svasdssvasds

10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ “คลองสุเอซ” เส้นทางขนส่งที่สร้างรายได้มหาศาล

10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ “คลองสุเอซ” เส้นทางขนส่งที่สร้างรายได้มหาศาล

จากกรณีเรือ Ever Given เกิดอุบัติเหตุ ขวางคลองสุเอซ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ปิดการจราจรทางน้ำที่สำคัญกับการค้าโลก โดย SPRiNG ได้รวบรวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคลองสุเอซ มานำเสนอ เพื่อให้เห็นทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมา ตลอดจนสิ่งต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเส้นทางนี้

1. ความยาวของคลองสุเอซ ใกล้เคียงกับระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปชัยนาท

คลองสุเอซ อยู่ในประเทศอียิปต์ ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ช่วยย่นระยะทางระหว่างทวีปยุโรป กับเอเชีย ได้ถึง 6,400 กิโลเมตร ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือรวดเร็วขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมแหลมกูดโฮปที่ทวีปแอฟริกา ช่วยลดทั้งเวลา และเชื้อเพลิงลงได้อย่างมหาศาล

ปัจจุบันคลองดังกล่าวมีความยาว 193 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับระหว่างทางจากกรุงเทพฯ ไปยังชัยนาท (194 กิโลเมตร) และมีความกว้าง 300 - 350 เมตร

ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว เรือขนส่งสินค้าลำหนึ่ง จะใช้เวลาจากต้นคลองสุเอซ ไปถึงปลายคลองฯ ประมาณ 13 ชั่วโมง

2. การขุดคลองสุเอซ หนึ่งในโครงการที่สุดทะเยอทะยานของมนุษยชาติ

คลองสุเอซ เกิดขึ้นจากการน้ำมือของมนุษย์ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในโครงการที่สุดทะเยอทะยานของมนุษยชาติ และสร้างประโยชน์ด้านการค้าอย่างมหาศาล เพราะช่วยย่นระยะทาง ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปกับเอเชีย เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยว่ากันว่า แนวคิดการขุดคลองสุเอซ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ แต่กว่าจะมีความพร้อมทางเทคโนโลยีจนมีโครงการขุดอย่างจริงจัง ก็เมื่อปี 2402 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี คลองดังกล่าวจึงแล้วเสร็จในปี 2412 โดยขุดตัดคอคอดสุเอซ จากเมืองพอร์ตซาอิด ทางด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปยังเมืองสุเอซ ทางด้านทะเลแดง

3. วิศวกรควบคุมการก่อสร้างคลองสุเอซ เคยขอขุด “คลองคอดกระ” ให้ไทย

เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส อดีตราชทูตฝรั่งเศสประจำอียิปต์ คือผู้วางแผนและควบคุมการก่อสร้างคลองสุเอซ

ซึ่งหลังจากขุดคลองสุเอซได้สำเร็จ เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ ก็มีชื่อเสียงโด่งดัง ต่อมาในปี 2452 (สมัยรัชกาลที่ 5) เขาได้ขออนุญาตเข้ามาทำการสำรวจเพื่อขุดคลองคอดกระ แต่ไทย (หรือสยามในเวลานั้น) เกรงว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบกับรัฐบาลอังกฤษ จึงไม่อนุญาต โครงการการขุดคลองคอคอดกระจึงต้องระงับไป

คลองสุเอซ

4. Suez Canal Company คือบริษัทที่ดำเนินการสร้างคลองสุเอซ

บริษัท Suez Canal Company ที่ก่อตั้งโดย เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซปส์ ชาวฝรั่งเศส ได้รับสัมปทานทั้งในการก่อสร้างและบริหารจัดการ โดยมีรัฐบาลอียิปต์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ต่อมาในปี 2425 อังกฤษได้บุกยึดอียิปต์ โดยมีฝรั่งเศสให้การสนับสนุน คลองสุเอซจึงอยู่ในความดูแลของอังกฤษและฝรั่งเศส

