svasdssvasds

สัมภาษณ์พิเศษผอ. สาธิตธรรมศาสตร์ กับหลักสูตรร้อน ที่ต้องดีและใช้ได้จริง

สัมภาษณ์พิเศษผอ. สาธิตธรรมศาสตร์ กับหลักสูตรร้อน ที่ต้องดีและใช้ได้จริง

ส่องหลักสูตรใหม่ของ รร.สาธิต มธ ที่ออกเแบบเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูและผู้ปกครองร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อให้ทุกความหลากหลายได้เบ่งบานในแบบของตัวเอง เตรียมเปิดวิชาล่าสุด Cryptocurrency ตามเสียงเรียกร้องของนักเรียน

จากประเด็นข่าวที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เรื่องการตรวจสอบการเรียนการสอนของ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ถกเถียงและจุดกระแสให้กับวงการการศึกษาไทยและสังคม ให้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

Spring News ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับ อ.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงผลกระทบจากข่าวที่เกิดขึ้นและเจาะลึกถึงเกณฑ์การคัดเลือกบุคลากร ผู้ปกครอง และหลักสูตรใหม่ล่าสุด Cypto Currency ที่กำลังคลอดในปลายปีการศึกษานี้ 

อ.อธิษฐาน์ ได้กล่าวว่า มีการประสานงานส่งเอกสารหลักสูตรให้ทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พิจารณาตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจาเกิดประเด็นข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นได้มีการนำมาถอดบทเรียนเพื่อตั้งเป็นหัวข้อให้ครูและนักเรียนได้มีการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในหมวดความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อ ถกประเด็นที่เกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับนักเรียนนำไปสื่อสารกับคนภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่มีความเข้าใจทิศทางและหลักสูตรของโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ก็มีนักเรียนบางส่วนที่มีความกังวลและเกิดความเครียดกับข่าวที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนได้มีการออกมาบอกเล่ามุมมองของตัวเองและแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนทิศทางการเรียนการสอนของโรงเรียนผ่านช่องทางของตัวเองในเชิงบวก  

หลักสูตรปัจจุบัน ทำการเปิดการเรียนการสอนมาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว โดยมีการเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในหมวดวิชาความรู้ต่างๆ มาช่วยกันพัฒนาและออกแบบหลักสูตรเพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของระบบการเรียนการสอนแบบเดิมที่ขัดขวางการเรียนรู้และทำให้ผู้เรียนเป็นทุกข์ โดยคำนึงถึงความสุขและสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เป็นเป้าหมายสำคัญในการวางแผนรูปแบบหลักสูตร เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กๆ ในด้านกาย ใจ และความคิด รวมถึงทักษะที่จำเป็นในการดูแลชีวิต ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เกิดการเรียนรู้ให้ดีที่สุดแก่ผู้เรียน หลักสูตรที่ดี ผู้สอนที่เก่ง ยังไม่เพียงพอ ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้เรียนและครูเชื่อใจซึ่งกันและกันได้ 

โดย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เกณฑ์ประเมินผลผู้เรียนแบบ formative assessment เป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายคือการเฝ้าสังเกตการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อให้ผลตอบกลับที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถระบุจุดแข็งและจุดอ่อน และสิ่งที่ต้องปรับปรุงพัฒนา ทั้งนี้เด็กและผู้สอนสามารถประเมินซึ่งกันและกันได้เพื่อปรับปรุงการเรียน การสอนให้บรรลุผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยไม่สร้างความกดดันให้ผู้เรียนด้วยเกรดหรือคะแนน เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพความถนัดของตัวเอง ผลักดันความสนใจของแต่ละบุคคลให้เห็นทิศทางในอนาคตต่อไป  

ซึ่ง อ.อธิษฐาน์ ได้กล่าวถึงวิชาเรียนใหม่ Financial Literacy (รู้ทันการเงิน) ที่เพิ่งเปิดสอนเป็นที่แรกๆ ของประเทศ โดยมีการวางหลักสูตรร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นต้นแบบในการเรียนด้านการจัดการการเงินกันตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน แทนที่จะให้ไปเรียนรู้ด้วยตัวเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เป็นการปลูกฝังวินัยการเงินและวางแผนการเงิน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการจัดการชีวิตของแต่ละบุคคลด้วย โดยได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากนักเรียน เพราะทำให้พวกเขาได้เห็นทิศทางการวางแผนเส้นทางอนาคตของตัวเองหลังเรียนจบ ซึ่งใช้การเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน มาเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจในสถานการณ์เดียวกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ได้แลกเปลี่ยน พูดคุยไปด้วยกัน

