svasdssvasds

ศึกอภิปรายฯ ได้แค่ขยี้แผล ! จับตา ถ้าครบเงื่อนไข 3 ข้อ อาจยุบสภาภายในปีนี้

ศึกอภิปรายฯ ได้แค่ขยี้แผล ! จับตา ถ้าครบเงื่อนไข 3 ข้อ อาจยุบสภาภายในปีนี้

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ในประเด็นที่ว่า สถานการณ์ในเวลานี้ สุกงอมพอที่จะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือยุบสภา ได้หรือไม่ ?

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งถูกจับจ้องว่า อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันเนื่องมาจากปัญหามากมายในเวลานี้ ที่รัฐบาลไม่สามารถสะสางได้ โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งที่ลุกลาม ก็สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ไม่เท่าทันปัญหา

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในประเด็นที่ว่า สถานการณ์เช่นนี้ สุกงอมพอที่จะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือยุบสภาหรือไม่ ? โดย รศ.ดร.ยุทธพร ได้วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็น ดังต่อไปนี้

ยุทธพร อิสรชัย

ยุบสภา ยังเป็นไปได้ยาก เพราะแกนนำฯ และพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่พร้อม

ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญกลับไปตกอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งมีมติไม่โหวตไว้วางใจนายกฯ หรือถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนนำไปสู่การยุบสภาได้ แต่ รศ.ดร.ยุทธพร กลับเห็นว่า เป็นไปได้ยาก

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางเรื่องวิกฤตความชอบธรรม และ (ปัญหาด้าน) ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล เพราะฉะนั้นการที่จะเห็นความเชื่อมต่อกับการเมืองนอกสภา ความเคลื่อนไหวต่างๆ อันเนื่องมาจากความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เข้าไปในสภา ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง

“แต่อย่างไรก็ดี มันยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางการเมือง เราคงยังไม่ได้เห็นการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลกำลังมีความได้เปรียบ ซึ่งเงื่อนไขที่จะถอนตัว ก็มีปัจจัยต่างๆ อย่างน้อย 3 ประการ ที่จะต้องเรียบร้อยก่อน”

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผ่านวาระ 3  

“ทุกพรรคก็ต้องการเหมือนกันหมด ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แล้วเรื่องนี้กำลังพิจารณาอยู่ในวาระที่ 2 ในกรรมาธิการ กำลังเข้าสู่วาระที่ 3 ถ้าเรียบร้อย เราอาจได้เห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้น”

2 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ผ่านวาระ 3

“พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทุกพรรคก็ต้องการเหมือนกัน เพราะว่าเรื่องของงบประมาณจะทำให้เกิดโครงการการพัฒนา การแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะงบประมาณปี 2565 จะมีงบที่เกี่ยวกับการเยียวยาแก้ปัญหาโควิด 19 ด้วย”

3. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ

“การแต่งตั้งทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน นอกจากจะเกี่ยวพันกับการจัดวางโครงสร้างอำนาจของรัฐแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งอีกด้วย

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนว่ารัฐบาลยังอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ แต่เนื้อหาสาระก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คนเฝ้าติดตาม เพราะการเมืองทั้งในสภาและนอกสภาตอนนี้ก็ถูกเชื่อมโยงกันมากพอสมควร”

บิ๊กตู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิปรายไม่ไว้วางใจ ปลายสิงหาฯ นี้ ได้แค่ขยี้แผล

จากที่ รศ.ดร.ยุทธพร ได้วิเคราะห์ไว้ข้างต้น และเมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ ณ ตอนนี้ เงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ

โดยอาจารย์เห็นด้วยว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปลายเดือนสิงหาคมนี้ แม้จะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ก็จะเป็นการเปิดและขยี้บาดแผล จากความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด-19 ที่จะเพิ่มแรงกดันให้กับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น  

“การอภิปรายคือเวทีที่สังคมให้ความสนใจ พร้อมกับการเคลื่อนไหวนอกสภา ที่ในวันนี้ก็มีม็อบเกิดขึ้นแทบจะรายวัน เพราะฉะนั้นเมื่อผนวกกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ประเด็นเหล่านี้ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมา

