svasdssvasds

เปิดเล่ห์เหลี่ยม 4 กลโกงร้านค้าหัวหมอในโครงการคนละครึ่ง !

เปิดเล่ห์เหลี่ยม 4 กลโกงร้านค้าหัวหมอในโครงการคนละครึ่ง !

โครงการคนละครึ่งของรัฐบาลเห็นว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากร้านค้า และประชาชน ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจึงทำให้ต้องมีเพิ่มระยะที่ 2 ขึ้นมาส่งท้ายปี 2563 แม้ว่าจะประสบความสำเร็จแต่ก็ยังมีร้านค้าที่หัวหมอเปิดกลโกงประชาชนอยู่ วันนี้จะพาไปเปิด 4 กลโกงของร้านค้าเพื่อให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม

เปิดเล่ห์เหลี่ยม 4 กลโกงร้านค้าหัวหมอในโครงการคนละครึ่ง !

โครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่เป็นหนึ่งในโครงการที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเพื่อให้อัดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจปั๊มหัวใจเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นหลังถูกโควิด – 19 ซัดใส่จนน่วม ทำให้นาทีต้องอาศัยยาแรงในการรักษา แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอัดสารพัดแคมเปญเข้าช่วย

โดยล่าสุดก็ผุดโครงการคนละครึ่งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายให้กับประชาชน และร้านค้าย่อย ๆ ซึ่งโครงการในระยะที่ 1 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาก ๆ  จนทำให้รัฐบาลมีต่อในระยะที่2 อีกภายในเดือนธันวาคม 2563 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และร้านค้ารายย่อย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่วายที่จะมีเรื่องจนได้ เมื่อมีร้านค้าเปิดกลโกงหาประโยชน์จากช่องว่างของมาตรการ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และตำรวจ ปอศ. กำลังร่วมกันติดตามดำเนินคดีย้อนหลัง หากพบการกระทำผิดจริงจะถูกยึดเงิน และถูกตัดสิทธิ์ในทันที โดยวันนี้จะรวบรวมกลโกงมาให้ดู ทั้งที่เกิดขึ้นจริง และสิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.รูปแบบจ่ายครึ่งก็รับของครึ่ง โดยกลโกงนี้ คือ ร้านค้าจะลดปริมาณสินค้าหรือบริการให้น้อยลง โดยจะอ้างว่าผู้ซื้อจ่ายราคาครึ่งเดียว ซึ่งอันความเป็นจริงแล้วอีกครึ่งนั้นรัฐจ่ายให้ร้านค้าได้รับเงินเต็มจำนวนไม่ได้ถูกหักแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ซื้อควรปกป้องสิทธิ์ตนเองด้วยการไม่สนับสนุนไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ พร้อมทั้งสามารถแจ้งตำรวจ หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาตรวจสอบได้

2.รูปแบบเบิกเป็นเงินสด โดยกลโกงนี้จะมาในรูปแบบร่วมกันโกงทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ซื้อทำทีชำระเงินผ่าน G-Wallet เข้าร้านค้าโดยไม่ได้มีการซื้อขายของจริง จากนั้นร้านค้าคืนเป็นเงินสดให้ แล้วนำวงเงิน 150 บาท มาแบ่งกันแล้วแต่ตกลงหัวคิวแบบวินกันทั้งคู่ ดังนั้นรัฐสามารถตรวจสอบผ่านการทำรายการได้ เช่น การชำระเงินผิดปกติหรือไม่ ผู้ซื้อจ่ายเงินยอดซ้ำ ยอดเดิมร้านเดียวหรือไม่

3.ไม่มีร้านอยู่จริง รูปแบบกลโกงนี้จะเป็นการลงทะเบียนร้านค้าปลอมทั้งที่ไม่มีร้านค้าจริงเป็นการตั้งร้านค้าขึ้นมาหลอก โดยปกติไม่ได้ขายสินค้าหรือบริการใดโดยตรง อย่างไรก็ตามธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่าร้านค้ามีตัวตนจริงหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าหากมีช่องว่างให้ตบตาเจ้าหน้าที่ได้ แต่ธุรกรรมการทำรายการต่าง ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ได้อยู่ดีในที่สุด

.

4.รูปแบบแอบขึ้นราคา โดยร้านค้ามักฉวยโอกาสขึ้นราคาสูงจากเดิมเพราะเห็นว่าลูกค้าเยอะขึ้น และจ่ายเงินเพียงครึ่งเดียวคงไม่มีใครว่าอะไรทั้งนี้ตัวร้านค้ากลับได้กำไรเท่าตัว ดังนั้นผู้ซื้อจะต้องปกป้องสิทธิ์ตนเองด้วยการไม่สนับสนุน ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ และสามารถแจ้งตำรวจ หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบได้

นี่คือสิ่งที่โครงการเฟสแรกประสบพบเจอ และเป็นปัญหาที่ต้องหาทางอุดช่องโหว่รอยรั่วให้ได้ในระยะที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ทั้งนี้เพื่อให้เม็ดเงินทุกบาทกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

related