svasdssvasds

สัมภาษณ์พิเศษ Taitern ศิลปิน NFT ไทย เพียงคนเดียวบนเวทีระดับโลก NFT.NYC 2022

สัมภาษณ์พิเศษ Taitern ศิลปิน NFT ไทย เพียงคนเดียวบนเวทีระดับโลก NFT.NYC 2022

Taitern หรือ ฐิติพันธ์ ทับทอง ศิลบิน NFT ไทย ที่ได้เข้าร่วมงาน NFT.NYC 2022 แบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ บรรยากาศ และเป้าหมายที่จะพาคอมมูนิตี้ศิลปิน NFT ไทยให้ไปต่อด้วยกลยุทธ์แบบ ฝูงหมาป่า

ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณ ฐิติพันธ์ ทับทอง หรือ ไตเติ้ล โดยมีชื่อในวงการ NFT คือ Taitern ที่เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วมในงาน NFT.NYC 2022 ในฐานะ Speaker จากศิลปินทั้งหมดกว่า 1500 คน งานนี้ดึงดูดผู้สนใจเข้าร่วมได้มากกว่า 15,000 คน โดยจัดขึ้นบริเวณใจกลางมหานครนิวยอร์ก ในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

NFT.NYC 2022 ได้รับการขนานนามจากนิตยสาร Forbes ว่าเป็น ซูเปอร์โบวล์ของวงการ NFTs เลยทีเดียว เพราะเป็นการจัดงานด้าน NFT ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดของโลกเวลานี้ รวบรวมแฟนๆ ศิลปินและนักพัฒนา NFTs จากทั่วทุกมุมโลกเข้าไว้ในงานแห่งนี้ 
กราฟิกแนะนำ คุณไตเติ้ล ในฐานะ Speaker ที่ร่วมในงาน NFT.NYC 2022

ภาพบรรยากาศในงาน NFT.NYC 2022 จากเฟซบุ๊ก TaiternNFT  (Taitern)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ในครั้งนี้ แม้ผู้เขียนจะไม่ได้เป็นติดตามวงการนี้อย่างใกล้ชิด แต่ในเมื่อมีศิลปิน NFT ไทย ได้รับเกียรติให้ร่วมในงานยิ่งใหญ่ระดับโลกขนาดนี้ก็ต้องขอเกาะล้อตามไปฟังเส้นทางการเดินทางของคุณไตเติ้ล (Taitern) ร่วมภูมิใจไปความสำเร็จครั้งนี้กันสักหน่อย จึงขอสัมภาษณ์พิเศษข้ามทวีป ไม่สนไทม์โซน เพื่อสัมผัสบรรยากาศภายในงานก่อนใคร จากปากของเจ้าตัว  

คุณไตเติ้ล ขณะให้สัมภาษณ์กับทาง Spring News ผ่าน Zoom จากนิวยอร์ก ภาพจาก เฟซบุ๊ก Patch Jeenanat  

