svasdssvasds

เจาะลึกสาเหตุลิเบียเขื่อนแตก เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เพราะโลกร้อนหรือเปล่า?

เจาะลึกสาเหตุลิเบียเขื่อนแตก เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เพราะโลกร้อนหรือเปล่า?

เหตุการณ์ลิเบียเขื่อนแตกนับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเมือง Derna เผชิญพายุ Daniel ทำให้ฝนตกหนักจนเขื่อนรับน้ำไม่ไหว สร้างความสงสัยว่าเพราะเหตุใดลิเบียจึงเสียหายกว่าประเทศอื่นที่โดนพายุลูกนี้ถล่มเหมือนกัน

ลิเบียเขื่อนแตกทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ มวลน้ำที่ถาโถมเข้ามาราวกับสึนามิขนาดใหญ่ที่มีความสูงถึง 7 เมตร ทำลายเมือง Derna ราบเป็นหน้ากลอง อาคารบ้านเรือนพังทลาย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน สูญหายอีกหลายพันคน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมจากลิเบียเขื่อนแตกในครั้งนี้เป็น 1 ใน 20 เหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

Cr. Reuters

เรามาเจาะลึกสาเหตุลิเบียเขื่อนแตก น้ำท่วม เพราะโลกร้อนใช่หรือไม่?

  • เมือง Derna (เดอร์นา) เผชิญกับฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์จากอิทธิพลพายุ Daniel ทำให้เขื่อนที่อยู่เหนือเมืองรับปริมาณน้ำไม่ไหวพังถล่มลงมา สร้างความสงสัยว่าเพราะเหตุใดลิเบียจึงเสียหายหนักกว่าประเทศอื่นที่โดนพายุแดเนียลถล่มเหมือนกัน เช่น ตุรกี กรีซ อียิปต์ 
  • เมืองเดอร์นา เป็นประเทศในแอฟริกาเหนือ มีชายฝั่งบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่ระหว่างประเทศอียิปต์ไปทางตะวันออก Derna เป็นเมืองที่มีภูมิอากาศส่วนใหญ่แห้งแล้ง รายล้อมไปด้วยทะเลทราย แต่มีแม่น้ำไหลเฉพาะบางฤดูกาลไหลผ่ากลางเมือง โดยเมือง Derna มีปริมาณฝนเฉลี่ยที่ได้รับเพียง 274 มิลลิเมตรตลอดทั้งปี หรือพอๆ กับปริมาณฝนตกหนักๆ ในกรุงเทพฯ ในหนึ่งวัน ในขณะที่ปริมาณฝนเฉลี่ยของเดือนกันยายนที่เมือง Derna จะได้รับ อยู่ที่ 4 มิลลิเมตรเท่านั้น

Cr. Reuters

  • พายุ Daniel ที่ถล่มลิเบีย ก่อตัวเป็นพายุหายากประเภทที่เรียกว่า Medicane (เมดิเคน) หรือพายุที่มีลักษณะคล้ายพายุเฮอริเคนและไต้ฝุ่น เมดิเคนแดเนียลมีกำลังแรงขึ้นขณะเคลื่อนผ่านน่านน้ำที่อุ่นผิดปกติของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เกิดฝนตกหนักในลิเบีย โดยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 414 มม. ใน 24 ชั่วโมงที่อัล-เบย์ดา เมืองทางตะวันตกของเดอร์นา ถือเป็นสถิติใหม่

  • ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ทำให้เขื่อน 2 แห่ง เหนือเมือง Derna ทางภาคตะวันออกของลิเบีย ล้นจนแตก ทำให้คลื่นน้ำพัดถล่มเมืองทะเลทรายที่อยู่ท้ายน้ำ 1 ใน 4 ของเมืองถูกคลื่นน้ำท่วมซัดจนพังราบ
  • หลายคนคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมลิเบียในครั้งนี้ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ใช่หรือไม่? นักวิทยาศาสตร์เผยว่าสภาพอากาศสุดขั้ว อย่าง มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับพายุ ซึ่งอากาศที่อุ่นขึ้นสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น และก็ทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นด้วย

Cr. Reuters

  • ศาสตราจารย์ด้านอุทกวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิง เผยว่าพายุกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ฝนตกหนัก ลิเบียเขื่อนแตก ความเสียหายที่หนักขนาดนี้ยังมาจากอายุโครงสร้างพื้นฐานของลิเบีย เขื่อนที่มีอายุเก่าแก่ที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษา รวมถึงประกาศเตือนที่ไม่เพียงพอและขาดประสิทธิภาพ

  • เขื่อนทั้ง 2 แห่งของลิเบียที่พัง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ระหว่างปี 1973-1977 โดยเขื่อนเดอร์นามีความสูง 75 เมตร และจุน้ำได้ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนแห่งที่ 2 เขื่อนมันซูร์ มีความสูง 45 เมตร มีความจุ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

Cr. Reuters

  • รองนายกเทศมนตรีเมืองเดอร์นา อาห์เหม็ด มาดรูด กล่าวว่า เขื่อนทั้ง 2 แห่งที่ถูกละเลยการบำรุงรักษา ไม่มีการดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่ปี 2002 นั่นหมายถึงเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วที่เขื่อนสำคัญทั้ง 2 แห่งไม่ได้รับการเหลียวแล
  • การไม่ดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงเขื่อน ทำให้ Derna เป็นเมืองที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมได้ง่ายจากการที่เขื่อนแตก โดยอ่างเก็บน้ำในเขื่อนเคยทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงมาแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1942 โดยน้ำท่วมรุนแรงครั้งล่าสุดเกิดเมื่อปี 2011

 

ที่มา : Reuters

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :