svasdssvasds

วัดอุณหภูมิ ร่างกาย ช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มากน้อยขนาดไหน

วัดอุณหภูมิ ร่างกาย ช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มากน้อยขนาดไหน

การตรวจ วัดอุณหภูมิ ร่างกาย กลายเป็นมาตรการคัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ทั่วโลก ด้วยความ หวังว่าอย่างน้อยจะสามารถบ่งชี้คนที่เริ่มมีอาการไข้จากการติดเชื้อไวรัสได้ แต่ยังมีคนจำนวนมากที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการไข้ ดังนั้นล้างมืออย่างถูกวิธีและสวมใส่หน้ากากคือตัวช่วยที่ดีที่สุด

การตรวจ วัดอุณหภูมิ ร่างกาย กลายเป็นมาตรการเบื้องต้นที่ทั่วโลกใช้ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะการมีไข้สูงติดกันหลายวัน คือหนึ่งในอาการบ่งชี้สำคัญ แต่จากการศึกษาพบว่า คนจำนวนมากไม่มีอาการ แต่ก็เป็นพาหะนำเชื้อโรคได้

ดังนั้น การไม่มีไข้ ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นผ่านการตรวจสอบแล้วได้ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจึงย้ำเสมอว่า คำตอบที่แท้จริงไม่ใช่อุณหภูมิ แต่คือการตรวจหาเชื้อ

คัดกรองโดยการดูอาการไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพ

วารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ได้เผยแพร่รายงานของทีมนักวิจัยชาวเยอรมนี ที่ทำการประเมินขั้นตอน การคัดกรอง 126 คนที่อพยพจากอู่ฮั่นมายังประเทศเยอรมนี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่าการดูที่อาการ ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพพอที่จะหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อ

รายงานได้ระบุถึงการอพยพ 126 คนออกจากอู่ฮั่น และแม้จะผ่านขั้นตอน การคัดกรอง โดยดูอาการขณะอยู่ในประเทศจีน อย่างเช่นการวัดไข้ หรือดูว่ามีอาการไอหรือไม่  ก่อนขึ้นเครื่องเพื่อเดินทางมายังเยอรมนี และระหว่างการเดินทาง ได้มีการแยกผู้ต้องสงสัยติดเชื้อออกมา 10 คน

ทั้ง 10 คนถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ตทันทีที่เดินทางถึงเยอรมนี ทั้ง 10 คน ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่เหลืออีก 116 คน ถูกส่งไปยังศูนย์ประเมินทางการแพทย์ที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต และแม้ว่าทุกคนจะผ่านการคัดกรองโดยการดูอาการมาก่อน อย่างเช่นมีไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย หรืออ่อนเพลีย แต่ท้ายที่สุด ก็ยังมีถึง 2 คนที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

รายงานสรุปว่า ทีมวิจัยค้นพบว่า แม้ไม่มีไข้ และไม่มีสัญญาณของการติดเชื้อ แต่คนนั้นก็อาจมีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ ดังนั้น การคัดกรอง โดยการดูอาการ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตรวจหาคนที่มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ตรวจคัดกรอง โควิด 19

ไม่มีอาการเลยก็แพร่เชื้อได้

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า คนที่มีเชื้อโควิด 19 จะสามารถแพร่เชื้อได้ ก่อนที่จะมีอาการของโรค 1 – 3 วัน การตรวจหาเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น พบว่า คนที่ไม่มีอาการ จะตรวจพบเชื้อเป็นระยะเวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ คนที่มีอาการอ่อนๆ จะสามารถตรวจพบเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานถึง 3 สัปดาห์ และแน่นอนว่าคนที่มีอาการรุนแรง จะตรวจพบเชื้อในร่างกายนานกว่า

อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การตรวจพบสารพันธุกรรม (RNA) ของโควิด19 ในร่างกาย ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นติดเชื้อแล้ว หรือจะสามารถแพร่เชื้อได้