ต่อมาในปี 2465 แม้อียิปต์จะได้รับเอกราช แต่ก็ยังไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือคลองสุเอซ กระทั่งในปี 2499 อียิปต์ได้ยึดกรรมสิทธิ์คลองสุเอซกลับคืนเป็นของรัฐบาล จนนำไปสู่เหตุการณ์ “วิกฤตคลองสุเอซ”

5. “วิกฤตคลองสุเอซ”

วิกฤตการณ์สุเอซ หรือสงครามอิสราเอล-อาหรับครั้งที่สอง เป็นการผนึกกำลังระหว่าง อิสราเอล อังกฤษ และฝรั่งเศส เพื่อบุกอียิปต์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ กรรมสิทธิ์เหนือคลองสุเอซ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องมีการปิดคลองสุเอซ ระหว่างปี 2499 - 2500 ก่อนจะถูกกดดันจากสหประชาชาติ ทำให้ทั้งสามประเทศในฐานะผู้รุกราน ต้องถอนกำลังออกไปในที่สุด และอียิปต์ได้ครองกรรมสิทธิ์เหนือคลองสุเอซ จนถึงปัจจุบัน

6. การปิดคลองสุเอซ เพราะสงคราม ครั้งที่ 2

ในปี 2510 ในสงครามอาหรับกับอิสราเอล ก็ส่งผลให้มีการปิดคลองสุเอซ เพราะอยู่ในพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบ โดยคลองสุเอซถูกปิดยาวนานถึง 8 ปี ก่อนจะเปิดให้เรือขนส่งสินค้าผ่านได้ในปี 2518

คลองสุเอซ

7. อุบัติเหตุเรือขวางคลองสุเอซ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรก

เมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว (6 พฤศจิกายน 2547) ก็เคยเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เรือขวางคลองสุเอซมาแล้ว สืบเนื่องมาจากพวงมาลัยควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันจากรัสเซียมีปัญหา ทำให้เรือกีดขวางการเดินเรือในคลองสุเอซ ต้องใช้เวลา 3 วัน จึงสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ

8. ความยาวของเรือ Ever Given ที่ขวางคลองสุเอซ มีความสูงกว่าตึกเอ็มไพร์สเตท

ตึกเอ็มไพร์สเตท เป็นสถาปัตยกรรมที่เคยสร้างสถิติสูงที่สุดในโลก มีความสูง 381 เมตร ส่วนเรือ Ever Given ที่ประสบอุบัติเหตุ จนทำให้ขวางคลองสุเอซ มีความยาว 400 เมตร (คลองสุเอซอัมพาต! เรือสินค้าเกือบ 300 ลำรอผ่าน ติดเรือยักษ์ขวางคลอง)

9. รายได้ของคลองสุเอซ

คลองสุเอซได้สร้างรายได้มหาศาลให้กับอียิปต์อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 สร้างรายได้สูงถึง 1.67 แสนล้านบาท โดยในปี 2562 ได้สร้างรายได้ 1.75 แสนล้านบาท

10. เรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซ สร้างความเสียหายต่อการค้า ชั่วโมงละเท่าไหร่ ?

เรือ Ever Given ประสบอุบัติเหตุจนขวางคลองสุเอซเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยนิตยสารลอยด์ส ลิสต์ ได้ประเมินว่า จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทำให้เรือขนส่งสินค้าลำอื่นๆ ไม่สามารถผ่านคลองสุเอซได้ ทำให้เกิดความเสียหายทางการค้า คิดเป็น 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อชั่วโมง ถ้าเทียบเป็นเงินไทยแล้ว ก็ตกราวๆ 12,400 ล้านบาท หรือตกราววันละ 297,600 ล้านบาท

อ้างอิงจาก

‘คลองสุเอซ’ อัมพาต ทำสูญรายได้ 400 ล้านดอลล์ต่อชั่วโมง

คลองสุเอซ

ประเทศอียิปต์

วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)

26 กรกฎาคม 1956: อียิปต์ยึด “คลองสุเอซ” คืนจาก “อังกฤษ-ฝรั่งเศส”

คลองขุดที่สำคัญของโลก

โครงการขุดคลองคอดกระในอดีต

related