“แต่จริงๆ แล้ว ก็มีหลายประเด็นที่มีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การประชุมสภาในหลายวาระ ทั้งเรื่องวัคซีนต่างๆ คำถามเกี่ยวกับงบประมาณ หรือ พ.ร.ก.กู้เงินที่เข้าสู่สภา เพียงแต่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐบาล ที่กว้างขวางเหมือนในเวลานี้

“หากใน 2 เดือนข้างหน้าถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ อีก  อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ลงตัวก่อน (ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ข้อ) เราอาจจะเห็นการยุบสภาเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ ก็เป็นไปได้ หรืออาจจะต้นปีหน้า ก็เป็นไปได้ครับ”

บิ๊กตู่

สมมติว่าเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง “นายกฯ นอกบัญชี” มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ?  

ถ้าว่ากันตามเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ แล้ว รัฐบาลยังคงได้เปรียบ อยู่ในสถานะที่ถือไพ่เหนือกว่า แต่จากสถานการณ์ในวันนี้ ที่มีม็อบแทบจะรายวัน เกิดเสียงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก แม้แต่คนที่เคยสนับสนุน ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ออกมาขับไล่

ซึ่งหากรัฐบาลไม่อยากยุบสภาในช่วงที่ยังไม่พร้อม แต่สมมตินะ สมมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับ “นายกฯ นอกบัญชี” โดย รศ.ดร.ยุทธพร ได้ให้ข้อมูล ดังนี้  

“นายกฯ นอกบัญชี ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ต้องใช้เงื่อนไขหลายอย่าง อย่างแรกเลยก็คือ การขอเปิดประชุมสภา ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

“ส่วนขั้นตอนที่ 2 ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา ในการที่จะปลดล็อกนายกฯ นอกบัญชี ไปสู่ขั้นตอนที่ 3 ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ในการเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นนายกฯ นอกบัญชีได้

“เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนกลับมาดูในข้อเท็จจริงก็จะพบว่า 1. เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของสภา ซึ่งเสียง ส.ส.อย่างเดียวไม่พอแน่นอน เพราะในวันนี้ ส.ส. มีจำนวนไม่ถึง 500 คนด้วยซ้ำ จึงต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ร่วมด้วย

“ถ้าผ่านขั้นตอนขอเปิดประชุม ไปสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสภา โดยหลักการก็คือ 500 เสียง จาก 750 เสียง แต่ตอนนี้ ทั้ง ส.ส. กับ ส.ว. มีไม่ถึง 750 คน ส.ส.ก็มีอยู่ประมาณสี่ร้อยปลายๆ ก็ไม่พอ จึงต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.ด้วย

“ปกติเราก็จะเห็นความเป็นเอกภาพของ ส.ว. ในการลงมติอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้ โอกาสที่จะเกิดนายกฯ นอกบัญชี ก็เป็นเรื่องที่ยาก แล้วก็ในสถานการณ์ปัจจุบัน ใครจะเป็นนายกฯ นอกบัญชี ที่จะมาแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ก็เป็นโจทย์ที่หนัก จะหาใครเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ที่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย”

SpringNews ถามต่อไปว่า สมมติหากมีการเลือกนายกฯ นอกบัญชี กลุ่ม 3 ป. ยังมีอิทธิพลในการกำหนดเกมหรือไม่ ? ซึ่ง รศ.ดร.ยุทธพร ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“ถ้าเป็นนายกนอกบัญชี ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 3 ป. แล้ว ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ , พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ทั้ง 3 ท่านนี้ หากเป็นนายกฯ ยังไงก็คงต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

“ส่วน พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.อนุพงษ์ ก็เป็นไปได้ยากที่จะมาเป็นนายกฯ ซึ่งในกรณีหากมีนายกฯ นอกบัญชีเกิดขึ้น ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจของกลุ่ม 3 ป. ได้ถูกลดลง”

พรรคก้าวไกล

ความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล “ประเด็นโยก 1.6 หมื่นล้าน เข้างบกลาง” จะส่งผลให้การอภิปรายลดความเข้มข้นลงหรือไม่ ?

