svasdssvasds

คนเลือกมากกว่าอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ?

คนเลือกมากกว่าอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ?

คนเลือกมากกว่าอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ? ทำความรู้จักระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

คนเลือกมากกว่าอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ?

สถานการณ์การเมืองในสหรัฐอเมริกากำลังเข้มข้นกับการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ

ผู้นำคนปัจจุบัน อย่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" (Donald Trump) ในวัย 74 ปี จากพรรครีพับลิกัน (Republican) พรรคอนุรักษ์นิยม ที่หวังนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 และคู่แข่งอย่าง "โจ ไบเดน" (Joe Biden) อดีตรองประธานาธิบดี สมัยบารัคโอบามา จากพรรคเดโมแครต (Democratic) พรรคเสรีนิยม ที่ต่อคิวนั่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของประเทศ ด้วยความเป็นประธานาธิบดีที่เข้ารับตำแหน่งที่อายุมากที่สุด ปัจจุบันอายุ 78 ปี

แล้วรู้หรือไม่ว่าระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ นั้นไม่เหมือนกับระบบเลือกตั้งบ้านเรา มีความสลับซับซ้อนมากกว่าโดยจะมีผลโหวตแบ่งออกเป็น 2 ชุดด้วยกัน คือ

1.คะแนนเสียงมหาชน (Popular Vote)

2.คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote)

คะแนนเสียงมหาชน หรือ Popular Vote นั่นก็ไม่มีอะไรต้องอธิบายมากมาย คือ ประชาชนทั้งประเทศเดินเข้าคูหา กาเลือกพรรคไหน อยากให้ตัวแทนพรรคมาเป็นประธานาธิบดีมากกว่ากัน ก็ดูคะแนนดิบกันไปเลย 1 คน 1 สิทธิ์ 1 เสียง แต่เจ้ากรรมผลดันมาตกที่ Electoral Vote คือตัวตัดสิน

แล้ว Electoral Vote คืออะไร ?

Electoral Vote หรือ คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง เป็นคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เป็นตัวแทนของประชาชนจากรัฐนั้นๆ โดยเป็นตัวแทนที่ถูกสมมุติขึ้น คิดจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ของรัฐนั้นๆ บวกกับจำนวนวุฒิสมาชิก ซึ่งวุฒิสมาชิกมีทั้งหมด 100 คน ถูกแบ่งให้เท่าๆ กัน 50 รัฐ จะตกอยู่ที่รัฐละ 2 คน นั่นหมายความว่ารัฐเล็กๆ ทั้งหลาย ที่มีจำนวน ส.ส. เพียง 1 คน ขั้นต่ำก็จะมีคะแนนเสียงทั้งหมด 3 คนเป็นอย่างน้อย รวมจำนวนทั้งหมด 50 รัฐ มีจำนวน Electoral College ทั้งหมด 538 คน และเมื่อหารจำนวน Electoral College 538 คน ออกเป็น 2 พรรค จะอยู่ที่ 269 จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมต้องให้ได้คะแนนเสียงที่ 270 คน เพราะเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั่นเอง

โดยคะแนน Electoral Vote จะเป็นรูปแบบ Winner Takes All หรือ กินรวบ ตรงนี้ต้องอธิบายว่า รัฐแต่ละรัฐจะไม่มีการแบ่งคะแนนเสียงให้กับทั้ง 2 พรรค แต่พรรคไหนชนะในรัฐนั้นๆ ก็จะได้คะแนนเสียงของ Electoral Vote ไปหมดเลยทั้งรัฐ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมรัฐใหญ่ๆ ที่มีคะแนนมากกว่า 3 คะแนนจึงถูกให้ความสำคัญมาก เพราะมีการแย่งเสียงกันอย่างเข้มข้น อาทิเช่น รัฐแคลิฟอเนีย มีคะแนน Electoral Vote สูงที่สุด ถึง 55 คนด้วยกัน เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต รองลงมาเป็นรัฐเท็กซัส 38 คน เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน

ฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครตก็จะมาจากทั้ง 2 ชายฝั่ง คือ East Coast และ West Coast เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการติดต่อกับชาติอื่น มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า และอย่างที่บอกพรรคเดโมแครต เป็นพรรคเสรีนิยม จึงเป็นเหตุให้ได้คะแนนเสียงจากทั้ง 2 ชายฝั่งไป

กลับกันคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันจะมาจากรัฐที่อยู่ตรงกลางของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นรัฐที่มีความเป็นชนบทมากกว่า มีการติดต่อกับต่างชาติน้อยกว่า ทำให้พรรคที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกันได้ฐานเสียงจากคนเหล่านี้

นอกจากนี้ก็จะมี Swing State ที่ฐานเสียงแกว่งระหว่างทั้ง 2 พรรค คือไม่มีพรรคไหนครองฐานเสียงอย่างแท้จริง ซึ่งSwing State พวกนี้เป็นรัฐที่อยู่ขั้นกลางระหว่างรัฐที่ฐานเสียงแตกต่างกัน เป็นดั่งเปลือกกันของฐานเสียงเดโมแครตกับฐานเสียงของรีพับลิกัน

ปกติแล้ว คะแนนเสียง Popular Vote กับ Electeral Vote จะไปในทิศทางเดียวกัน คือ คนที่เป็นประธานาธิบดีชนะทั้ง 2 คะแนนเสียง แต่ก็มีในบางครั้งที่คนได้คะแนนเสียง Popular Vote มากกว่า แต่แพ้คะแนนเสียง Electoral Vote จึงไม่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะด้วยรูปแบบ Winner Takes All ทำให้การแข่งขันในรัฐที่มีคะแนนเสียงมาก หรือรัฐที่เป็น Swing State คะแนนเสียงสูงจึงมีความสำคัญมากกว่า ยกตัวอย่างการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน "โดนัลด์ ทรัมป์" กับ "ฮิลลารี คลินตัน" (Hillary Clinton) ภริยาของอดีตประธานาธิบดี "บิล คลินตัน" (Bill Clinton) ผู้นำคนที่ 42 ของสหรัฐฯ ในครั้งที่แล้ว ฮิลลารี คลินตัน มีคะแนน Popular Vote ชนะ โดนัลด์ทรัมป์ แต่แพ้คะแนน Electoral Vote ซึ่งหมายความได้ว่าคนทั้งประเทศแม้จะอยากให้ ฮิลลารี คลินตัน เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ แต่ก็มิอาจเป็นไปได้ เพราะระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกออกแบบมาอย่างนี้

related