svasdssvasds

EGCO Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

EGCO Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ปัจจุบันเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคน รวมถึงองค์กรต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral

งานเสวนา EGCO Group Forum 2022 Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่ได้จัดขึ้น ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ มีวิทยากรด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน รวมถึงการเงินการธนาคารมาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

EGCO Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group กล่าวหัวข้อ Carbon Neutral Roadmap "โลกมีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน ปีนี้ซีกโลกหนึ่งน้ำท่วม อีกซีกโลกแห้งแล้ง และถือว่าใกล้ตัวขึ้น ที่ทราบกันว่าพลังงนนหมุนเวียนมี 2 รูปแบบ คือ ลม และแสงแดด ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่เสถียร ไม่สามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง 24 ชม. ซึ่งการจ่ายไปที่ผลิตได้แค่ 20% หากจะให้ครบ 24 ชม. จะต้องมีอย่างน้อย 5 เท่า และมีแบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงานในช่วงกลางวันเพื่อมาจ่ายในกลางคืน"

ปีที่ผ่านมา EGCO ได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนโมเดลใหม่ ผ่านการถือหุ้น 17.46% ในเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบัน “เอเพ็กซ์” มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำลังผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 61 โครงการ กำลังผลิตรวม 20,439 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 โครงการ กำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 121 โครงการ กำลังผลิต 19,920 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะเข้าประมูลโครงการรัฐอีกกว่า 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นพลังงานแสงอาทิตย์กับแบตเตอรี่

นายเทพรัตน์ ได้กล่าวว่า “เอ็กโกมองว่าฟอสซิลจะยังอยู่ การพัฒนาแบตเตอรี่ถือว่าใช้เงินลงทุนสูงแต่สามารถเก็บไฟได้ 24 ชม. ดังนั้นการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเดียวจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของราคา จึงดูทางเลือกอื่น และที่น่าสนใจตอนนี้คือไฮโดรเจน (Hydrogen)เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลง ทรานฟอร์มจะดีที่สุด ซึ่งการใช้ไฮโดรเจน 40% ร่วมกับก๊าซธรรมชาติ จะลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาให้เปลี่ยนแก๊สธรรมชาติเป็น Hydrogen มากขี้น ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังศึกษาเช่นกัน ส่วนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หรือแม้แต่การใช้โซลาร์บนดวงจันทร์ก็เป็นสิ่งที่ดี มีความปลอดภัยและเสถียรภาพสูงสุด ซึ่งอนาคตอาจจะเข้ามาช่วยเสริมได้ดี ซึ่ง EGCO ก็ได้ศึกษาเช่นกัน” 

EGCO Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ด้านนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า "ในฐานะของผู้กำหนดทิศทางนำเสนอให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยดูในเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกด้าน เรามี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดูในภาพใหญ่ของสิ่งแวดล้อมทั้งหมด"

"ตอนนี้สิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องในทุกเรื่อง การให้ความสำคัญต้องให้ทุกด้านพร้อมๆ กัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณและเวลา ดังนั้น 4 ประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ขยะน้ำเสีย เราเคยเป็นคนปล่อยน้ำเสีย ปล่อยขยะอันดับ 5 อันดับ 6 ของโลก ในเรื่องขยะบก ขยะทะเล ถัดมา คือ การดูแลในเรื่องของ PM2.5 และเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราพยายามทำให้ประเทศเป็นส่วนหนึ่งไม่ให้อุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม"

นายจิรวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า “ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ของโลก แต่ได้รับผลกระทบอันดับ 9 ของโลก ขณะที่ เมียนมาอันดับ 2 และ ฟิลิปปินส์อันดับ 4 ของโลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติทั้งหลายมาจากรอบข้างและตัวเราเอง น่ากลัวและรุนแรงกว่าที่คิด เป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามา แต่เราอาจจะไม่กระทบมากนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกหลานเราในอนาคตจะได้รับ”

"ทั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนจาก "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" มาเป็น "กรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เพื่อรับผิดชอบงานส่วนนี้โดยตรง เตรียมการรองรับ Carbon Price , Carbon credit และ Carbon market ในการทำระยะยาว เราพิจารณาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ปรับตัว การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ต้นทุน เวลาแต่ด้วยความเป็นจริง พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่สีเขียว ทำให้เต็มที่ก็ได้แค่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า"

"ในปี 2030 เราคาดว่าจะปล่อย 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แม้ปรับตัวอย่างไร แต่การบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ค่อนข้างยาก เป็นเหตุผลว่าเราอาจจะใช้เทคโนโลยีราคาแพงเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน สุดท้าย อาจจะเป็นไฮโดรเจน CCS หรือ CCUS เข้ามาช่วย"

