svasdssvasds

โลกหลังโควิด 19 ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และทุนนิยมยุคใหม่

โลกหลังโควิด 19 ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และทุนนิยมยุคใหม่

ไม่ต้องสงสัยว่า โลกหลังโควิด 19 จะเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน แต่ที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังวิเคราะห์อยู่คือ หลังจากนี้ จะเปลี่ยนไปขนาดไหน เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากวิกฤติครั้งนี้บ้าง

โลกหลังโควิด 19

โลกหลังโควิด 19 จะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างมีการคาดการณ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แนวความคิดการทำธุรกิจ ทุนนิยมยุคใหม่ และอิทธิพลของประเทศจีนและสหรัฐฯ

ชาตินิยมและเสรีภาพ

ศาสตราจารย์ สตีเฟน วอลต์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ ระบุว่า การระบาดครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลต่างเรียกความเป็นชาตินิยมกลับมาได้อย่างเข้มแข็งขึ้น ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการฉุกเฉินในการจัดการวิกฤติ และหลายประเทศจะลังเลที่จะละทิ้งอำนาจนั้น

โควิด 19 จะเร่งการเปลี่ยนแปลงอิทธิพลจากตะวันตกไปยัวตะวันออก อย่างที่เห็นว่า เกาหลีใต้และสิงคโปร์ได้รับการชื่นชมว่ารับมือวิกฤติได้อย่างดี ขณะที่จีนก็กลับมาจัดการได้ดี หลังจากที่พลาดในตอนแรก แต่การรับมือจากฟากตะวันตก อย่างสหรัฐฯ และยุโรป กลับช้าเกินไป

แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแน่นอนคือธรรมชาติที่ขัดแย้งกันของการเมืองโลก

เราจะเห็นการหดตัวของ “ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์” เมื่อประชาชนต่างพยายามพึ่งพารัฐบาลให้ปกป้องตัวเอง และรัฐบาลและภาคเอกชนต่างๆ หาทางที่จะแก้ไขจุดอ่อนที่เผยให้เห็นช่วงวิกฤติ

โควิด 19 จะสร้างโลกที่เปิดกว้างน้อยลง มั่งคั่งน้อยลง และเสรีน้อยลง เพราะจากปัจจัยความรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การวางแผนที่ไม่ดีพอ และภาวะผู้นำที่ไม่มีศักยภาพ ได้ทำให้ประชาชนทั่วโลกตกอยู่ในเส้นทางเดินที่น่ากังวล

โลกาภิวัตน์ที่ต่างจากเดิม

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ คิชอร์ มาห์บูบานี กล่าวว่า การระบาดครั้งใหญ่นี้จะไม่ได้เปลี่ยนพื้นฐานทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่จะเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่แล้วเร็วขึ้นอีก การเปลี่ยนถ่ายจากโลกาภิวัตน์ที่มีสหรัฐฯเป็นศูนย์กลาง เอนเอียงมาทางจีนมากขึ้น

คนอเมริกันจำนวนมากหมดศรัทธากับโลกาภิวัตน์ การค้าระหว่างประเทศ และการค้าเสรีที่รู้สึกว่าเป็นยาพิษมากกว่าเป็นยาดี ขณะที่ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนมีความเข้มแข็งด้วยการเชื่อมโยงกับโลก และคนจีนรู้สึกมั่นใจกับวัฒนธรรมของตนเอง และเชื่อว่าจะแข่งขันกับใครก็ได้

มาห์บูบานีกล่าวว่า สหรัฐฯมี 2 ทางเลือก ถ้าเป้าหมายหลักคือการเป็นเป็นอันดับหนึ่งของโลก สหรัฐฯต้องแข่งขันอย่างหมดหน้าตักกับจีน ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป้าหมายหลักของสหรัฐฯคือความเป็นอยู่ดีของชาวอเมริกัน สหรัฐฯควรมองหาทางร่วมมือกับจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ไม่ค่อยสู้ดี ทางเลือกที่สองอาจไม่เกิดขึ้น

ผู้คนจะเริ่มเห็นความเร่งด่วนที่จะต้องชูแนวความคิดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งชาตินิยม ฝั่งต่อต้านโลกาภิวัตน์ ฝั่งสนับสนุนจีน หรือแม้แต่ฝั่งเสรีนิยม ศาสตราจารย์ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จี จอห์น ไอเคนเบอร์รี กล่าวว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเกิดขึ้น คงยากที่จะเกิดการผลักดันไปในทางอื่นนอกเหนือจาก ความคิดชาตินิยม

คำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่าผลกำไร

โลกหลังโควิด 19 จะกลายเป็นโลกที่บริษัทต่างๆ ต้องคิดใหม่และพยายามปรับ ทั้งขั้นตอนการผลิต ห่วงโซ่อุปทานจากหลากหลายประเทศที่มีอิทธิพลต่อการผลิตในปัจจุบัน

แชนนอน เค โอนีล ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาใต้ศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกำลังต่อสู้กับปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่จีนขึ้นค่าแรง สหรัฐฯเริ่มสงครามการค้ากับจีน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ รวมถึงประเด็นการเมือง และปัญหาการว่างงาน

โควิด 19 ได้ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องหยุดการผลิต ซึ่งรวมไปถึงซัพพลายเออร์ให้ โรงพยาบาล ร้านขายยา ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีก จนทำให้ของคงคลังน้อยลง

ในขณะเดียวกัน บริษัทต่างๆ จะตั้งคำถามซัพพลายเออร์ถึงแหล่งที่มามากขึ้น สถานการณ์บังคับให้ต้องคิดกลยุทธใหม่ พร้อมแผนสำรองที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์ในประเทศ แน่อนว่ากำไรจะน้อยลง แต่ความยั่งยืนของอุปทานจะเพิ่มขึ้น

ทุนนิยมยุคใหม่

แรงสั่นสะเทือนต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก เห็นได้ชัดที่ห่วงโซ่อุปทาน และเครือข่ายการส่งสินค้า ว่ามีความเปราะบางขนาดไหน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลอรี แกร์เรตต์ กล่าวว่า การระบาดครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเกิดผลกระทบเศรษฐกิจที่ยาวนาน แต่ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ฐานรากด้วย

โลกาภิวัตน์ ทำให้บริษัทต่างๆ ใช้โรงงานผลิตจากทั่วโลก ส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคอย่างทันเวลา โดยข้ามขั้นตอนการใช้คลังสินค้า และสินค้าที่อยู่ในคลังเกิน 3-4 วัน กลายเป็นความล้มเหลวทางการตลาด แต่โควิด 19 ทำให้เห็นว่า โรคติดต่อไม่ใช่แค่ติดเชื้อกับคน แต่เป็นพิษกับทั้งระบบการส่งถึงมือผู้บริโภคด้วย

หลังโควิด 19 บริษัททั้งหลายอาจเริ่มลังเลกับวิธีส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคที่เคยใช้ รวมถึงกลยุทธห่วงโซ่อุปทาน ที่จะย้ายเข้าใกล้ศูนย์กลางมากขึ้น ผลที่ได้ จะเป็นระบบทุนนิยมโลกแบบใหม่ ที่ถึงแม้ว่ากำไรจะน้อยลง แต่มีโอกาสฟื้นฟูทั้งระบบได้ง่ายขึ้น

ความมุ่งมั่นของมนุษย์

โควิด 19 เป็นวิกฤติโลกครั้งใหญ่แห่งศตวรรษ และเป็นวิกฤติสาธรณสุขที่คุกคาม 7.8 พันล้านคนทั่วโลก ผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจจะหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤติเมื่อปี 2008 ที่เปลี่ยนระบบโลกและสมดุลอำนาจ

ศาสตราจารย์ นิโคลัส เบิร์นส จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ระบุว่า จนถึงตอนนี้ ความร่วมมือนานาชาติยังไม่เพียงพอ ถ้าจีนและสหรัฐฯยังไม่สามารถทิ้งสงครามวาทะถกเถียงกันว่าใครกันแน่ที่มีส่วนรับผิดชอบวิกฤติครั้งนี้ และเป็นผู้นำที่ดีกว่านี้ ความน่าเชื่อถือของทั้งสองประเทศก็จะหมดลง และถ้าสหภาพยุโรปไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชากร 500 ล้านคนได้ รัฐบาลประจำแต่ละชาติอาจจะดึงอำนาจกลับสู่ประเทศตัวเอง

แต่ในทุกๆ ประเทศ เราได้เห็นตัวอย่างของพลังความมุ่งมั่นของมนุษย์ ของแพทย์ พยาบาล ผู้นำทางการเมือง และประชาชนทั่วไป ที่แสดงความเข้มแข็ง ความมีประสิทธิภาพ และภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้คนทั่วโลกสามารถเอาชนะความท้าทายครั้งนี้ไปได้

เรียบเรียงจาก foreignpolicy

related