ความท้าทายที่ทักมาหาตั้งแต่ทราบข่าวดี
หลังจากที่ คุณไตเติ้ล (Taitern) ได้รับอีเมลยืนยันจากผู้จัดงานให้เข้าร่วมในงาน NFT.NYC 2022 เพียงเดือนกว่าๆ ก่อนออกเดินทางสำหรับเวลาเตรียมตัวนั้นไม่ง่ายเลย เริ่มกันตั้งแต่การขอวีซ่าอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศนี้ตรวจเช็กกันโหดเป็นที่รู้กันดีซึ่งถ้าจะไปกันตามเส้นทางปกติต้องรอคิวสัมภาษณ์เร็วสุดคือกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เอเจนซี่ไหนก็ไม่กล้ารับปากว่าจะสามารถช่วยให้ได้วีซ่าทันในวันที่กำหนด เขาและผู้จัดการ (ภรรยา) จึงต้องลุยกันเองด้วยการยื่นขอวีซ่าแบบด่วนพิเศษ 
ต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ยืนยัน การเดินทางในครั้งนี้แบบเร่งด่วน ก่อนที่จะได้คิวสัมภาษณ์ที่สถานกงสุล อเมริกา จังหวัดเชียงใหม่ และสามารถผ่านด่านที่หนึ่งนี้ไปได้ หายใจโล่งหนึ่งที ก็ต้องมารับทราบข่าวทางอีเมล ที่เหมือนจะเป็นข่าวดีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพูดให้เป็นการนั่งคุยสนทนากับแขกรับเชิญท่านอื่นที่มีตำแหน่ง CEO จะมาร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อเดียวกันและต้องย้ายสถานที่จัดงานไปในห้องใหญ่ขึ้น เพราะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมงาน แต่ก็ข่าวดีที่มาพร้อมกับความกังวล ใจให้กับ คุณไตเติ้ล (Taitern) ไม่น้อย แต่ก็ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ตามความเรียกร้องของผู้ชม 

ความไม่แน่นอนจนวินาทีสุดท้าย ที่กลายเป็นช่วงเวลาน่าจดจำของคอมมูนิตี้ NFT ไทย 
ก่อนเริ่มงานไม่กี่ชั่วโมงก็ได้รับอีเมลอีกฉบับให้ต้องตื่นเต้นอีกครั้ง หนึ่งในแขกผู้ร่วมงานลืมโทรศัพท์ไว้ในแท็กซี่และต้องกลับไปเอาคืน จึงไม่สามารถมาร่วมงานได้ทันเวลาขอสละสิทธิ์ไป จึงทำให้เหลือแขกที่จะพูดคุย 2 ท่าน แต่ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนเริ่มก็ได้รับอีเมล (อีกแล้วเหรอ) ว่าผู้ร่วมเวทีอีกคนยังอยู่ที่สถานบินที่ห่างจากที่จัดงานประมาณ 50 นาทีซึ่งเวลา ขณะนั้นไม่สามารถมาถึงงานตามเวลาที่กำหนดได้แน่นอน ทีมงานจึงให้ 2 เลือกกับคุณไตเติ้ล (Taitern) ว่าจะเลือกข้ามการพูดคุยนี่ไป
หรือกลับไปใช้รูปแบบยืนพูดเดี่ยวพร้อมสไลด์ แน่นอนโอกาสแบบนี้ไม่รู้จะได้มีเข้ามาอีกเมื่อไหร่ และการได้มายืนบนเวทีก็เหมือนแบก คอมมูนิตี้ NFT ไทยแลนด์ติดตัวมาด้วย เขาจึงไม่ปล่อยให้หลุดมือไป จึงขอให้ผู้จัดการ (ภรรยา) กลับไปเอาคอมพิวเตอร์ที่เตรียมข้อมูลเดิมไว้มาให้ที่งานแต่ด้วยปัญหาทางเทคนิก ที่ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นตอกย้ำความไม่แน่นอนของชีวิต จึงทำให้ต้องไปกลับถึงสองรอบ จนทำให้ไม่สามารถนำไฟล์เข้าในระบบได้ทันเวลา และคุณไตเติ้ล (Taitern) ต้องกระโดดขึ้นเวที แบบไม่ได้ซ้อม ไม่มีสคริป ไม่มีสไลด์ ยืนเดี่ยวกับสมุดโน้ตในมือ ที่เรียบเรียงรายละเอียด ลำดับการพูดในช่วงวินาทีสุดท้าย เป็นแผนสำรองสุดท้ายที่ต้องงัดออกมาใช้ 

บรรยากาศขณะที่คุณไตเติ้ลพูดในหัวข้อ "Love as an NFT Strategy? Creating a Collaborative Culture that Becomes your Competitive Advantage" ภาพจาก TaiternNFT (Taitern)