EGCO Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ผู้ อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ผลักดันและเดินหน้าพัฒนาระบบ "ตลาดคาร์บอน" ดึงท้องถิ่น 76 จังหวัด ร่วมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด ตั้งเป้าไปสู่ Net zero ระดับจังหวัด

"อบก. เป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ ในเชิงบวก โดยต้องเริ่มจากการวัดการปล่อยในทุกภาคส่วน ข้อมูลในปี 2018 พบว่า ประเทศไทยปล่อยคาร์บอน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปลดปล่อยใน "ภาคพลังงาน" มากที่สุด ถัดมา คือ ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม"

"ขณะที่มีการจัดเก็บอยู่ที่ 86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป้าหมายของไทยในปี 2050 จะดูที่คาร์บอนไดออกไซด์ว่าจะสมดุลหรือไม่และต้องลดลงมาให้เท่ากับภาคป่าไม้ที่จัดเก็บ โดยประเมินศักยภาพแล้ว ในภาคเกษตรและป่า สามารถจัดเก็บได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า"

"การประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนจะไปสู่จุดสูงสุดในปี 2025 และจะค่อยๆ ลดลงหากมาตรการต่างๆ สัมฤทธิ์ผล จนปี 2050 การปล่อยจะสมดุลกับการเก็บ ซึ่งอาจจะต้องมีตัวช่วย  คือ เทคโนโลยี ที่ทำให้การปล่อยถูกจำกัดลงด้วยระบบ CCS หรือระบบ CCUS"

นอกจากนี้นายเกียรติชาย กล่าวต่อว่า ภาคที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด คือ ภาคพลังงานไฟฟ้า หากจะทำให้สำเร็จจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และในภาคการขนส่งต้องเอา EV เข้ามา 70% รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เศรษฐกิจหมนุเวียน จะต้องเข้ามาแน่ ด้วยทำทั้งหมดแล้วอาจจะไม่รอด ต้องมี CCS และ CCUS ด้วย

รวมถึงต้องมีมาตรการ เช่น ในต่างประเทศ มี Carbon Pricing Instrument ผู้ปล่อยต้องจ่ายหรือรับผิดชอบกับการปล่อยของตนเอง โดยประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้โดยตรง แต่อยู่ระหว่างทำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกรมใหม่เข้ามารองรับ และหลังจากนี้จะมีเรื่องของหลักการเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบัน มีภาษีคาร์บอนในหลายประเทศ

"สำหรับในประเทศไทยเอง หน่วยงานที่จะดูแลเรื่องของ “ภาษีคาร์บอน” ก็คือกรมใหม่ และของโลกจะมีของแต่ละประเทศกำกับ เช่น อียู ประกาศตัวเป็น Net zero ในปี 2050 โดยกำหนดธุรกิจบางธุรกิจ เช่น ไฟฟ้า กำหนดอัตรากรปล่อยคาร์บอนไว้ว่าแต่ละธุรกิจจะปล่อยเท่าไหร่ หากปล่อยเกินจะถูกค่าปรับ 100 – 150 ยูโร และลดอัตราการให้ปล่อยลงเรื่อยๆ และอนุญาตให้คนที่ปล่อยน้อยแลกเปลี่ยนกันได้ และหลายประเทศออกเป็นกฎหมาย ในหลายรัฐในสหรัฐ ก็ออกกำหนดแบบนี้"

"เรื่องของ Carbon Tax เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินจะเจอภาษีต่อตัน คนที่ปล่อยเยอะก็จ่ายเยอะ คนที่ไม่ปล่อยก็จะไม่เก็บ ด้วยระบบแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไทยยังไม่มี จึงเกิด CBAM ซึ่ง EU มองว่าไม่แฟร์ที่ประเทศอื่นไม่มีการกำหนดนโยบาย Carbon Pricing จะส่งสินค้ามาขายในประเทศ ในขณะที่ภายในประเทศต้องจ่าย ดังนั้น ระบบ CBAM จึงจะเริ่มในปีหน้า มาตรการแบบนี้บังคับเราทางอ้อม ขณะเดียวกัน EU ยังมีการกำหนดการคำนวณ Carbon Footprint ด้วยว่าสินค้าแต่ละชิ้นมีการปล่อยเท่าไหร่ และเริ่มมีการกำหนดว่าหากเป็นสินค้าที่มี Carbon Footprint สูงจะไม่ซื้อ"

"สิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก คือ Nature-based Solution โดยปกติแนวทางการส่งเสริมเรื่องนี้ยากมากเพราะเป็นการลงทุนที่ยาวนาน เราจึงมองว่าวิธีหนึ่ง คือ การให้เครดิต หากทำโครงการสีเขียวจะได้เครดิต ดังนั้น พื้นที่สีเขียวจึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ภาครัฐอยากจะส่งเสริม จึงพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิต จากภาคป่า มาเป็นส่วนเสริม รวมถึง เรื่องของพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะทำให้ประเทศแข่งขันได้"