จึงเป็นที่มาของวิชา Crypto Currency และการลงทุน ที่มีเสียงเรียกร้องของนักเรียนให้เปิดสอนเพิ่มเติมต่อยอดจาก Financial Literacy ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เข้ามาวางหลักสูตรเป็นวิชาทางเลือกให้สำหรับนักเรียนมัธยม 5-6 ถือเป็นสถานศึกษาที่แรกๆ ของไทยที่มีการบรรจุลงให้หลักสูตรการสอนกันอย่างจริงจังและเตรียมความพร้อมครูผู้สอนเพื่อให้สามารถถ่ายทอดวิชานี้กับนักเรียน โดยจะมีการเปิดการเรียนการสอนในช่วงปลายปีนี้ 

หัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนในห้องเรียนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็คือ คุณครู ที่จะเป็นผู้ออกแบบวิชาการเรียนการสอนของตัวเอง โดยเกณฑ์การคัดเลือกที่สำคัญที่ทางโรงเรียนมองหาต้องมี คือ 

  • Passion ที่จะเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาการศึกษาไทยในรูปแบบใหม่ 
  • มีใจรักในวิชาการสอนของตัวเอง
  • เปิดรับการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ 
  • ออกแบบองค์ความรู้ที่เป็นรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและได้ผลลัพธ์ที่วางไว้ 
  • สร้างพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในห้องเรียน  

ทั้งนี้ต้องผ่านการคัดเลือก สัมภาษณ์และอบรมร่วมกันกับครูคนอื่นๆ เพื่อประเมินการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดีตามความคาดหวังของโรงเรียน ซึ่งจะมีครูรุ่นพี่ร่วมกันช่วยในรูปแบบพัฒนาระบบกลุ่มประสบการณ์ และระบบพัฒนาส่งเสริมทักษะที่จำเป็นเพื่อช่วยทำให้เป็นครูที่เก่งขึ้นและดีขึ้น และตัวผู้สอนเองสามารถเลือกหัวข้อที่สนใจเพื่อฝึกอบรมได้ด้วยเช่นกัน 

ในแต่ละปีทาง โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการเปิดรับนักเรียนใหม่จำนวน 150 คนต่อปีการศึกษา โดยการคัดเลือกจะ ไม่มีการทำข้อสอบ เพื่อวัดคะแนนความรู้ความสามารถ แต่จะให้เด็กที่สนใจเข้าเรียนส่งผลงานในรูปแบบ Portfolio เพื่อแสดงความสนใจและการวางแผนการเรียนรู้ของตัวเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้ผู้ปกครองเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการประเมินการรับเข้าเรียนด้วยเช่นกัน โดยใช้วิธีเขียนเรียงความแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการเรียนการสอนในรูปแบบเฉพาะตัวของทางโรงเรียน และบรรยายแนวทางการในการเลี้ยงดูบุตรของตัวเองอีกด้วย ถึงจะเข้าสู่การสอบสัมภาษณ์และเวิร์คช้อปร่วมกันเพื่อดูวิธีการทำงานและการสื่อสารระหว่างเด็กคนอื่นๆ ในขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้เปิดรับนักเรียนที่สนใจจากทั่วประเทศไม่จำกัดเพียงแค่ในพื้นที่รอบๆ โรงเรียนเท่านั้น พ่อแม่คนไหนที่สนใจในแนวทางหลักสูตรใหม่ที่ทลายอุปสรรคการเรียนรู้ของเด็กลงและร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้อย่างน้อยไม่ทำให้ผู้เรียนเป็นทุกข์และบีบคั้นให้เด็กเกิดความเครียดไปมากกว่านี้ สามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกตัวเองไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ 

ซึ่งกลายเป็นว่าจากประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มีหน่วยงานและโรงเรียนต่างๆ ติดต่อขอเข้ามาดูงานเพิ่มมากขึ้น โดยทางโรงเรียนเองก็ได้เริ่ม โครงการก่อการครู สำหรับให้ครูที่สนใจแนวทางนี้นำไปต่อยอดในห้องเรียนของตัวเองด้วยเช่นกัน 

สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้พ้น การปรับตัวเพื่อหมุนให้ทันกระแสและตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีนับวันจะมีแต่ลดจำนวนการเกิดลงทุกปี ให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพและอยู่รอดในสังคมได้อย่างมีความสุข สร้างความเชื่อใจเพื่อให้คนๆนึงสามารถเติบโตแบ่งบานในรูปแบบที่ตัวเองคาดหวัง โดยมี สถานศึกษา พ่อแม่ และสังคม ช่วยประคับคอง เส้นทางเดินของพวกเขาในอนาคตนี้อย่างไม่โดดเเดี่ยว 

ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวที่ว่า 

“It is easier to build strong children than to repair broken adults."
“การสร้างเด็กที่แข็งแรง ง่ายกว่าการซ่อมผู้ใหญ่ที่พังไปแล้ว”