จากกรณีความขัดแย้งจากการโยกงบที่ปรับลดได้ ไปไว้ในงบกลาง โดยกรรมาธิการฝั่งก้าวไกล ไม่เห็นด้วย พร้อมชี้ว่า เป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ ส่วนกรรมาธิการฝั่งเพื่อไทย กลับโหวตเห็นด้วย จนมีการพาดพิงกระทบกระทั่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลกับความเข้มข้นในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย รศ.ดร.ยุทธพร ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นว่า

“ฝ่ายค้าน ก็มีปัญหาเรื่องเอกภาพอยู่แล้ว เขารวมตัวกันในแง่ของแนวร่วมอุดมการณ์ แต่ในรายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกัน

“ดังจะเห็นได้ว่า พรรคฝ่ายค้านเองในหลายๆ ครั้ง หลายๆ กรณี ก็มีความเห็นที่ต่างกัน เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ครั้งหนึ่งในอดีต พรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล ในปัจจุบัน) ยังไม่ทันได้อภิปราย แต่เสียโควต้าให้กับพรรคเพื่อไทย (อภิปรายเกินเวลา เคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าจงใจหรือไม่) ก็เป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา

“หรือแม้แต่การลงมติในกฎหมายสำคัญๆ หลายเรื่อง เพื่อไทยกับก้าวไกล ก็เห็นไม่ตรงกัน แม้กระทั้งปัจจุบันก็มีหลายประเด็นที่มีความเห็นต่างกัน

“อย่างเช่นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ทั้ง 2 พรรคจะเห็นตรงกันในเรื่องบัตร 2 ใบ แต่พรรคก้าวไกลต้องการบัตร 2 ใบ ระบบ MMP ส่วนที่เพื่อไทยสนับสนุนคือบัตร 2 ใบในระบบคู่ขนาน ตรงนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันทางอุดมการณ์ที่สอดคล้องต้องกันทั้งหมด”

ม็อบ

เมื่อการเมืองในสภา ไม่อาจเขย่ารัฐบาลได้ การเมืองนอกสภาจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ?

หากว่ากันในเรื่องการเมืองในระบบแล้ว หลายคนก็รู้สึกว่า แทบมองไม่เห็นทางออก ด้วยข้อกำหนดต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉะนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงหากจะเกิดขึ้น ต้องหวังพึ่งการเมืองนอกสภาหรือไม่ ? โดย รศ.ดร.ยุทธพร ได้แสดงความคิดเห็นทิ้งท้าย ดังนี้     

“ณ วันนี้ต้องบอกว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่จะเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่ามีปัจจัยหลายอย่าง ประเด็นแรกก็คือ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง แล้วความขัดแย้งดังกล่าว ก็ยังมีลักษณะแบ่งขั้วทางการเมือง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก

“อย่างม็อบที่เกิดขึ้นทั้งหลายในเวลานี้ก็จะถูกมองว่า มีขั้วทางการเมือง จึงไม่เกิดการรวมตัวกับฝั่งที่มีความคิดอุดมการณ์ต่างกัน อาจจะมีบางคนที่เปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมความเชื่อทางการเมือง หรือบางคนที่ไปร่วมเพราะต้องการทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นจุดรวมเดียวกัน ที่เรียกว่า แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง หรือบางส่วนก็อาจจะไม่ไปรวมเลย ฉะนั้นพลังตรงนี้ยังมีไม่มากพอ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ส่วนปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือ วันนี้รัฐบาลสามารถระดมองคาพยพต่างๆ ในอำนาจรัฐ มาคัดง้าง เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ใช้หน่วยงานด้านความมั่นคง ฯลฯ เพื่อทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย

“แม้วันนี้เราจะบอกว่าสภาวะการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง แต่อย่างไรก็ตามความไม่สมดุลตรงนี้ ในระยะยาวถ้ายังไม่มีการปรับเปลี่ยน โอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของระบบการเมือง ก็มีความเป็นไปได้ครับ”

related