svasdssvasds

อย่าให้คอนเทนต์เรียกยอดไลก์จากโซเชียล ลดทอนศักดิ์ศรี-ละเมิดสิทธิเด็ก

อย่าให้คอนเทนต์เรียกยอดไลก์จากโซเชียล ลดทอนศักดิ์ศรี-ละเมิดสิทธิเด็ก

เด็กได้ประโยชน์อะไร คำถามที่ หมอเดว กุมารแพทย์ฯ ชวนตั้งให้พ่อแม่และผู้ปกครองขบคิด ก่อนคลิกอัดคลิปลูกหลาน โพสต์ลงโซเชียลมีเดียถ้าไม่อยากสร้างตัวร้าย นางอิจฉานอกจอ

เป้าหมายเพื่อไวรัลคลิป แข่งนับยอดไลก์จนลืมจิตวิญญาณและศักดิ์ศรีความเป็นพ่อแม่อยู่รึเปล่า ? เป็นคำถามที่หมอเดว 
หรือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (Suriyadeo Tripathi) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น
ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวทิ้งท้ายแต่เป็นคำถามเริ่มต้นที่ฝากไว้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่ผ่านมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้ย้อนถามกับตัวเองดูก่อนกดโพสต์หรือสร้างคอนเทนต์กับลูกหลานหรือเด็กคนไหนก็ตาม 

ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกในช่วงปฐมวัย ภาพจาก freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากประเด็นดราม่า ฟิลเตอร์ผีหลอกเด็กกลัว ที่พ่อแม่ผู้ใหญ่ในบ้านกำลังนิยมเล่นกันในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางช่องทาง TikTok รวมทั้งพฤติกรรมการอัดคลิปกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ในลักษณะที่น่าอับอายผ่านทางโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆก่อนหน้านี้ แม้อาจสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าชมและสามารถเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ให้กับคลิปต่งๆดังกล่าวได้ แต่ก็เป็นที่น่ากังวลว่าพฤติกรรมดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กที่ยังมีวุฒิภาวะน้อย จนกลายบาดแผลในใจที่ส่งผลติดตัวไปยังวัยผู้ใหญ่ที่โดนรังแกจนฝังจำด้วยน้ำมือพ่อแม่ของตัวเอง 

ทาง Spring News ได้ขอสัมภาษณ์พิเศษกับ หมอเดว ถึงประเด็นดังกล่าว ชวนขบคิดและตั้งคำถามไปด้วยกัน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือ รัฐธรรมนูญกลางของประเทศสมาชิกหลักการสำคัญคือ คือ การไม่เลือกปฏิบัติ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยมีเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่

  1. สิทธิในการอยู่รอด
  2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
  3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ
  4. สิทธิในการมีส่วนร่วม

ผิดทุกหลักการ ทั้งอนุสัญญาฯ พรบ. หลักจิตวิทยา 
อนุสัญญาฯ ดังกล่าว เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยหนึ่งในเป็นรัฐภาคีที่ลงนามสัตตยาบันไว้ ซึ่งถือว่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ ทำให้การ พรบ. ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กก็ต้องสอดคล้องอ้างอิงกับอนุสัญญาตัวนี้ พ่อแม่เหล่านี้กำลัง ละเมิด พรบ. คุ้มครองเด็ก สิทธิเด็ก แม้เด็กจะไม่ประสีประสา แต่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการปกป้องคุ้มครอง ไม่ใช่หลอกให้ผวากังวล 

ก่อนทำและโพสต์พ่อแม่ทำกิจกรรมนี้ไปเพื่ออะไร?
เด็กไม่ใช่ผ้าขาว พื้นฐานอารมณ์เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนที่ปรับตัวง่ายแม้โดนผีหลอก หวาดผวา แปบเดียวสามารถหายได้เอง พ่อแม่บางคนอาจบอกว่าเด็กไม่เป็นไร ไม่มีภาพจำ นั่นไม่จริงเพราะภาพจำจะเกิดกับเด็กบางคนที่มีพื้นฐานอารมณ์อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง เด็กแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน บางคนอดทน บางคนวอกแวกง่าย บางคนวอกแวกยากสมาธิเยอะ เทรนด์ที่ระบาดเหล่านี้ที่พ่อแม่จะบอกว่าทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สร้างให้เกิดบาดแผลใจเกิดภาพจำ เกิดการฝันร้าย นอนไม่หลับละเมอเดิน หวาดวิตก ทำบ่อยๆ เกิดเป็นการมองโลกในแง่ร้าย เพราะรู้สึกว่าโลกนี้น่ากลัว ไม่น่าไว้วางใจภาพจำเหล่านี้จะอาจเกิดขึ้นและติดตัวไปกับเด็กจนโต

การหลอกให้เด็กหวาดกลัวทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ฝันร้าย และบาดแผลในใจ ภาพจาก freepik