บรรยากาศภายในห้องจัดงาน ภาพจาก เฟซบุ๊ก TaiternNFT (Taitern)
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การพูดในครั้งนี้ของ คุณไตเติ้ล (Taitern) ขาดความน่าสนใจแต่อย่างใด เพราะวัดจากเสียงปรบมือหลังการพูดจบก็การันตีได้ว่าผู้ชมในงานชื่มชมในตัวเขา ทั้งยังมีข้อความจากผู้ที่ได้ฟังเขาพูดภายในงานที่ทักมาหาส่วนตัวแสดงความยินดีในหัว "Love as an NFT Strategy? Creating a Collaborative Culture that Becomes your Competitive Advantage" เมื่อวันวันพุธที่ 22 มิถุนายน 16.05-16.30 (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ Coin Theater at Marriott 6th Floor (Broadway) ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนของวงการ NFT ไทย ในการเลือกใช้กลยุทธ์ "ฝูงหมาป่า" นำพาคอมมูนิตี้ศิลปินของเราแข่งขันในตลาดโลก ที่มีผู้เล่นมากมาย ถึงแม้ประเทศเราจะมีจุดอ่อนทางด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ยังไล่ตามประเทศมหาอำนาจที่พัฒนาไปไกล แต่ความที่คนไทยมีสายเลือดศิลปินติดตัวกันอยู่แล้ว ถ้าบุกไปด้วยกัน น่าจะทำให้สร้างที่ทางของวงการ NFT ไทยในตลาดโลกได้ไม่แพ้กัน 

ความสำเร็จที่ต้องยอมแลกด้วยเวลาส่วนตัว 
ด้วยความที่ คุณไตเติ้ล (Taitern) มีอาชีพหลักเป็นผู้บริหารงานด้านครีเอทีฟในตำแหน่ง Executive Creative Director at Brilliant&Million ดิจิทัลเอเจนซี่โฆษณา เป็นงานประจำที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องดูแลทีมครีเอทีฟ และไม่ได้ทำงานศิลปะแบบจริงจังมาก่อน เป็นเพียงความสนใจที่สะสมประสบการณ์การเสพย์งานแนวนี้อยู่เป็นประจำ กลายเป็นเมื่อต้องทำความรู้จักกับ NFT ที่เริ่มต้นจากเป็นส่วนหนึ่งของงาน จึงแทรกซึมเข้ามากลายเป็นความชอบและงานอดิเรกที่หล่อเลี้ยงจิตใจ

ซึ่งในวงการที่มีแต่ศิลปินตำแหน่งหน้าที่ของเขาในงานโฆษณาจึงได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนวงการนี้ผ่านการเติมความรู้มุมมองในด้านการตลาด การขายและการวางกลยุทธ์ ที่เขาใช้กับงานประจำอยู่แล้ว มาทำให้โปรเจคของเขาโดดเด่นออกมาจากตลาด โดยโปรเจคที่ทำให้มาไกลถึงนิวยอร์กนี้มีชื่อว่า Flipped Face มาจากแนวคิดที่ว่า "ถ้าโลกปกติมันวุ่นวายนัก ก็ลองมองมุมกลับดูบ้าง" เป็นการนำเสนอภาพวาดไปกับวิธีคิดคอนเซปต์ไปพร้อมกัน จึงทำให้ได้รับความสนใจจากทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จนได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก จากการจัดอันดับของ NEAR blockchain 

ส่วนหนึ่งของคอลเลกชัน Flipped Face จากเพจ Taitern
แม้จะต้องเริ่มศึกษาเทคโนโลยี สร้างผลงาน วางกลยุทธ์ และทุ่มเทเวลาให้ NFT แต่เขาก็สามารถจัดการเวลาทั้งการทำงานประจำ งานอดิเรก การพักผ่อนและความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้อย่างดี ด้วยการใช้วิธี Time blocking หาจุดร่วมที่สามารถทำให้ความชอบใน NFT และชีวิตส่วนตัว เช่น การไปคาเฟ่ ในวันหยุด สามารถมาเจอกันตรงกลางได้ด้วย การหาพื้นที่สำหรับชุมชนคนรัก NFT ที่จะมาพบปะและจิบเครื่องดื่มกันไปด้วย 

