svasdssvasds

แผนรับมือโลกรวน ! คาดไทยใช้งบกว่า 7 หมื่นล้านบาท

แผนรับมือโลกรวน ! คาดไทยใช้งบกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ปัญหาโลกรวนยังน่าเป็นห่วง ! ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ไทยก็ยังคงเดินหน้าในการรับมือ มีผลศึกษาคาดการณ์ว่าไทยต้องใช้งบ 7 หมื่นล้านบาท เพื่อรับมือโลกรวน เพราะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้ แล้ว ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไปพร้อม ๆ กัน

หลายที่ผ่านมาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏมีความชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ งที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประชากร และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

ล่าสุดมีการเผยงานวิจัยของ ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ศึกษาประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว และการใช้กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัว โดยให้ตัวอย่างการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินในต่างประเทศ พร้อมเสนอแนะแนวทางดำเนินการต่อไปสำหรับประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ได้ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฉายภาพให้เห็นว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายกว่า 7,719 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร และหากประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จะเสี่ยงต่อการเกิด น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุรุนแรง อุณหภูมิสุดขั้ว และจะยิ่งจะมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวจะสร้างผลกระทบและความเสียหายต่อภาคส่วนต่าง ๆ และเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาของ Swiss Re Institute (2021) ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวถึง 4.9 - 43.6% การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas mitigation) เป็นพันธกิจสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change adaptation) ควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะสภาวะอากาศสุดขั้ว เพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ดังกล่าว มีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย  ยกตัวอย่างเช่น

-การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การนำแอพพลิเคชั่นการพยากรณ์อากาศมาใช้ในการวางแผนการผลิตในภาคเกษตรเพื่อป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วม/ภัยแล้ง ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

-การปรับรูปแบบการจัดการ เช่น การปรับเปลี่ยนการเปิด/ปิดแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ

-การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย การเลื่อนปฏิทินเพาะปลูก

-การจัดทำฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิอากาศและสุขภาพ เพื่อใช้แจ้งเตือนภัยโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น heat stroke

-การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย เช่น การนำระบบประกันภัยพืชผล ซึ่งเชื่อมโยงกับดัชนีภูมิอากาศมาใช้

ซึ่งการดำเนินการในแต่ละรูปแบบจำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนไม่เท่ากันและต้องอาศัยเงินทุนจากหลายแหล่ง การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยผลการศึกษาของ Global Landscape of Climate Finance 2021 พบว่า การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ยังเป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation finance) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด มากกว่าระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) สะท้อนจากข้อมูลในปี ค.ศ. 2019-2020 การระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) มีมูลค่าประมาณ 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ระดับการสนับสนุนดังกล่าวนับว่ายังไม่เพียงพอ

สำหรับการจัดการกับผลกระทบทั้งปัจจุบันและในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมองไปข้างหน้า UNEP (2021) คาดการณ์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับต้นทุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงถึง 155-330 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี  ค.ศ. 2030 และประมาณ 310-555 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยปัจจุบันเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สินเชื่อ และตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด ตามมาด้วยสินเชื่อ/ตราสารหนี้ดอกเบี้ยต่ำ โดยอาจใช้ควบคู่กับเครื่องมือทางการเงินอื่น เช่น ประกัน หรือ การรับประกัน เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงจากผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน

สำหรับไทยหากพิจารณาเฉพาะการดำเนินการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า จำเป็นต้องใช้เงินทุนประมาณ 0.4 - 0.7% ของ GDP ต่อปี หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ข้อมูลการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืนของไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเน้นไปที่โครงการบางประเภทเท่านั้น เช่น โครงการด้านการจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น 

ไทยอาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ส่งผลให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการเงินจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้โดยให้การสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) มากขึ้น

โดยอาจใช้เครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น สินเชื่อ ตราสารหนี้ หรือใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ภาคส่วนต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ในภาคการเงินไทยอย่างกว้างขวาง  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย

 

related