svasdssvasds

คณิตศาสตร์ทางการเมือง ใครมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม.

คณิตศาสตร์ทางการเมือง  ใครมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม.

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ วิเคราะห์ข้อมูลจากคะแนนฐานเสียงของกลุ่มต่างๆ โดยอิงจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด (ปี 2562) แบ่งกลุ่มผู้สมัครออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อคำนวณว่า ใครมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.วันแรก มีผู้ที่มาลงสมัครแล้ว 17 คน ซึ่งในเวลานี้หากจะบอกว่าใครมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ก็ยังถือว่าเร็วเกินไป แต่ถ้าประเมินจากฐานเสียงตามหลักคณิตศาสตร์ทางการเมือง ก็อาจจะพอเห็นภาพในระดับหนึ่ง

โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ว่า หากวิเคราะห์ข้อมูลจากคะแนนที่เป็นฐานเสียงของกลุ่มต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ปี 2562) ก็สามารถแบ่งกลุ่มแบ่งขั้วกันตามรสนิยมทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ ได้ดังนี้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

กลุ่มที่ 1 เพื่อไทย + อนาคตใหม่ (เดิม)

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวว่า ฐานเสียงกลุ่มนี้มีประมาณ 1.4 ล้านเสียง (อิงจากคะแนนการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด) โดยบุคคลที่อยู่ในฐานเสียงนี้ ได้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ , วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล และศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้จะลงในนามผู้สมัครอิสระ แต่ก็มีเงาของพรรคเพื่อไทยทาบทับอยู่ บวกกับฐานเสียงของผู้ที่ชื่นชอบชัชชาติ ก็ทำให้เขามีต้นทุนที่ค่อนข้างได้เปรียบ ประกอบกับผลโพลคะแนนก็นำมาตลอด ดังนั้นกลุ่มนี้ คะแนนส่วนใหญ่น่าจะอยู่กับชัชชาติ และอีกสิ่งที่ทำให้ชัชชาติได้เปรียบผู้สมัครรายอื่นในกลุ่มก็คือ โอกาสที่จะได้คะแนนเสียงแบบข้ามกลุ่ม หรือข้ามขั้วนั่นเอง

ผู้ที่มีโอกาสได้คะแนนสูงรองลงมาก็คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โดยการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 คะแนนของพรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ได้ 8 แสนคะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ประมาณ 6 แสนคะแนน

แต่ก็มีข้อกังขาว่า ที่พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเยอะขนาดนั้น เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทุกเขต ดังนั้นเมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว คะแนนราวๆ 1 - 2 แสนเสียงจะไหลกลับไปที่พรรคเพื่อไทย ชัชชาติก็ยังมีคะแนนนำอยู่ในขั้วนี้

ส่วน น.ต.ศิธา ทิวารี อาจจะได้คะแนนบ้างในบางพื้นที่ที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังมีฐานเสียงอยู่ แต่ไม่ถึงขั้นจะได้ลุ้นระดับเป็นคู่ชิงในกลุ่มนี้ได้

ส่วนโจทย์ใหญ่ของกลุ่มนี้ก็คือ คะแนนของวิโรจน์ จะไปตัดคะแนนนของชัชชาติ จนทำให้แพ้กลุ่มที่ 2 หรือไม่ ? ซึ่งโจทย์ใหญ่ตรงนี้นี่แหละที่ทำให้อีกขั้วมีความหวังขึ้นมา และหวังให้คะแนนของวิโรจน์ตัดกับชัชชาติให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้  

ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่า สิ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้เปรียบก็คือ คะแนนจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก หรือ  นิวโหวตเตอร์ แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?

ซึ่งจากข้อมูลของ กกต. ที่ระบุว่า น่าจะมีนิวโหวตเตอร์ (ผู้ที่เลือกตั้งครั้งแรก) อยู่ประมาณ 16 % ของผู้มีสิทธิ์ หรือประมาณ 7 แสนคน ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใดนั้น ดร.สติธร กล่าวว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว ส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเป็นข้อมูลของ กกต.นับตั้งแต่ปี 2556 (เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุด) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าพูดถึงคะแนนของนิวโหวตเตอร์ ควรนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2562

ซึ่งนิวโหวตเตอร์ปี 2556 เราเคยได้เห็นแนวโน้มการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาแล้ว แต่นิวโหวตเตอร์แท้ๆ หลังการเลือกตั้งปี 2562 เรายังไม่เคยเห็นการลงคะแนนของพวกเขา

ดังนั้นคะแนนนิวโหวตเตอร์ที่นำมาเป็นตัวแปร จึงควรเป็นเฉพาะในส่วนหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งอาจจะมีประมาณ 7 - 8 % ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้  

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ

กลุ่มที่ 2 ประชาธิปัตย์ + พลังประชารัฐ และกลุ่มที่ 3 ผู้สมัครฯ อื่นๆ

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวว่า ผู้ที่มีฐานคะแนนนอยู่ในกลุ่มนี้ ก็คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ , สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ , สกลธี ภัททิยกุล และ รสนา โตสิสกุล โดยฐานคะแนนในกลุ่มของ 3 คนแรก ตอนนี้ค่อนข้างสูสีกัน คะแนนนยังมีโอกาสไหลไปไหลมาได้ แต่ถ้ายึดจากผลโพล พล.ต.อ.อัศวิน น่าจะนำเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ตามด้วย สุชัชวีร์ อันดับที่ 2 และสกลธี อันดับที่ 3

ซึ่งหากมีปัจจัยทำให้โหวตเตอร์ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เกิดความคิดที่ว่า จะต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ก็มีโอกาสที่คะแนนของกลุ่มจะไหลไปที่ใครคนนั้น แล้วก็จะมีคะแนนที่สูงมาก ในขณะที่อีกกลุ่มมีแนวโน้มตัดคะแนนกันแน่ๆ และไม่มีโอกาสที่คะแนนจะไหลมารวมกัน

และอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ 3 มีฐานคะแนนเสียงรวมกันที่ประมาณ 5 แสนเสียง ได้แก่ผู้สมัครพรรคเล็ก หรือผู้สมัครอิสระต่างๆ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จะมีโอกาสเกิดประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” อีกหรือไม่ ?

ส่วนความเป็นไปได้ที่ว่า 7 วันสุดท้ายจะมีโอกาสเกิดประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2556 ที่ส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยที่ 2 หรือไม่นั้น ดร.สติธร ธนานิธิโชติ กล่าวว่า  มีโอกาส ในกรณีของกลุ่มที่ไม่เลือกชัชชาติ รู้สึกกังวลใจมากๆ หากชัชชาติชนะเลือกตั้ง แต่ถ้าเทียบกับปี 2556 ด้วยความเป็นชัชชาติ สิทธิพันธุ์ น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล

ที่มา รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand

related