ตรวจเชื้อ วัดอุณหภูมิ

พาหะและไม่มีอาการ

องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนที่ไม่มีอาการมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นพาหะอย่างเดียว และกลุ่มที่จะเกิดอาการขึ้นตามมาแล้วพัฒนาเป็นโรคโควิด 19 ซึ่งการแยกชนิดมีความสำคัญต่อการกำหนดกลยุทธในการควบคุมการระบาด

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการศึกษาที่บ่งชี้ได้แน่ชัดว่ามีคนที่ติดเชื้อแล้วเป็นเพียงพาหะอยู่มากมายแค่ไหน และยังมีปัจจัยจากการเก็บข้อมูลที่พบว่าเด็กๆ มักพัฒนาอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่

การศึกษาจากทั้งในอเมริกาและจีน พบว่ามีกรณีที่ติดเชื้อและไม่มีอาการเป็นจำนวนมาก แต่อย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ตรวจพบเชื้อ มีการพัฒนาอาการป่วยในภายหลัง ขณะที่รายงานจากจีนระบุว่าคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการเลยเป็นสัดส่วนถึงราว 23 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ มีงานวิจัยในสิงคโปร์ที่พบว่าการแพร่เชื้อราว 44 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นก่อนที่ผู้มีเชื้อจะแสดงอาการ

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

ยังมีคำถามเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 มากมายที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำตอบ

การศึกษาเบื้องต้นพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถติดต่อได้ผ่านหยดน้ำในอากาศและการสัมผัส แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถติดต่อผ่านละอองในอากาศระหว่างการทำหัตถการทางการแพทย์

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นคำถามที่ยังค้นคว้า คือการติดต่อทางอากาศที่ไม่ได้อยู่ในสถานบริการสุขภาพ หรือในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามเข้าใจความสำคัญของเส้นทางการติดต่อแต่ละทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านละอองในอากาศ ผ่านการสัมผัส หรือผ่านวัตถุที่อาจเป็นพาหะนำเชื้อโรค เช่นลูกบิดประตู หรือหนังสือ

นอกจากนี้ ยังคงมีคำถามว่าผู้ที่มีเชื้อไวรัส จะต้องมีปริมาณเชื้อมากขนาดไหนในร่างกายถึงจะเริ่มมากพอที่จะแพร่เชื้อไปคนอื่นได้ รวมถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อในช่วงที่ไม่มีอาการ

ฟิลิปปินส์ โควิด 19

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกระบุว่า การเข้าใจว่าเชื้อไวรัสแพร่กระจายได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขแบบไหน มีความสำคัญมากต่อการพัฒนามาตรการและการบังคับใช้ที่จะทำลาย “ห่วงโซ่การระบาด”

การป้องกันการแพร่ระบาดทำได้ดีที่สุดด้วยการหาผู้ต้องสงสัยติดเชื้อให้เร็วที่สุด ตรวจหาเชื้อ และแยกตัวคนที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ การบ่งชี้คนที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อที่จะได้แยกตัวมากักกันโรค เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อและทำลายห่วงโซ่ระบาด

ระยะฟักตัวของโควิด 19 คือช่วงที่ได้รับเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการ อยู่ที่ 5 – 6 วัน แต่ก็อาจยาวนานถึง 14 วัน ซึ่งระหว่างนั้น การตรวจ วัดอุณหภูมิ ก็จะเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล ดังนั้น สาธารณสุขทั่วโลกจึงมีมาตรการให้กักกันโรค 14 วัน นับแต่วันที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้สงสัยติดเชื้อ

เนื่องจากคนที่ไม่มีอาการสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้นการป้องกันโดยการใส่หน้ากากในที่สาธารณะจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในที่ที่การเว้นระยะห่างทำได้ยาก

แต่การใส่หน้ากากอย่างเดียวยังคงไม่เพียงพอ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือมาตรการสาธารณสุข การรักษาความสะอาด การฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ และการล้างมืออย่างถูกวิธี และควรหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด และพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

related