นายเกียรติชาย กล่าวว่า "คาร์บอนเครดิต จะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญ ให้ประเทศเปลี่ยนผ่านโดยใช้หลักของการส่งเสริมให้คนที่ทำโครงการดีๆ ทำให้มาก เป็นแนวการส่งเสริมที่ อบก. อยากให้เกิด โดยพยายามทำมาตรฐานการวัด และให้ทุกคนวัดว่าตนเอง Net zero หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ซื้อเครดิตและพยายามอย่าปล่อย หากปล่อยจะต้องจ่ายบางอย่าง เอากลไกด้านเศรษฐศาสตร์มาช่วยให้ทุกคนขับเคลื่อนไปสู่การทำโปรเจกต์ดีๆ

ปัจุจบันมีการจัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) ในปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีสมาชิกกว่า 300 องค์กร ในการวางเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนราว 48 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้รับงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อวัดในระดับจังหวัด 76 จังหวัด ที่จะร่วมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และตั้งเป้าไปสู่ Net zero ระดับจังหวัด"

"จะเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาสู่วงที่มีการประเมินตัวเอง องค์กรก็ต้องมีการประเมินคาร์บอนฟรุตพรินต์ขององค์กร พอเริ่มแบบนี้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดนโยบายก็จะสามารถ Benchmark ได้ ขณะเดียวกัน คาร์บอนเครดิตจะเป็นตัวช่วย"

"อย่างไรก็ตาม ต้องมีระบบตลาด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ อบก. กำลังสร้าง คือ แพลตฟอร์ม ที่นำประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มาชดเชย ผู้ที่ปล่อย เพื่อลดภาระของ Carbon pricing ต่างๆ เรากำลังสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้น" นายเกียรติชาย กล่าว

EGCO Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทางด้านธนาคาร นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ธนาคารได้ตระหนักและนำมาสู่กลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปสู่ภาคธุรกิจที่จะลงทุนในโครงการที่เป็นกรีน ถือเป็นเป้าหมาย บทบาทและความรับผิดชอบ ซึ่งจากการคาดการณ์พบว่า ตั้งแต่ปี 2022-2050 จะมีความต้องการลงทุนพลังงานสะอาด ทั้งภาคขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรม และการเกษตร เป็นต้น โดยเม็ดเงินสนับสนุนปีละราว 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่รวมเม็ดเงินลงทุน ดังนั้นกรุงศรีฯ จะช่วยผลัดเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero"

"นอกจากนี้ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดเป็นเรื่องใหญ่ ประเทศไทยกำลังจัดกลุ่มประเภทธุรกิจ ทั้งสีเขียว ส้ม แดง พลังงานอาจอยู่ในระดับเหลืองถึงส้ม ดังนั้นกลุ่มธุรกิจจะต้องเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน จากฟอสซิลฟิลไปสู่พลังงานทดแทน ซึ่งในอนาคตจะต้องเพิ่มถึง 50% จาก 20% ดังนั้น จะเป็นเกณฑ์สำคัญของธนาคารว่าจะให้เงินทุนไปสู่กิจกรรมโครงการต่าง ๆ เช่นกัน"

นายพูนสิทธิ์ ยังกล่าวต่อไปว่า "ปัจจุบันกรุงศรีฯ มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลายหลาย อาทิ กรีนโลน, กรีน บอน โดยเงินที่จะกู้จะถูกนำไปลงในโครงการที่ส่งเสริม สร้างผลเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมหรือโครงการกึ่งการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาในภาคสังคม และยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินพิเศษ เช่น ไม่ต้องใช้เงินเพื่อกรีน แต่ธนาคารจะปล่อยเงินให้จะต้องมี KPI ที่ดี ถือว่ายืดหยุ่นที่สุด จะเชื่อมโยงกับนโยบายเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาล เป็นต้น"

"ธนาคารถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้า ปีที่ผ่านมา กรุงศรีฯ ได้ตั้งเป้ากระบวนการดำเนินการของจากการวัดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ การใช้น้ำมัน ใช้ไฟฟ้า และได้ประกาศเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอนหลังจากรัฐบาล โดยปี 2030 และ Net Zero ปี 2050 ดังนั้น ปี 2030 จะลดสินเชื้อธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเป็นศูนย์ปี 2050 อีกทั้ง ยังวางวงเงินปล่อนสินเชื่อธุรกิจส่งเสริมสังคม สิ่งแวดล้อมไว้ที่ 5 หมื่นล้าน - 1 แสนล้านบาท"