การสร้างคอนเทนต์จากเด็กที่มีแต่เสีย
เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ทั้งยังละเมิดสิทธิเด็ก เราต้องคำนึงถึง digital footprint ที่จะปรากฏไปทั่วอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ลูกคุณจะรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อมาเห็นตัวเองบาดแผลในใจเด็กแต่ละคนเกิดลึก ตื้นไม่เท่ากัน เช่น หลอกให้กลัวจิ้กจก กลัวแมลงสาบ กลัวตุ๊กตา 

ภาพจำเหล่านั้นอาจมาแสดงออกแม้แต่ตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่คิดว่าไม่น่าเกิดพฤติกรรมหวาดผวา ไม่จริงเพราะแต่ละคนรับรู้และจะเกิดกับเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ได้ยอดไลก์ แต่เป็นยอดไลก์บนบาดแผลใจให้กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อ่อนไหว สะสมต่อเนื่องเป็นพลังงานลบเมื่อเวลาที่เจอกับปัญหาหรืออุปสรรคในภายภาคหน้าก็จะเป็นความตึงเครียด หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจคนในสังคมได้ 

คุณพ่อคุณแม่เรียกยอดไลก์สร้างคอนเทนต์บนความทุกข์ของลูกเพื่ออะไร และบาปกรรมนี้จะตกที่ใคร ...

บาดแผลทางใจเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขได้มั้ย 
ขึ้นอยู่กับทุนชีวิตของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าพื้นฐานทางอารมณ์เป็นเด็กที่ปรับตัวง่าย จะไม่มีปัญหา หรือถ้าเป็นมาจากบ้านที่พ่อแม่มีความรักความอบอุ่นดีในมิติอื่น บาดแผลก็จะเยียวยาได้เร็วขึ้น จะไม่ลึก การเยียวยาเร็ว-ช้าแต่ละคนบอกไม่ได้ เช่น พื้นฐานอารมณ์ร้อนแรงมาตั้งแต่เกิด เด็กที่ชอบดิ้นกลางห้าง ก็อาจกลายเป็นคนมีพฤติกรรมเกเรได้ง่าย โอกาสพื้นฐานอารมณ์รุนแรงแบบนี้ก็จะมีแนวโน้มเติบโตเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เหมือนละคร ที่มีตัวละครนางเอก พระเอก นางร้ายนางอิจฉา 

พ่อแม่อยากสร้างลูกตัวเองให้เป็นนางร้าย เจ้าอารมณ์ แผดเสียง จับผิดคนอื่น เป็นนักร้อง (ขี้ฟ้อง) เพราะไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้ายกันหรือ ทำไมเราต้องสร้างผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพแบบนั้นขึ้นมา

หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ใช่ได้มั้ย
การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่มาจากมัวเมากับยอดไลก์ยอดวิว หมอขอเชิญชวนกระตุกต่อมจิตสำนึกให้ดูที่จิตวิญญาณหัวอกคนเป็นพ่อแม่ พ่อแม่อยากรังแกลูก อยากเห็นลูกร้องไห้ไปเพื่ออะไรดังนั้นก่อนจะสร้างคอนเทนต์จะโพสต์รูปหรือคลิปลูกของคุณ ชวนตั้งคำถามว่าเราทำไปทำไม ถูกต้องมั้ย เด็กได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านี้ 

โดยเฉพาะช่วงเด็กประถมวัยเป็นช่วงเวลาฟองน้ำที่จะซึมซับทุกอย่างจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นพิมพ์เขียว ที่ใช้สร้างตึก สร้างคนก็เช่นกัน ถ้าพ่อแม่สร้างพิมพ์เขียวให้เด็กเกิดความหวาดระแวง ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่หวาดระแวง นั่นเอง 

ถ้าสร้างให้เด็กเป็นคนลักเล็กขโมยน้อย แม้พื้นฐานทางบ้านจะร่ำรวย โตขึ้นอาจมีแนวโน้มเป็น โรคชอบขโมยของ (Kleptomania) ขโมยแม้บ้านร่ำรวย มีพร้อมแต่ลักขโมย

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่มีเท่ากัน
จากทฤษฎีมาสโลว์ หรือ ลำดับขั้นความต้องการ (Maslow’s Hierarchy of Needs) เป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ความจำเป็นขั้นแรก คือปัจจัยสี่  อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่พักอาศัย บันไดขั้นที่สองความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่ออยู่ในบ้าน ในชุมชน สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ต้องการการได้รับการตอบสนอง ในมนุษย์ทุกคน แม้แต่กับพ่อแม่ 

เมื่อบ้านไม่ปลอดภัย เช่น สร้างความกลัวต่างๆ ทั้งผี ตุ๊กแก หรือแมลงสาบ ทำให้เด็กหวาดผวา นอนไม่หลับ นี่พ่อแม่กำลังเป็นการรังแกแม้แต่กระทั่งความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์กันเลยเหรอทำไมเราไม่สร้างบ้านที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย มีความรัก ความอบอุ่น เพื่อลูกๆ  แทนบ้านที่มีแต่ความหวาดกลัวไม่น่าไว้วางใจ

related