราก็ตั้งใจที่จะทำงาน ทำหน้าที่ฟื้นฟูจริงๆ เพราะเห็นความสำคัญทั้งของตัวบริษัทเอง และของประเทศชาติ

อันนี้ถือว่าเป็นภารกิจของพวกเรา ไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกคนที่เข้ามา (ใหม่) 3 คน ไม่ได้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ หรือสถานะว่าเป็นกรรมการการบินไทย

ที่สำคัญคือท่านนายกฯ ได้กำชับ โดยเฉพาะกับผมเนี่ยในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาท่านด้วย ท่านได้กำชับชัดเจนว่า ขอให้พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้นึกถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศชาติ

ผมก็ยึดแนวทางที่ทำงานเป็นปกติ บวกกับนโยบายที่ท่านนายกฯ มอบหมายมา ผมจะพยายามทำหน้าที่ครับ และขอให้เชื่อมั่นว่า ผมและคณะเข้ามาเพื่อจุดหมายเดียวกัน คือหาทางที่จะทำอย่างไรให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้

related