svasdssvasds

นี่แค่เพิ่งเริ่ม! โลกร้อนสุมไฟภัยพิบัติ ยิ่งโลกร้อนภัยยิ่งหนัก

นี่แค่เพิ่งเริ่ม! โลกร้อนสุมไฟภัยพิบัติ ยิ่งโลกร้อนภัยยิ่งหนัก

นักวิชาการโลกร้อนเตือน ภัยโลกร้อนนับวันจะยิ่งสาหัสขึ้น พร้อมเผย ภัยธรรมชาติรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้เป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม เมื่อเทียบกับภัยโลกร้อนที่กำลังจะมาถึง หากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ปี 2566 ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นปีแห่งภัยพิบัติรุนแรงอีกปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังจากตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แทบทุกมุมโลกต้องพบกับสภาพอากาศแปรปรวนสุดขีด และภัยพิบัติรุนแรงชนิดที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ทั้งไฟป่าครั้งประวัติการณ์ในแคนาดา กรีซ หรือไฟป่าที่เผาทำลายทั้งเมือง Lahaina บนหมู่เกาะฮาวาย ไปจนถึงภัยจากพายุรุนแรง และน้ำท่วม ที่ล่าสุดเพิ่งทำให้เมือง Derna เมืองทะเลทรายทางภาคตะวันออกของลิเบีย เกิดเขื่อนพัง ถูกน้ำท่วมซัด จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นของหายนะโลกเดือด หากเรายังไม่เร่งจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

วิกฤตโลกเดือดเกี่ยวข้องกับอากาศแปรปรวนสุดขั้วอย่างไร

“จากรายงานของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สภาวะโลกร้อนกำลังเร่งให้ภัยพิบัติทั่วโลกมีความรุนแรงขึ้น โดยรายงานได้มีการคาดการณ์ว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และถ้าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น 2 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงภัยน้ำท่วมก็จะยิ่งทวีขึ้นเป็น 1.7 เท่า” รศ.ดร.เสรี กล่าว

สภาพอากาศแปรปรวน กำลังทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกยากขึ้น  ที่มาภาพ: รอยเตอร์

ขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า ผลกระทบโลกร้อนต่อสภาวะภัยแล้งยิ่งรุนแรงกว่าน้ำท่วม โดยหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้ความเสี่ยงภัยแล้งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และหากอุณหภูมิโลกทะยานทะลุ 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเสี่ยงภัยแล้งจะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า

รศ.ดร.เสรี อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วมากยิ่งขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น เป็นเพราะเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น จะยิ่งเร่งกระบวนการวัฏจักรของน้ำให้เร็วและเข้มข้นยิ่งขึ้น เนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้น จะทำให้อัตราการระเหยของน้ำกลายเป็นไอน้ำสูงขึ้น

ดังนั้นในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้งในฤดูแล้ง ความรุนแรงของภัยแล้งก็จะยิ่งทวีคูณ เพราะน้ำระเหยออกจากดินและสิ่งแวดล้อมไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน เมื่อถึงฤดูฝน มวลไอน้ำปริมาณเข้มข้นในชั้นบรรยากาศจะกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝนห่าใหญ่ในระยะเวลาสั้นๆ จนทำให้เกิดความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม ได้

ฝนตกหนักและน้ำท่วมกำลังจะเป็นภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นบ่อยจนชินตา  ที่มาภาพ: NationPhoto

วงจรน้ำที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยังส่งผลให้พายุเขตร้อนมีกำลังรุนแรงขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน รศ.ดร.เสรี อธิบายว่า เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น ไอน้ำปริมาณมหาศาลจากท้องทะเลอุ่น จะหล่อเลี้ยงให้พายุลูกโตขึ้น มีกำลังแรงขึ้น จนเกิดเป็นภัยพายุรุนแรงดังที่เราเห็นกันในปีนี้ ทั้งพายุไห่ขุยที่พัดถล่มฮ่องกง หรือพายุเฮอร์ริเคนไอดาเลียที่ถล่มสหรัฐ เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา

“นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น  หากเรายังเพิกเฉยต่อสถานการณ์โลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงเช่นนี้ในปีถัดๆ ไป และภัยธรรมชาติเหล่านี้ก็ยิ่งสร้างความเสียหายหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” รศ.ดร.เสรี กล่าว

 

เราจะหาทางรับมือภัยธรรมชาติจากวิกฤตโลกร้อนอย่างไร

เมื่อมองมายังภาพใกล้ รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ประเทศไทยก็จะหนีไม่พ้นเงื้อมมือวิกฤตโลกร้อนเช่นกัน โดยเขากล่าวว่า ภัยอันดับหนึ่งที่คนกรุงต้องเตรียมพร้อมรับมือนั่นก็คือภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะจากน้ำทะเลหนุน น้ำเหนือ และน้ำฝน

“หากโลกเราร้อนยิ่งขึ้นไปอีก วงจรน้ำที่เข้มข้นขึ้นจะทำให้ฝนรอบร้อยปีหรือราว 250 มิลลิเมตร/วัน ในกรุงเทพฯ เกิดถี่ขึ้น ทั้งๆ ที่ศักยภาพการรับน้ำฝนของระบบระบายน้ำกรุงเทพมหานครขณะนี้ยังสามารถรับปริมาณฝนได้เพียง 60 มิลลิเมตร นั่นจะทำให้กรุงเทพฯ ต้องเสี่ยงจมน้ำ หากเกิดฝนตกหนักเช่นนี้ขึ้นมา”  รศ.ดร.เสรี กล่าว

“นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับน้ำเหนือตามฤดูกาล จะยิ่งเป็นปัจจัยเสริม ให้การระบายน้ำของกรุงเทพฯ ยิ่งทำได้ยากขึ้น ดังนั้นในอนาคตกรุงเทพฯ จะต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมที่หนักขึ้นและเกิดถี่ขึ้น

รศ.ดร.เสรี ย้ำว่า ทางรอดหลักของโลก คือการที่ผู้นำโลกต้องจับมือกัน และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองตามสภาพความเป็นจริง เขาชี้ว่า เราไม่อาจพึ่งพิงอำนาจนำของผู้นำโลกเหล่านี้ในการแก้ปัญหาโลกร้อนได้ เพราะแต่ละประเทศต่างมุ่งเป้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประเทศตนเองเป็นหลัก

แผนที่ความเสี่ยงภัยธรรมชาติจากสภาวะโลกร้อน  ที่มา: Germanwatch

ดังนั้น รศ.ดร.เสรี จึงเสนอว่า ประเทศไทย ซี่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติสูงอันดับต้นๆ ของโลก จึงควรให้ความสำคัญกับการตั้งรับภัยโลกร้อน ด้วยการสร้างมาตรการปรับตัวให้ชุมชนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ และอยู่รอด ในสภาวะที่สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป

“ขณะนี้การมุ่งเน้นลดโลกร้อนโดยตรงเพียงอย่างเดียว อาจไม่ทันการอีกต่อไปแล้ว เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นเราจึงควรหาวิธีในการอยู่ให้รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้” รศ.ดร.เสรี กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related