svasdssvasds

น้ำมันรั่วทำปะการังเป็นหมัน เตือนน้ำมันรั่วก่อผลกระทบระยะยาวสิ่งแวดล้อม

น้ำมันรั่วทำปะการังเป็นหมัน เตือนน้ำมันรั่วก่อผลกระทบระยะยาวสิ่งแวดล้อม

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำเผย แม้ตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากเหตุน้ำมันรั่วที่ชลบุรี แต่มีผลวิจัยชี้ชัดว่ามลพิษน้ำมันรั่วทำให้ปะการังเป็นหมัน จึงต้องติดตามผลกระทบน้ำมันรั่วระยะยาว

เหตุน้ำมันรั่วที่ชลบุรี ถือเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุดที่ทะเลอ่าวไทยตอนในต้องประสบ หลังจากเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำมันดิบกว่า 60 ตัน หรือ 60,000 ลิตร รั่วไหลลงทะเลบริเวณทางตอนใต้ของเกาะสีชัง จากอุบัติเหตุขณะขนถ่ายน้ำมันดิบจากทุ่นกลางทะเลของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

ภายหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเบื้องต้น พบว่ายังไม่พบผลกระทบที่เห็นชัดต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคราบน้ำมันได้ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว 

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผลกระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการังในอดีตที่ จ.ระยอง พบว่า การรั่วไหลของน้ำมันดิบลงทะเลสามารถส่งผลต่อนิเวศแนวปะการังบริเวณข้างเคียง ทำให้ปะการังเป็นหมันได้

น้ำมันรั่วทำปะการังเป็นหมัน เตือนน้ำมันรั่วก่อผลกระทบระยะยาวสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาในอดีตและในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่าน้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมันสามารถทำให้ปะการังเป็นหมัน

โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมัน

“แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่ก็สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100%  ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวอย่างไรต่อสัตว์ทะเล” ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  เผยว่า เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลตั้งอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาว  จึงต้องมีการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร เพราะทั้งเกาะค้างคาวและเกาะสีชังห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น 

น้ำมันรั่วทำปะการังเป็นหมัน เตือนน้ำมันรั่วก่อผลกระทบระยะยาวสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ทางทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ กำลังดำเนินการเก็บตัวอย่างและสำรวจอย่างละเอียดโดยจะใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและดิน ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กลุ่มคราบน้ำมัน เพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่วและสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spil Dispersant) ต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป

“สำหรับในครั้งนี้  ทางทีมวิจัยจะติดตามศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ศ.ดร.วรณพ กล่าว

related