svasdssvasds

นักวิชาการห่วง มลพิษน้ำมันรั่วภูเก็ตปนเปื้อนระบบนิเวศ

นักวิชาการห่วง มลพิษน้ำมันรั่วภูเก็ตปนเปื้อนระบบนิเวศ

นักวิชาการชี้ คราบน้ำมันลอยขึ้นฝั่งที่ ภูเก็ต พังงา ยังไม่ใช่ปริมาณน้ำมันทั้งหมดที่ถูกปล่อยลงทะเล เตือนยังมีน้ำมันอีกจำนวนมากนอนก้นใต้สมุทร เสี่ยงปนเปื้อนในสัตว์น้ำสู่มนุษย์

สืบเนื่องจากเหตุมีเรือลักลอบปล่อยน้ำมันลงทะเล จนทำให้มีคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันจำนวนมาก ลอยมาติดชายฝั่งทั้งใน จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นเหตุให้มีเต่าทะเลมากกว่า 12 ตัวเกยตื้น และสร้างความเสียหายให้กับการท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัด

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวอธิบายว่า ช่วงนี้จะเห็นคราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันขึ้นบนหาดไม้ขาว หาดในทอน หาดในยาง หาดลายัน จ.ภูเก็ต จำนวนมาก ซึ่งเรียกว่า Tar Ball ก่อให้เกิดคราบสกปรกปนเปื้อนชายหาด

“Tar Ball เหล่านี้ ชาวบ้านเรียกว่า ก้อนน้ำมันขี้โล้ มีลักษณะเป็นก้อนเหนียวๆ หนืดๆ สีดำคล้ายยางมะตอยพบได้ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดจนถึงก้อนขนาดใหญ่ 10 ซม. ซึ่งก้อนน้ำมันดินเหล่านี้เกิดจากการแปรสภาพตามธรรมชาติของน้ำมันหรือคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจากกิจกรรมต่างๆ ในทะเล เช่น อุบัติเหตุจากเรือ แท่นผลิตน้ำมัน การรั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันในทะเล การขนถ่ายหรือการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของเรือประมงหรือเรือเดินสมุทร เป็นต้น ซึ่งรวมถึงการรั่วไหลโดยธรรมชาติของแหล่งน้ำมันดิบใต้ท้องทะเล” สนธิ กล่าว

“เมื่อน้ำมันเหล่านี้กระจายตัวอยู่บนผิวน้ำทะเลและจะถูกแสงแดดเผาจนสารประกอบไฮโดรคาร์บอนส่วนเบาจะระเหยออกไป จนเหลือแต่ส่วนที่เป็นสารไฮโดรคาร์บอนหนักที่คล้ายยางมะตอยและถูกคลื่นซัดไปมาจนเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิน เมื่อสะสมหนักมากขึ้นก็จะจมตัวลงในทะเล และถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยบนชายหาด”

ก้อนน้ำมันที่ถูกซัดมาขึ้นที่หาดบนเกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต  ที่มาภาพ: Priyanut Sangiamkul

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สนธิ กล่าวว่า ดังนั้นจึงยังน่าจะมีก้อนน้ำมันอีกจำนวนมากจมอยู่ใต้พื้นทะเล ซึ่งถ้าสัตว์น้ำกินเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เพราะในน้ำมันเหล่านี้จะมีสารโลหะหนักอันตราย รวมถึงสารปรอท ซึ่งถ้าหากสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้หลุดรอดมาสู่มนุษย์ ผู้ที่กินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไปก็จะได้รับสารพิษจากน้ำมันเข้าไปด้วย

ที่น่ากลัวคือสารปรอทที่สามารถสะสมในร่างกายได้ เมื่อสารปรอทสะสมในร่างกายจนถึงขีดอันตราย จะทำให้เกิดรคมินามาตะ เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ดังนั้น เขาจังเรียกร้องให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกสำรวจการปนเปื้อนน้ำมันใต้สมุทร ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหารทะเลในพื้นที่ได้ และควรมีการเฝ้าระวังสัตว์ทะเลในพื้นที่ โดยมีการส่มตรวจอาหารทะเลว่ามีสารโลหะหนักและสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณสูงหรือไม่

นกทะเลโดนคราบน้ำมันที่ภูเก็ต  ที่มาภาพ: ขยะมรสุม

อนึ่ง สนธิ กล่าวว่า ก้อนน้ำมันดินฝั่งอ่าวไทยจะพบมากในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (เดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์) ส่วนฝั่งทะเลอันดามันและทะเลทางด้านตะวันออกเช่น ระยอง ชลบุรี จะพบในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (เดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพในพื้นที่ท่องเที่ยวบริเวณชายหาด เมื่อพบเห็นก้อนน้ำมันดินจะต้องไม่สัมผัสโดยตรงเพราะอาจเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้

เขากล่าวว่า การวิเคราะห์หาต้นทางของแหล่งที่มาว่าเป็นน้ำมันชนิดใดมาจากไหนจะใช้การพิสูจน์อัตลักษณ์เฉพาะของชนิดน้ำมันทางเคมีเรียกว่า Chromatogram หรือ Fingerprint ซึ่งจะมีความเฉพาะในน้ำมันแต่ละชนิด โดยนำก้อนน้ำมันไปวิเคราะห์หาองค์ประกอบด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและแปลผลโดยผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งต้องมีฐานข้อมูลชนิดของน้ำมันทุกชนิด เพื่อเปรียบเทียบว่าก้อนน้ำมันที่เกิดขึ้นเป็นน้ำมันชนิดใด เพื่อสืบหาแหล่งต้นตอต่อไป

related