ส่วนแบ่งในกระเป๋าเงินของนักสะสมในอนาคต 
ก้าวต่อไปและเทรนด์ที่กำลังจะมา คุณไตเติ้ล (Taitern) มองว่า NFT จะเริ่มเข้ามาหาตัวเราโดยไม่รู้มากขึ้น เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ร่วมงานกับทาง Lotus's - โลตัส ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทย ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่กว้าง ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน ที่อาจไม่ได้อัปเดตเทคโนโลยีเป็นประจำ ก็ยังลงมาเล่นในสนาม NFT นี้ด้วยเช่น รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายเทคโนโลยีโดยตรง ก็กำลังออกคอลเลกชั่นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับ NFT นี้เหมือนกัน เช่น บาบีก้อน เป็นต้น จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการทำตลาดและการทำโฆษณาต่อไป

หนึ่งในโปรเจคที่คุณไตเติ้ล ได้ร่วมออกแบบคอลเลชัน NFT ให้กับ Lotus

ส่วนในกลุ่มนักสะสมของลิมิเต็ด แรร์ไอเทม ของหายาก เช่น เสื้อผ้าแบรนด์เนมคอลเลกชั่นพิเศษ หรือ กลุ่มผลิตของเล่น หุ่นโมเดล ที่ยอมจ่ายให้กับของที่มีคุณค่าทางใจแบบนี้อยู่แล้ว จะแบ่งเงินในกระเป๋ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนี้กันมากขึ้น 
เพราะให้ความรู้สึกการเก็บสะสมสินค้ารุ่นพิเศษ ที่มีชิ้นเดียว จะเพื่อเก็งกำไรหรือเป็นความชอบส่วนบุคคลก็ตาม จะเติบโตขึ้น 

และกลุ่มสุดท้ายสายเทคโนโลยี ที่ลงสนามกันมาตั้งแต่เริ่ม ก็จะขยายตลาดในเมตาเวิร์ต ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ในโลกเสมือนที่จับจ่ายซื้อขาย พบปะแลกเปลี่ยนกันและกันต่อไป 

สุดท้ายตัวอย่างที่น่าสนใจที่คุณ คุณไตเติ้ล (Taitern) มองว่าสามารถเป็นกรณีศึกษาสำหรับใครที่คิดว่าอยากลงเล่นในตลาดสินทรัพย์ออนไลน์นี้เช่นกัน นั่นก็คือ นิตยสาร TIME ที่ก่อตั้งยืนหยัดมาเกือบร้อยปี ก็นำ สินทรัพย์หรือลิขลิทธิ์ ภาพข่าวที่สะสมมาผลิตเป็น NFT ให้นักสะสมได้จับจองเป็นเจ้าของและกำลังเป็นที่น่าจับตามองในตลาดไม่แพ้งานศิลปะอื่นๆ    

จากการได้พูดคุยเพียง 30 นาทีสามารถสัมผัสได้ถึงวิธีการทำงานที่ระเบียบวินัย ปรับตัว รับข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งเป็นกุญแจที่ทำให้ ฐิติพันธ์ ทับทอง หรือ ไตเติ้ล (Taitern) สามารถก้าวเข้ามาอยู่แถวหน้าของวงการ NFT ไทยและกำลังไปต่อในเวทีโลกเช่นเดียวกัน 

สำหรับช่อง ติดตามผลงาน คุณไตเติ้ล (Taitern) หรือสนใจจับจองเก็บสะสมเข้าคอลเลกชันเก็งกำไรกันก่อน สามารถเข้าไปที่ลิงก์ https://linktr.ee/taitern
 

related